แฉบอร์ด รฟม.สุมหัวบีบรักษาการผู้ว่าฯไขก๊อก

กระทู้ข่าว
แฉบอร์ด รฟม.สุมหัวบีบรักษาการผู้ว่า รฟม.ไขก๊อกพ้นตำแหน่ง หวังรวบรัดแต่งตั้งผู้ว่าการคนใหม่ ทั้งที่มีชนักติดหลังอื้อ เหตุเจอ สตง.ย้อนรอยเอื้อประโยชน์รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทำรัฐเสียหายจนถูกสอบวินัย แถมยังถูกผู้บริหาร รฟม.ขวางลำประเคนรถไฟฟ้าให้ยักษ์ใหญ่ ช.การช่าง

แหล่งข่าวระดับสูงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ยอดยุทธ์ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เรียกประชุมบอร์ดวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาปัญหาการแต่งตั้ง นายพีระยุทธ์ สิงห์พัฒนากุล ว่าที่ผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง จนทำให้ไม่สามารถจะลาออกไปรับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ได้ โดยบอร์ด รฟม.เห็นว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังและมองว่านายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่า รฟม.อยู่เบื้องหลัง จึงมีความพยายามจะให้มีการปรับเปลี่ยนและโยกย้ายนายรณชิตไปเป็นที่ปรึกษา รฟม.แทน

อย่างไรก็ตาม กรรมการ รฟม.บางส่วนเห็นว่า การที่นายรณชิตสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบวินัยนายพีระยุทธ์นั้น เป็นอำนาจที่ทำได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือแจ้งมายัง รฟม.ถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งพบว่า มีการแก้ไขสัญญาก่อสร้างที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน จนทำให้รัฐเสียหายไปกว่า 290 ล้านบาท และหาก รฟม.ไม่ได้ดำเนินการอย่างหนี่งอย่างใด อาจถูกมองว่ามีส่วนร่วมปกปิดการกระทำผิด การจะปลดนายรณชิต เพื่อเปิดทางให้แต่งตั้งผู้ว่าการ รฟม.ที่ถูกสอบวินัยร้ายแรงอยู่อาจทำให้บอร์ด รฟม.อาจถูกฟ้องกราวรูดตามมาได้อีก

แหล่งข่าวเผยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจะให้นายรณชิตลาออกจากตำแหน่ง เพื่อลงสมัครเป็นผู้ว่าการ รฟม.โดยอ้างว่าเป็นไปตามประกาศเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัครที่เข้ารับการสรรหา ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว แต่เบื้องหลังนั้นเป็นไปเพื่อที่บอร์ดจะได้แต่งตั้งกรรมการเข้ามาทำหน้าที่รักษาการและปรับเปลี่ยนคณะกรรมการตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 เพื่อที่จะให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวดำเนินการเจรจากับบริษัท บีเอ็มซีแอล ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินเดิม ให้เดินรถต่อเนื่องในส่วนของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ส่วนขยาย โดยอ้างว่าเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้เดินรถไฟฟ้าต่อเนื่อง แต่แท้จริงแล้วเป็นการประเคนผลประโยชน์ออกไปให้เอกชนกลุ่มทุนเดิมผูกขาดรถไฟฟ้าทั้งระบบ

"ก่อนหน้านี้ รฟม.เองได้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วงแก่บริษัทบีเอ็มซีแอล ในเครือ ช.การช่างไปแล้ว ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นการทิ้งทวนทางการเมืองของรัฐบาลชุดที่แล้ว เนื่องจากไม่มีการประมูลและค่าจ้างในการให้เอกชนรายดังกล่าวบริหารโครงการนั้นสูงมาก จนทำให้รัฐเสียประโยชน์ แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะขอผนวกโครงข่ายรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายพ่วงไปให้อีก ทั้งที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมนั้นต้องการให้รัฐคือ รฟม.ดำเนินการเอง ทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการเดินรถ ซึ่ง รฟม.อาจเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามารับจ้างบริหารได้ โดยไม่จำเป็นต้องประเคนสัมปทานไปให้เอกชนผูกขาดอีก จุดยืนดังกล่าวจึงทำให้นายรณชิตถูกบอร์ด รฟม.ตั้งแง่และพยายามกำจัดให้พ้นทางมาโดยตลอด โดยอ้างว่าไม่สนองนโยบายบอร์ด รฟม.และกระทรวงคมนาคม”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่