เหมืองโปแตช สร้างรายได้สูง 200ล้านล้าน ทำไมรัฐไม่ตั้งกองทุนหรือตั้งรัฐวิสากิจแล้วนำมาระดมทุนในตลาดแบบปตท ทำเอง

กระทู้สนทนา
ต้องรอลุ้นในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้ว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด(มหาชน) ที่ค้างคามานาน จากการไม่เห็นด้วยของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะฟังจากนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว บอกว่าจะเร่งออกใบประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช พื้นที่กว่า 9 พันไร่ ที่ค้างให้เสร็จสิ้น เพื่อนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
หากเป็นจริงขึ้นมาได้ หมายถึงว่าประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ผลิตแร่โปแตชรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากแคนาดา เพราะสามารถขุดขึ้นมาใช้มากถึง 30% ของปริมาณแร่ที่มีอยู่ สามารถสร้างรายได้ให้ได้กับประเทศได้ถึง 200 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศเพียงปีละ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล ที่ไม่มีใครกล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมาว่าประเทศไทยมีขุมทรัพย์มากมายขนาดนี้ แต่ยังไม่มีการขุดขึ้นมาสร้างมูลค่า
ที่สำคัญแร่โปแตชที่ขุดได้นี้ เมื่อมาผ่านโรงแต่งแร่ได้ จะได้เป็นปุ๋ยโปแตชขึ้นมา ซึ่งถือเป็นแร่ธาตุอาหารสำคัญตัวหนึ่งของพืช ที่จะช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าได้ และจะช่วยให้ราคาปุ๋ยในประเทศปรับตัวลดลงได้ 1 ใน 3 ของราคาที่ขายอยู่ในปัจจุบัน มีผลการศึกษาของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน พบว่า มีปริมาณแร่โปแตชอยู่ประมาณ 320 ล้านตัน ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจของประเทศได้จำนวนมาก หากคิดค่าภาคหลวงที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐ จะตกปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท ภาษี 1.3 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1 พันคน และยังไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ อีก ทดแทนการนำเข้าได้ 7-9 พันล้านบาทต่อปี
ส่วนที่เกรงกันว่าหากแร่ที่ผ่านโรงแต่งแร่แล้ว จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับการยื่นยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า มีการเตรียมพื้นที่ไว้ 2.5 พันไร่ สำหรับไว้กองหางแร่ที่มีการป้องกันอย่างถูกหลักวิธี พร้อมทำแนวกันชน เมื่อได้ปริมาณหางแร่ระดับหนึ่ง จะมีการนำหางแร่นี้กลับไปถมในพื้นแร่เดิมที่ขุดขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วโลกที่ทำกันมา จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกย้ำนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะผลักดันเรื่องนี้อีกก็ว่าได้ ภายหลังจากที่ได้หารือกับนายส้าง หงหลิน อธิบดีกรมธรณีวิทยาทางเคมีและการเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มาติดตามการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย ซึ่งได้ทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช จำนวน 16 แปลง ครองคลุมพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่ คาดจะมีปริมาณสำรองแร่ประมาณ 130 ล้านตัน ให้กับ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช ตอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ของจีน จำนวน 12 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 1.2 แสนไร่ ใน จังหวัดสกลนคร คาดว่าจะมีแหล่งแร่โปแตช ประมาณ 100 ล้านตัน และ บริษัท โรงปัง จำกัด มี 4 แปลง พื้นที่ 2 หมื่นไร่ จังหวัดนครราชสีมา คาดว่ามีแหล่งแร่ประมาณ 30 ล้านตัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
Photo credit by : isranews.org

ขอบคุณข้อมูลจาก  : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่