รมว.อุตฯ ลงพื้นที่เหมืองโพแทช จ.ชัยภูมิ ย้ำปลอดภัย 100% เชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ ลดการนำเข้าปุ๋ย

กระทู้ข่าว
รมว.อุตฯ ลงพื้นที่เหมืองโพแทช จ.ชัยภูมิ ย้ำปลอดภัย 100%

เชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ ลดการนำเข้าปุ๋ย ประหยัดงบประมาณชาติ




นายจักรมณฑ์  ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ว่า ภายหลังจากที่ได้
ลงนามอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชให้แก่บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 และบริษัทฯ ได้รับประทานบัตรจากอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิในฐานะ
เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เรียบร้อยแล้ว วันนี้จึงได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการด้วยตนเอง

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน เป็นโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2532 ร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 20 โดยบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน)  ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ ครอบคลุมพื้นที่ ๙,๗๐0 ไร่  ซึ่งอยู่ในพื้นที่   ตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ  โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ        ได้ดำเนินการเจาะสำรวจจำนวน 100 หลุมเจาะ พบว่า มีปริมาณสำรองแร่โพแทชทางธรณีวิทยาประมาณ 43๐  ล้านตัน และได้ทดลองทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินในฐานะตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๓ โดยได้ก่อสร้างอุโมงค์ในแนวเอียงขนาด ๖ x ๓ เมตร ยาว ๙๓๕ เมตร  เข้าสู่ระดับความลึก ๑๘๐ เมตรจากผิวดิน และอุโมงค์หลักเข้าหาชั้นแร่ รวมทั้งได้ทดลองพัฒนาการทำเหมืองแร่โพแทชแบบห้องสลับกำแพงค้ำยันจำนวน 3 ห้อง โดยแต่ละห้องมีขนาดกว้าง  ๑๕ เมตร ยาว ๖๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร  บริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตโพแทชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) กำลังการผลิต ๑.๑ ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี  รวมปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ที่จะผลิต 17.33 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 จะลงทุนซ่อมแซมอุโมงค์แนวเอียง 100 ล้านบาท  ปี 2559 ลงทุนก่อสร้างอุโมงค์แนวดิ่งจำนวน 2 อุโมงค์ 4,500 ล้านบาท  ปี 2560-2561 พัฒนาหน้าเหมืองและก่อสร้างโรงแต่งแร่ 35,400 ล้านบาท และจะสามารถผลิต     ปุ๋ยโพแทชได้ในปี 2562  จากการทำเหมืองทดลองที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ว่า วิธีการทำเหมืองมีความปลอดภัยและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียนจะทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ และ
ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทช ประมาณ 700,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท
ต่อปี  โดยปุ๋ยโพแทชที่ได้จะต้องขายภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพดี  ในราคาที่ถูกลง  รวมทั้งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง    ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณร้อยละ 20-30  และค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7  โดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินร้อยละ 40 และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 60  รวมทั้ง รัฐบาลจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษประมาณ 3,700 ล้านบาท

นายสุรพงษ์  เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการเรียกประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อตกลงกำหนด  ตัวบุคคลผู้มีสิทธิตรวจสอบ  ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินแบบมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยมีกองทุนให้ผู้มีสิทธิตรวจสอบใช้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา และบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จะนำเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ดังนี้  กองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำเหมืองปีละ 1 ล้านบาท  กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 45 ล้านบาท  กองทุนประกันภัยความเสี่ยง 50 ล้านบาท  กองทุนฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง 600  ล้านบาท  กองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 300 ล้านบาท  และกองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยด้านโพแทช 60 ล้านบาท     โดยกองทุนทั้งหมดดังกล่าวจะมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมบริหารจัดการกองทุนด้วย



-----------------------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่