VoiceTV: ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 6% 3 ปีรวด เหนือกว่าไทย, อุตสาหกรรมการผลิตในไทย ติดลบยืดเยื้อ ภาคส่งออกโต 0%


กรุงมะนิลา, ประเทศฟิลิปปินส์

บลูมเบิร์กเปรียบเทียบไทย-ฟิลิปปินส์ พบแดนตากาล็อกขยายตัวเหนือกว่าไทย เศรษฐกิจทะยานเกิน 6% สามปีรวด ขณะอุตสาหกรรมการผลิตในแดนยิ้มสยามติดลบยืดเยื้อ ภาคส่งออกโต 0%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจ อาร์เซนีโอ บาลิซากัน ประกาศว่า ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ ‘คนป่วยของเอเชีย’ อีกต่อไปแล้ว

อัตราเติบโต: ใครรุ่ง ใครร่วง

เขาบอกว่า ในไตรมาสหลังสุด เศรษฐกิจเทียบกับปีก่อนหน้านับว่าขยายตัวดีเกินคาดที่ 6.9% ผลักดันให้อัตราเติบโตลอยลำเหนือ 6% ติดต่อกันเป็นปีที่สาม

ประเทศไทยที่เคยเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีจีดีพีตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากระดับประมาณ 6.5% เมื่อปี 2555 เหลือประมาณ 1% ในปี 2557

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อปี 2549 ฟิลิปปินส์กับไทยมีอัตราเติบโตใกล้เคียงกัน ที่ประมาณ 5% ทว่านับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงเพราะรัฐประหาร น้ำท่วมใหญ่ และความไม่แน่นอนทางการเมือง



ภาคการผลิต: ใครเฟื่อง ใครฟุบ

เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศกำลังไหลเข้าฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะขีดความสามารถในการผลิตของไทยตกต่ำต่อเนื่องในช่วงปีหลังๆเพราะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554, เงินลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาลดลง และเทคโนโลยีล้าสมัย โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์

ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตามดัชนีของ World Economic Forum ลดสถานะจากอันดับที่ 33 ของโลกเมื่อปี 2550 ลงมาอยู่ที่อันดับ 67 ในปี 2557 ขณะฟิลิปปินส์ไต่อันดับขึ้น



ส่งออก: ใครเติบโต ใครตกต่ำ

ฟิลิปปินส์ส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องนุ่งห่ม ในปีที่แล้วมีอัตราเติบโต 12%

ตรงกันข้าม อัตราการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา ตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่สอง นับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาอย่างน้อยสองทศวรรษที่ภาคส่งออกย่ำแย่ถึงเพียงนี้ ขณะบรรดานักลงทุนมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆที่การเมืองมีเสถียรภาพมากกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย



ภาคการบริโภค: ใครเทน้ำเทท่า ใครตกน้ำตกท่า

ในฟิลิปปินส์ เงินค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้น บวกกับเงินส่งกลับจากแรงงานที่ไปหากินต่างแดน ช่วยเพิ่มการบริโภคภายใน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตต่อไปได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแบบลุ่มๆดอนๆ

ในประเทศไทย การใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอลง บวกกับความวุ่นวายทางการเมืองไม่รู้จบ ทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยอย่างกระเหม็ดกระแหม่



ที่มา - Bloomberg ผ่าน VoiceTV 21
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่