Li-Fi เสียดาย!! เทคโนโลยีที่คนไทยไม่ได้ทำ

เนื่องจากได้อ่านบทความของ ของคุณทีปกร วุฒิพิทยามงคล ในนิตยสาร Salmon.Giraffe Issue 4 เลยอยากเอามาแชร์ครับ
                                      
                                                                    

              "ทุกวันนี้เวลานั่งทำงานตามร้านกาแฟ ก่อนจะมีอันได้หย่อนแก้มก้นลงบนเบาะหรือเก้าอี้ หลายคนคงต้องถามพนักงานของร้านก่อนเสมอว่าที่นี้มี Wi-Fi ให้ใช้ไหม แต่ต่อไปในอนาคตสิ่งที่เราขออาจจะไม่ใช่พาสเวิร์ด Wi-Fi อีกแล้วแต่เป็น Li-Fi!

               เจ้า Li-Fi นี้คืออะไร?

               ในปัจจุบัน สัญญาณ Wi-Fi ที่เราใช้กันอยู่นั้นใช้คลื่นวิทยุในการส่งข้อมูลซึ่งมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นเรื่องความเร็วในการรับ-ส่งที่ทำได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้นหรือปัญหาการแย่งชิงใช้สปกตรัมของคลื่นสัญญาณจนจวนจะเต็ม อีกทั้งยังใช้ไม่ได้บางสถานที่ เช่นเครื่องบิน หรือโรงพยาบาล ตอนนี้จึงเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกขึ้นมา เทคโนโลยีใหม่อันหนึ่งเลือกที่จะใช้คลื่นแสงที่เรามองเห็นได้ (Visible Light Communication: VLC) ส่งข้อมูลแทนคลื่นวิทยุ เทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ Li-Fi นั่นเอง

            เทคโนโลยี Li-Fi ทำงานโดยใช้หลอดไฟแบบ LED ในการส่งสัญญาณข้อมูล โดยหลอดไฟสีต่างๆ จะกะพริบปิด-เปิดอย่างรวดเร็วในระดับเสี้ยววินาที (Nanosecond) เพื่อส่งสัญญาณ 1 และ 0 ไปยัง Photodiode ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณ หากยังนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงการส่งรหัสมอสโดยใช้แสงไฟติดๆดับๆ ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากๆ  จนมนุษย์ไม่อาจรับรู้หรือประมวลผลได้(แต่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้)

           การใช้คลื่นแสงแทนคลื่นวิทยุในการส่งสัญญาณมีข้อดีอยู่หลายประการ ข้อดีข้อแรกคือเร็วกว่าสัญญาณ Wi-Fi ในการทดสอบครั้งหนึ่งพบว่าสัญญาณ Li-Fi รับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 4 กิกะบิตต่อวินาทีและมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงกว่านั้น (เทียบกับ Wi-Fi ที่ดีที่สุดตอนนี้ มาตรฐาน 802.11ac ที่ทำความเร็วได้ 1 กิกะบิตต่อวินาที) ข้อดีข้อที่สองคือ สัญญาณ Li-Fi สามารถใช้ในสถานที่ที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ควรเข้าไปรบกวน

           ข้อดีข้อที่สามคือ เนื่องจากสัญญาณ Li-Fi ใช้แสงในการรับส่งข้อมูล ดังนั้นแฮกเกอร์จะไม่สามารถ ‘ดักจับ’ คลื่นได้จากนอกอาคารและบริเวณที่แสงส่องไม่ถึง ไม่เหมือนคลื่น Wi-Fi ที่รับข้อมูลได้จากนอกอาคาร Li-Fi จีงมี ‘ความปลอดภัย’ เหนือกว่า Wi-Fi ในบางด้าน

           ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Li-Fi บอกว่าจริงๆแล้ว Li-Fi ไม่ได้ต้องการที่จะมาแทนที่Wi-Fi เป็นเพียงทางเลือก นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีเดิมที่มีข้อจำกัดบางประการเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้งาน Li-Fi ได้จริงภายใน 5 ปี พวกเขาประเมินว่าในอนาคตภายใน 25 ปีข้างหน้าหลอดไฟตามอาคารบ้านเรือนทุกหลอดจะมีหน่วยประเมินผลเทียบเท่ากับโทรศัพท์มือถือฝังอยู่ภายใน และหลอดไฟแต่ละหลอดจะทำหน้าที่มากกว่าแค่เพียงการส่องแสงธรรมดาๆอย่างแน่นอน"

                                      

ดูข้อมูลเพิ่มเติ่มในคลิปของเว็บไซด์นี้นะครับ
http://www.ted.com/talks/harald_haas_wireless_data_from_every_light_bulb
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่