เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษี

กระทู้สนทนา
เข้าเดือนมกราคมแล้วนะครับ ผู้ที่มีรายได้ทั้งหลายต้องเริ่มเตรียมตัวยื่นแบบภาษีกันได้แล้ว สำหรับปีนี้ สรรพากรเปิดให้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91) ในปีพ.ศ.2557 ได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 2558 หรือได้ถึง 8 เม.ย.2558 ถ้ายื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก่อนยื่น ควรเช็คก่อนว่าได้เตรียมข้อมูล/เอกสารต่างๆ พร้อมที่จะยื่นแบบกันหรือยัง

1. หนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ) อันนี้เป็นอันแรกเลยที่ต้องมี ซึ่งเอกสารนี้ได้รับจากนายจ้าง โดยในหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้ากบข./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

2.  หนังสือการซื้อขายหน่วยลงทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะมี 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่ขาย LTF ระหว่างปี 2557 ต้องกรอกในส่วนของรายได้ในแบบ ภงด.90 ซึ่งจะต้องกรอก 4 ส่วนคือ เงินค่าขายกองทุน ราคาทุน จำนวนเงินส่วนต่างที่ยกเว้นภาษี (หากขายถูกเงื่อนไข) หรือจำนวนเงินส่วนต่างที่ไม่ยกเว้นภาษี (หากขายผิดเงื่อนไข) ส่วนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้ ให้กรอกเลขที่ผู้เสียภาษีของกองทุน LTF ที่เราขายเป็นจำนวนเงินมากที่สุด
- ส่วนที่ซื้อ LTF ในปี 2557 สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

3. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- ส่วนที่ขาย RMF ระหว่างปี 2557 ต้องกรอกในส่วนของรายได้ในแบบ ภงด.90 ซึ่งจะต้องกรอก 4 ส่วนคือ เงินค่าขายกองทุน ราคาทุน จำนวนเงินส่วนต่างที่ยกเว้นภาษี (หากขายถูกเงื่อนไข) หรือจำนวนเงินส่วนต่างที่ไม่ยกเว้นภาษี (หากขายผิดเงื่อนไข) ส่วนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้ ให้กรอกเลขที่ผู้เสียภาษีของกองทุน RMF ที่เราขายเป็นจำนวนเงินมากที่สุด
    - ส่วนที่ซื้อ RMF ในปี 2557 สามารถใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

4. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนดังนี้
- คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการฯ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
- คนทุพพลภาพจะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

5. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

6. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (บิดามารดาเกิดก่อน หรือภายในปีพ.ศ. 2497) และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดา โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

7. หนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

8. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

9. ใบเสร็จรับเงินบริจาค สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ ทั้งนี้ หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค

10. ใบเสร็จจากการท่องเที่ยวในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยสามารถนำค่าที่พักและค่าแพ็กเกจทัวร์ ตั้งแต่วันที่ 16-31 ธันวาคม 2557 มาหักลดหย่อนได้

อ้อ ข้อมูลอีกส่วนที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมด้วย ถ้ากรอกยื่นแบบฯทางอินเตอร์เน็ต จะได้ไม่สะดุด ก็คือ เลขประจำตัวประชาชนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราครับ ถ้าสมรสแล้ว ก็ต้องเตรียมเลขประจำตัวประชาชนของคู่สมรส ถ้ามีลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา มารดา บุตร ก็ต้องเตรียมเลขประจำตัวประชาชนของคนนั้นไว้ด้วยนะครับ ของลูกดูได้จากมุมขวาบนในสูติบัตรครับ

เรื่องเอกสารที่รวบรวมไว้อย่าเพิ่งเอาไปทิ้งนะครับ ถึงเราจะยื่นแบบฯ ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่ต้องส่งเอกสารให้กับสรรพากร แต่ก็ต้องเก็บเอกสารเอาไว้อย่างน้อย 5 ปี เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจขอตรวจสอบเอกสารได้ครับ

ทดลองกรอกภาษีก่อน ได้ที่ http://k-expert.askkbank.com/DIYTools/Pages/K-ExpertTaxBuddy.aspx
อยากรู้เรื่องภาษีเพิ่มเติม ดูได้ที่ http://k-expert.askkbank.com/Pages/Need-based02.aspx
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่