ไม่ยื่นภาษี ไม่เสียภาษี มีความผิดอะไร โทษปรับเท่าไร ?

วาระแห่งปีของมนุษย์เงินเดือนกับการเตรียมตัวยื่นแบบรายการเงิน-เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในช่วงวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคมของทุกปี หากบุคคลที่มีหน้าที่ยื่นและเสียภาษีนี้ไม่ทำตามหน้าที่จะได้รับความผิดอย่างไร ?

วาระแห่งปีของมนุษย์เงินเดือน กับการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเวลานึงของทุกปีเพื่อให้รัฐบาลนำภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จัดบริการสาธารณะที่เอกชนไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม

ซึ่งปกติแล้วถูกจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 และวันที่ 1 กรกฎาคมถึงวันที่ 30 กันยายน ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ของทุกปี หากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ย่อมทำให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา

กรณีไม่ยื่นภาษี
การยื่นภาษี คือ การยื่นแบบแสดงรายการเงินปีละ 1 ครั้ง เพื่อแจ้งรายได้และค่าลดหย่อนที่มีให้กับสรรพากร สำหรับบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท/เดือน บางคนมีรายได้หลายทาง ทำให้ภาษีที่หักไว้อาจน้อยกว่าที่จ่ายจริง ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่ม

ขณะเดียวกันคนที่ถูกบริษัทหักภาษีสูง หรือมีค่าลดหย่อนอื่นเพิ่มเติม อาทิ การทำประกัน ดอกเบี้ยบ้าน กองทุนต่าง ๆ ก็จะได้ภาษีที่หักไว้คืน ปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหากไม่ยื่นแบบฯ หรือยื่นภายหลังกำหนดเวลา จะมีค่าปรับตามแต่ละกรณี ดังนี้

1. กรณีไม่ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีหรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
2. กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ หากไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3. กรณียื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว
4. กรณียื่นแบบฯ เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
5. กรณีขอผ่อนชำระเงินภาษี หากไม่ได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิการผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
6. กรณีมีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)
ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี)
ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันชีวิตของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ถ้ามี)
หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
หนังสือรับรองการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ถ้ามี)
ใบเสร็จรับเงินบริจาคการกุศลของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
สำเนาทะเบียนบ้าน
ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืน

กรณีไม่เสียภาษี
หากบุคคลยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้
1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
4. กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1729336
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่