ผู้ไม่ภาวนาตายทิ้งเปล่า ๆ เรียนเท่าไรก็เรียนเถอะไม่รู้ เราก็เรียนมาแล้วมันก็ไม่รู้





หักเข้ามาสู่สมาธิให้พักเครื่องคือความสงบ ไม่ต้องคิดต้องปรุง จิตเข้าสู่สมาธิไม่ทำงาน ปรุงนี้เป็นเรื่องของปัญญา
บังคับต้องได้ใช้สติปัญญากำลังวังชาเอาจริงจังนะ ไม่อย่างงั้นมันไม่อยู่  มันพุ่ง ๆ กับคู่ต่อสู้คือกิเลส
ทางนั้นเหมือนกับว่ายืนจังก้าคอยท่าอยู่ ทางนี้มันก็ซัดกันล่ะซิ เอายืนก็ยืน หักจิตเข้ามาสู่ความสงบคือสมาธิ มันออกไป
เอาบังคับให้อยู่กับพุทโธ เอาพุทโธติดกับจิตไว้เลยไม่ให้ออก  
พุทโธ ๆ ๆ สติจับกับพุทโธ จิตก็ไม่ให้มันออกไปคิด ให้มันคิดอยู่กับพุทโธๆ
หมุนติ้ว ๆ


สักเดี๋ยวจิตก็สงบแน่ว ทั้ง ๆ ที่จิตของเราเป็นสมาธิมาแน่นหนามั่นคงขนาดไหน เวลานั้นไม่เห็นมีคุณค่าอะไรเลย
สู้ทางปัญญาไม่ได้เพราะปัญญามันรุนแรง เห็นคุณค่าของปัญญามากจนเหยียบสมาธิ ตำหนิสมาธิไม่รู้ตัว
เวลาจะมาพักสมาธิมันก็ไม่อยากพัก มันถือว่าไม่ได้ผลได้ประโยชน์ แต่ต้องหักเข้ามา นี่ละมาพัก


เหมือนเราทำการทำงานหนักเบามากน้อย ทำไป ๆ ผลของงานนั้นได้ แต่เราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทำยังไง
ต้องมีการพักผ่อนนอนหลับและรับประทานอาหารเป็นพัก ๆ ไป เวลาจะเสียไปก็ตาม ค่าอาหงอาหารจะสิ้นเปลืองไปมากน้อยเพียงไร
ก็สิ้นเปลืองไปเพื่อจะหนุนกำลังให้เป็นกำลัง หลังจากการรับประทานอิ่มแล้วกำลังก็มี เอากำลังนี้ไปทำงานต่อไป


อันนี้ก็เข้าสู่สมาธิ  บังคับเข้าในพุทโธเลย ถี่ยิบ เอากันจริงจังทุกอย่าง เมื่อบังคับเข้าพุทโธ ๆ ถี่ยิบเข้าไป ไม่ยอมให้ออก
ถ้าว่าเผลอ เผลอไม่ได้นะ ผึงออกแล้ว แต่จิตขั้นนี้มันไม่เผลอล่ะซี พูดได้แต่ว่าพอรามือหรืออ่อนนิดหน่อยมันจะออกเลย
สติอ่อนนิดหน่อยเรียกว่ารามือ จะให้ว่าสติเผลอนี้พูดไม่ได้ ขั้นนี้แล้วไม่มีเผลอ อยู่เวลาไหนมันก็เป็นธรรมชาติของมัน


หักเข้า ๆ ด้วยพุทโธ ๆ ถี่ยิบเลย เอาติดกับพุทโธ ไม่ยอมให้คิด ไม่ยอมให้ออก
ถ้าทางนี้เบามือนิดหนึ่งจะผึงแล้วใส่งานที่ต่อสู้กับกิเลสด้วยปัญญา
แต่ปัญญานี้ ถ้ามีดก็ไม่ได้ลับหิน คมมันปื้นหมดแล้ว ต้องมาลับหิน
มาเอากำลังจากสมาธิเสียก่อน ให้จิตอยู่ในสมาธิ บังคับไว้นานเข้าจิตมันก็แน่วลงนะ


เมื่อถูกบังคับตลอดติดต่อด้วยพุทโธ ๆ ๆ สติติดแนบแน่นแล้วก็แน่วปึ๋งลงไปเลย จิตสงบ สงบแน่ว
เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะความทุกข์ทั้งหลาย เพราะการทำงานด้วยปัญญานั้น หยุดกึ๊กเลย มีตั้งแต่ความสงบเย็นใจ
เบาหวิว ๆ ๆ รู้สึกว่ากระปรี้กระเปร่าภายในใจ มีกำลังวังชาขึ้นในขณะที่จิตเข้าสู่สมาธิพักสงบนั้นแล
แต่ถอยไม่ได้นะ ถ้าพูดภาษาโลกของเราว่าเผลอไม่ได้ หรือว่าอ่อนมือไม่ได้ ต้องบังคับ
ถึงมันจะรวมสงบแน่วขนาดไหน กำลังของทางปัญญามันยังหนักกว่า พอเบาทางนี้ปั๊บมันจะพุ่งใส่นั้นเลย
ทางด้านปัญญาฟัดกับกิเลสอีกเลยละ ต้องพัก เป็นยังไงก็ช่าง เอาให้สงบแน่วลง


เมื่อมันลงเต็มที่แล้วเงียบหมดเลย เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ จิตใจนี้เย็นสบาย เบาหวิว ๆ ๆ โล่งไปหมดเลย
นี่พักงานแห่งความคิดความปรุงของปัญญา ให้อยู่ในนี้ บังคับไม่ให้ออก ถ้าเรารามือสักหน่อยออก ถึงขนาดนั้นว่าดิบว่าดี
ว่าสงบร่มเย็น อย่างนั้น มันยังสู้กำลังทางด้านปัญญาไม่ได้ ถึงขั้นปัญญามีอำนาจแล้วเป็นอย่างงั้น ต้องบังคับไว้
จนกระทั่งมันได้กำลังวังชา แน่ใจเจ้าของ จิตสงบแน่วอยู่เป็นเวลานานพอสมควร แน่ใจเจ้าของ มีกำลังวังชา
มีความสุขความสบายเห็นประจักษ์ ประหนึ่งว่าเรานอนหลับ ตื่นขึ้นมาก็มีกำลัง เราพักรับประทานอาหาร
อิ่มแล้วก็มีกำลัง อันนี้จิตเข้าพักตัวแล้วก็มีกำลัง ควรแก่การต่อสู้กับกิเลสโดยทางปัญญา
เหมือนที่เคยปฏิบัติมา


พอได้กำลังสมควรแล้ว พอถอยไม่อยากนะ ดีดผึงเลย มันไม่ได้ถอยแบบอืดอาดนะ  
เพราะทางด้านปัญญามันดึงให้อย่างคล่องตัวไปเลย
  พอถอยนี้มันก็ผึงเลยๆ
ทีนี้มันก็เป็นเหมือนกับมีดเราลับหินเรียบร้อยแล้ว  กำลังวังชาของเราก็มีแล้ว


กิเลสตัวนั้นแลซึ่งเทียบกับไม้ท่อนนั้นแล  แต่ก่อนฟันไม่ทราบเอาสันเอาคมลง มันไม่ขาดได้อย่างง่ายดาย
คราวนี้ซัด ๆ ขาดสะบั้น นี่ละจิตที่ได้รับการพักผ่อนตัวเอง ออกทำงานคราวนี้มีกำลัง สติปัญญาแกล้วกล้า ๆ
พิจารณาอะไรขาดสะบั้น ๆ
ไปเลย
นี่จึงเรียกว่าสติปัญญามาลับหินเสียก่อน พักตัวได้กำลัง ออก


ทีนี้ก็หมุนติ้วเลย จนกระทั่งมันจะตายจริง ๆ เอาอีก ถ้าธรรมดาให้มันมาพักจิตด้วยสมาธิมันจะไม่มา มีแต่หมุนเลย
กิเลสไม่พังเมื่อไรเป็นไม่ถอย ๆ ๆ มันดูดมันดื่มขนาดนั้น ไม่มีวันมีคืน ลงได้ลงทางจมกรมแล้วทั้งวันมันก็อยู่ตลอด
ไม่มีคำว่าหิวว่าโหย จะอยากอะไรจะฉันอะไร แม้ที่สุดน้ำก็ระลึกถึงกันไม่ได้ ความระลึกอะไรมันอยู่กับข้าศึกศัตรู
เหมือนเขาต่อยมวย มันจะไประลึกหาน้ำหาท่าอะไร มันก็ฟัดกัน นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้น


......ทีนี้มันก็ก้าวเรื่อย ๆ พอรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ทำอย่างนี้อีก บังคับให้เข้าพักสมาธิอีก
พักไปพอสมควรได้กำลังแล้วออกทำงาน นี่สม่ำเสมอ พอดิบพอดี ราบรื่นดีงาม ถ้าจะปล่อยให้เป็นอย่างงั้นไม่ได้ มันเลยเถิด
เรื่องของปัญญาขั้นนี้ นี่แหละขั้นที่เลิกที่ถอนกิเลสออกจากวัฏจิต คือสติปัญญาขั้นนี้ ทำงานตลอดเวลา
เช่นเดียวกับกิเลสที่มันทำงานตลอดเวลาโดยอัตโนมัติของมันบนหัวใจของสัตว์ มันจะทำของมันอย่างงั้น
พอกระดิกปั๊บกิเลสทำงานแล้ว ๆ เรื่อยจนกระทั่งหลับ นั่นละพักเครื่อง ตื่นขึ้นมามันเป็นของมันแล้ว มันติดเครื่องของมันแล้ว
แต่ดับไม่ลง ต้องอาศัยการหลับเท่านั้นดับเครื่องความคิดปรุงของกิเลสสมุทัย


.......................................


พอถึงขั้นปัญญาที่เป็นอัตโนมัติหมุนตามแก้ตามไขกิเลสนี้  มันเป็นเองของมัน
เหมือนกิเลสที่เคยหมุนหัวใจเราในทางผูกมัดจิตใจเรา ทางสติปัญญาแก้ก็แก้กิเลส แก้แบบเดียวกัน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
แม้ที่สุดฉันจังหันอยู่นี้จิตมันไม่ได้อยู่ในอาหารนะ มันจะทำงานของมันอยู่ลึกลับ ๆ หมุนติ้วๆ เป็นอัตโนมัติ
จะยืน เดิน เคลื่อนไหวไปไหน ๆ เป็นความเพียรตลอดเลย เป็นอัตโนมัติ ยิ่งเข้าทางจงกรมด้วยแล้วก็ยิ่งปล่อยละที่นี่
ขึ้นสนามแล้วก็มีแต่ฟัดตลอดเลย เพราะฉะนั้นถึงเดินจงกรมไม่รู้เวล่ำเวลา นั่งภาวนาก็เหมือนกัน บางคืนตลอดรุ่งเลย ไม่หลับ


นี่ละความหมุนของสติปัญญาอัตโนมัติที่จะฆ่ากิเลสไม่ให้มีเหลืออยู่ภายในจิตใจ มีกำลังมาก มันหมุนของมันอย่างนี้เอง
หมุนเรื่อย ๆ นี่จะรู้ได้ด้วยนักภาวนา


ผู้ไม่ภาวนาตายทิ้งเปล่า ๆ เรียนเท่าไรก็เรียนเถอะไม่รู้ เราก็เรียนมาแล้วมันก็ไม่รู้  
นอกจากไปสงสัยที่ท่านว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ อยู่เพียงเท่านั้น
สงสัยเท่านั้น แต่ก็ไม่รู้ทางไป จนกว่าดำเนินงานทางภาคปฏิบัติ.......



-------------------------------------------------------


เนื้อหาบางส่วนจาก
กิเลสไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นพิษ -พระธรรมเทศนาหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ [ค่ำ]
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1755&CatID=2
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่