15 มกราคม 2558
พอดีว่าช่วงนี้ผมกำลังตามอ่านหนังสือวรรณกรรมเก่า ๆ พอได้อ่านแล้วก็อยากจะเขียนถึงหนังสือเล่มที่ผมอ่าน โดยผมขอเขียนในลักษณะการรีวิวแนะนำหนังสือที่ไม่ใช่บทวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งผมจะเขียนตามความรู้สึกของผมหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น ๆ ครับ
ในวันนี้ผมขอพูดถึงหนังสือชื่อ “แลไปข้างหน้า” ที่เขียนโดยศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดี 1 ใน 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน ซึ่งศรีบูรพาได้เขียนไว้ประมาณ 60 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2495-2500) แต่ผมเพิ่งจะได้มาอ่านเมื่อ พ.ศ. 2558 นี้เองครับ
สำหรับ “แลไปข้างหน้า” เล่มที่ผมอ่านนี้น่าจะเป็นเล่มที่พิมพ์ขึ้นล่าสุดในวาระครบ 100 ปี ชาตกาลของศรีบูรพา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2545 เป็นหนังสือในโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ซึ่งหนังสือเรื่องแลไปข้างหน้านี้เป็นเล่มที่รวมทั้งภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัยเอาไว้ด้วยกัน ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงถูกแบ่งเป็นสองส่วนแยกไว้ในผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจน
ในตอนแรกที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” นี้ ผมยอมรับว่าผมเกือบจะอ่านไม่ผ่านบทแรกแล้ว ผมต้องทนฝืดตั้งใจอ่านในบทแรกถึง 3 รอบ กว่าจะอ่านบทแรกผ่านไปได้ด้วยความมึน เพราะว่าบทแรกเป็นบทบรรยายทั้งบท โดยมีตัวละครชื่อครูโผล่ขึ้นมาลอย ๆ บทบรรยายอันยืดยาวที่เป็นเหมือนบทพรรณนาของตัวละครที่ชื่อครูนั้นอ่านแล้วก็รู้สึกน่าเบื่อ เนื่องจากผู้อ่าน(ผม)ไม่สามารถประติดประต่อเรื่องราวได้ การที่ตัวละครครูได้คิดพรรณนานึกถึงแต่เรื่องของกาลเวลาซึ่งนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ผมอ่านแล้วยังไม่รู้สึกว่าจะโยงเข้าเรื่องได้สักเท่าไหร่เลย แต่พอขึ้นบทที่ 2 มีตัวละครเอกชื่อ จันทา โนนดินแดง โผล่ขึ้นมาก็ทำให้อ่านได้ไหลลื่นขึ้น เพราะผู้อ่านเริ่มจับตัวละครได้ และเริ่มอ่านเพื่อติดตามเรื่องราวของตัวละครได้ตามลำดับ
หนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” อาจจะไม่ใช่นวนิยายที่อ่านสนุกเหมือนนวนิยายพาฝันทั่วไป เนื่องจากเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยบทบรรยายมากถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยมีบทสนทนาหรือบทพูดของตัวละครแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เรื่องราวที่ได้อ่านมีความอืดและรู้สึกว่าเรื่องดำเนินเรื่องไปอย่างช้า อีกทั้งเนื้อเรื่องค่อนข้างหนักไปทางของสภาพสังคมในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่สนุกและไม่ค่อยมีความบันเทิงสักเท่าไหร่นัก ผมคิดว่าสำหรับนักอ่านมือสมัครเล่นหรือเยาวชนอ่านแล้วอาจจะน่าเบื่อเกินกว่าที่จะทนอ่านจนจบเล่มได้ แต่ถ้าเป็นการอ่านเพื่อเอาเรื่องราวและรายละเอียดเพื่อหาความหมายที่ซ้อนไว้ในเนื้อเรื่องแล้ว ผมถือได้ว่าเป็นหนังสือนวนิยายที่เล่าเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์การเมืองที่ให้อรรถรสได้ดีเป็นอย่างมาก
สำหรับภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าศรีบูรพาใช้ภาษาได้สวยมาก เป็นภาษาง่าย ๆ ที่เข้าใจได้ แต่ถูกเรียงร้อยด้วยความที่ค่อนข้างจะเป็นแบบแผนหรือรูปแบบเป็นทางการนิด ๆ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของเรื่องได้อย่างลื่นไหล เรื่องราวของตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นเรื่องราวในช่วงตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึง พ.ศ. 2500 ก่อนหน้าที่ผมจะได้มาอ่านเรื่องนี้ผมได้เคยอ่านประวัติชีวิตของศรีบูรพามาก่อน พอผมได้มาอ่านเรื่องนี้จึงคิดว่าเรื่องราวของตัวละครในเรื่องค่อนข้างที่จะสอดคล้องชีวิตจริงของศรีบูรพาเป็นอย่างมาก แต่อาจจะไม่ใช่เป็นหนังสือที่อิงชีวประวัติของศรีบูรพาโดยตรงทั้งหมด
ศรีบูรพานำเรื่องราวบางช่วงบางตอนของชีวิตตัวเองมากระจายใส่ผ่าน 3 ตัวละครหลักของเรื่อง อันได้แก่ จันทา โนนดินแดง , นิทัศน์ และเซ้ง โดยผมอ่านแล้วมีความรู้สึกว่าศรีบูรพากำลังต้องการบอกหรือสื่อเรื่องราวผ่านละครทั้ง 3 ตัวนี้ โดยเน้นหลักที่เรื่องของการแสวงหาหรือค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ประชาธิปไตย” มากกว่า
ในส่วนแรกที่เป็นภาคปฐมวัย ศรีบูรพาอธิบายให้ผู้อ่านเห็นถึงความแตกต่างของชนชั้นในสังคม อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสังคมนี้เองที่ทำให้คนในสังคมมีโอกาสไม่เท่าเทียมกัน เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำขึ้นระหว่างคนในสังคม โดยศรีบูรพาเน้นถึงเรื่องความแตกต่างนี้ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475
ส่วนในภาคมัชฌิมวัย ศรีพูรพาได้เล่าเรื่องเรื่องราวในสังคมไทยในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ศรีบูรพาพยายามพูดถึงความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย และการพูดถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยด้วย โดยในภาคนี้ตัวละครหลักทั้ง 3 ตัวโตขึ้นสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เรื่องราวจึงเข้มข้นและค่อนข้างจะหนักขึ้นกว่าภาคแรกมาก
โดยรวมแล้วถ้าถามผมว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือดี 1 ใน 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน? ผมก็ขอตอบว่า หนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” เล่มนี้เป็นเรื่องราวที่บันทึกสภาพสังคมและความเป็นไปของประเทศไทยในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งคนไทยควรจะได้อ่านเพื่อให้รู้ถึงที่มาและที่ไปของเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบ้านเมือง เนื้อเรื่องที่พูดถึงการแสวงหาประชาธิปไตย แสวงหาความหมายหรือรูปแบบของประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา ผู้ที่เป็นนักศึกษา ผู้ที่เป็นข้าราชการและนักการเมืองต่าง ๆ ควรจะอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้รู้ว่าทำไมประเทศไทยของเรายังคงต้องแสวงหาประชาธิปไตยที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ ด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญเก่าและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาตลอด 70 ปีที่ผ่านมา
ตราบใดก็ตามที่คนในประเทศยังขาดสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยที่จะต้องละผลประโยชน์ส่วนตนและนำพาไปซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว พวกเราก็คงจะต้องแสวงหาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปตลอดกาล แต่เมื่อไหร่ที่คนในประเทศไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์อันได้มาจากการกระทำความผิด การทุจริตคอรัปชั่นในทางการเมืองก็คงจะไม่เกิดขึ้น แล้วก็คงจะไม่มีใครหน้าไหนมาหาข้ออ้างเพื่อโค่นล้มรัฐธรรมนูญลงได้อีก เมื่อนั้นพวกเราคงมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เอาไว้อวดชาวโลกได้อย่างแน่นอน
น่าเสียดายที่ศรีบูรพาเขียนเรื่องนี้ไว้ไม่จบสมบูรณ์ โดยขาดภาคปัจฉิมวัยที่น่าจะเป็นตอนจบของเรื่องซึ่งจะทำให้นวนิยายเรื่อง “แลไปข้างหน้า” นี้คงมีความสมบูรณ์ในเชิงวรรณกรรมมากขึ้น แต่สำหรับตัวผมคิดว่า การที่ศรีบูรพาไม่ได้เขียนตอนจบเอาไว้ในภาคปัจฉิมวัยก็คงเป็นการดีสำหรับผู้อ่าน ผู้อ่านควรต้องอ่านแล้วแลตามไปข้างหน้าเพื่อค้นหาตอนจบของเรื่องเอาเอง เพราะว่าทั้ง 2 ภาคนี้ต่างก็ได้ให้รายละเอียดและชี้ทางให้มากเพียงพอแล้ว เราในฐานะผู้อ่านก็ควรจะต้องเดินตามหาจุดหมายตอนจบของเรื่องด้วยตัวเอง เพราะว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเรานั้นคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบตามความต้องการของพวกเรานั้นเอง
แลไปข้างหน้า : มองหาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
15 มกราคม 2558
พอดีว่าช่วงนี้ผมกำลังตามอ่านหนังสือวรรณกรรมเก่า ๆ พอได้อ่านแล้วก็อยากจะเขียนถึงหนังสือเล่มที่ผมอ่าน โดยผมขอเขียนในลักษณะการรีวิวแนะนำหนังสือที่ไม่ใช่บทวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งผมจะเขียนตามความรู้สึกของผมหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น ๆ ครับ
ในวันนี้ผมขอพูดถึงหนังสือชื่อ “แลไปข้างหน้า” ที่เขียนโดยศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดี 1 ใน 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน ซึ่งศรีบูรพาได้เขียนไว้ประมาณ 60 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2495-2500) แต่ผมเพิ่งจะได้มาอ่านเมื่อ พ.ศ. 2558 นี้เองครับ
สำหรับ “แลไปข้างหน้า” เล่มที่ผมอ่านนี้น่าจะเป็นเล่มที่พิมพ์ขึ้นล่าสุดในวาระครบ 100 ปี ชาตกาลของศรีบูรพา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2545 เป็นหนังสือในโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ซึ่งหนังสือเรื่องแลไปข้างหน้านี้เป็นเล่มที่รวมทั้งภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัยเอาไว้ด้วยกัน ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงถูกแบ่งเป็นสองส่วนแยกไว้ในผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจน
ในตอนแรกที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” นี้ ผมยอมรับว่าผมเกือบจะอ่านไม่ผ่านบทแรกแล้ว ผมต้องทนฝืดตั้งใจอ่านในบทแรกถึง 3 รอบ กว่าจะอ่านบทแรกผ่านไปได้ด้วยความมึน เพราะว่าบทแรกเป็นบทบรรยายทั้งบท โดยมีตัวละครชื่อครูโผล่ขึ้นมาลอย ๆ บทบรรยายอันยืดยาวที่เป็นเหมือนบทพรรณนาของตัวละครที่ชื่อครูนั้นอ่านแล้วก็รู้สึกน่าเบื่อ เนื่องจากผู้อ่าน(ผม)ไม่สามารถประติดประต่อเรื่องราวได้ การที่ตัวละครครูได้คิดพรรณนานึกถึงแต่เรื่องของกาลเวลาซึ่งนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ผมอ่านแล้วยังไม่รู้สึกว่าจะโยงเข้าเรื่องได้สักเท่าไหร่เลย แต่พอขึ้นบทที่ 2 มีตัวละครเอกชื่อ จันทา โนนดินแดง โผล่ขึ้นมาก็ทำให้อ่านได้ไหลลื่นขึ้น เพราะผู้อ่านเริ่มจับตัวละครได้ และเริ่มอ่านเพื่อติดตามเรื่องราวของตัวละครได้ตามลำดับ
หนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” อาจจะไม่ใช่นวนิยายที่อ่านสนุกเหมือนนวนิยายพาฝันทั่วไป เนื่องจากเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยบทบรรยายมากถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยมีบทสนทนาหรือบทพูดของตัวละครแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เรื่องราวที่ได้อ่านมีความอืดและรู้สึกว่าเรื่องดำเนินเรื่องไปอย่างช้า อีกทั้งเนื้อเรื่องค่อนข้างหนักไปทางของสภาพสังคมในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่สนุกและไม่ค่อยมีความบันเทิงสักเท่าไหร่นัก ผมคิดว่าสำหรับนักอ่านมือสมัครเล่นหรือเยาวชนอ่านแล้วอาจจะน่าเบื่อเกินกว่าที่จะทนอ่านจนจบเล่มได้ แต่ถ้าเป็นการอ่านเพื่อเอาเรื่องราวและรายละเอียดเพื่อหาความหมายที่ซ้อนไว้ในเนื้อเรื่องแล้ว ผมถือได้ว่าเป็นหนังสือนวนิยายที่เล่าเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์การเมืองที่ให้อรรถรสได้ดีเป็นอย่างมาก
สำหรับภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าศรีบูรพาใช้ภาษาได้สวยมาก เป็นภาษาง่าย ๆ ที่เข้าใจได้ แต่ถูกเรียงร้อยด้วยความที่ค่อนข้างจะเป็นแบบแผนหรือรูปแบบเป็นทางการนิด ๆ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของเรื่องได้อย่างลื่นไหล เรื่องราวของตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นเรื่องราวในช่วงตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึง พ.ศ. 2500 ก่อนหน้าที่ผมจะได้มาอ่านเรื่องนี้ผมได้เคยอ่านประวัติชีวิตของศรีบูรพามาก่อน พอผมได้มาอ่านเรื่องนี้จึงคิดว่าเรื่องราวของตัวละครในเรื่องค่อนข้างที่จะสอดคล้องชีวิตจริงของศรีบูรพาเป็นอย่างมาก แต่อาจจะไม่ใช่เป็นหนังสือที่อิงชีวประวัติของศรีบูรพาโดยตรงทั้งหมด
ศรีบูรพานำเรื่องราวบางช่วงบางตอนของชีวิตตัวเองมากระจายใส่ผ่าน 3 ตัวละครหลักของเรื่อง อันได้แก่ จันทา โนนดินแดง , นิทัศน์ และเซ้ง โดยผมอ่านแล้วมีความรู้สึกว่าศรีบูรพากำลังต้องการบอกหรือสื่อเรื่องราวผ่านละครทั้ง 3 ตัวนี้ โดยเน้นหลักที่เรื่องของการแสวงหาหรือค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ประชาธิปไตย” มากกว่า
ในส่วนแรกที่เป็นภาคปฐมวัย ศรีบูรพาอธิบายให้ผู้อ่านเห็นถึงความแตกต่างของชนชั้นในสังคม อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสังคมนี้เองที่ทำให้คนในสังคมมีโอกาสไม่เท่าเทียมกัน เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำขึ้นระหว่างคนในสังคม โดยศรีบูรพาเน้นถึงเรื่องความแตกต่างนี้ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475
ส่วนในภาคมัชฌิมวัย ศรีพูรพาได้เล่าเรื่องเรื่องราวในสังคมไทยในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ศรีบูรพาพยายามพูดถึงความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย และการพูดถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยด้วย โดยในภาคนี้ตัวละครหลักทั้ง 3 ตัวโตขึ้นสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เรื่องราวจึงเข้มข้นและค่อนข้างจะหนักขึ้นกว่าภาคแรกมาก
โดยรวมแล้วถ้าถามผมว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือดี 1 ใน 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่าน? ผมก็ขอตอบว่า หนังสือเรื่อง “แลไปข้างหน้า” เล่มนี้เป็นเรื่องราวที่บันทึกสภาพสังคมและความเป็นไปของประเทศไทยในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งคนไทยควรจะได้อ่านเพื่อให้รู้ถึงที่มาและที่ไปของเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบ้านเมือง เนื้อเรื่องที่พูดถึงการแสวงหาประชาธิปไตย แสวงหาความหมายหรือรูปแบบของประชาธิปไตยที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา ผู้ที่เป็นนักศึกษา ผู้ที่เป็นข้าราชการและนักการเมืองต่าง ๆ ควรจะอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้รู้ว่าทำไมประเทศไทยของเรายังคงต้องแสวงหาประชาธิปไตยที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ ด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญเก่าและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาตลอด 70 ปีที่ผ่านมา
ตราบใดก็ตามที่คนในประเทศยังขาดสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยที่จะต้องละผลประโยชน์ส่วนตนและนำพาไปซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว พวกเราก็คงจะต้องแสวงหาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปตลอดกาล แต่เมื่อไหร่ที่คนในประเทศไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์อันได้มาจากการกระทำความผิด การทุจริตคอรัปชั่นในทางการเมืองก็คงจะไม่เกิดขึ้น แล้วก็คงจะไม่มีใครหน้าไหนมาหาข้ออ้างเพื่อโค่นล้มรัฐธรรมนูญลงได้อีก เมื่อนั้นพวกเราคงมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เอาไว้อวดชาวโลกได้อย่างแน่นอน
น่าเสียดายที่ศรีบูรพาเขียนเรื่องนี้ไว้ไม่จบสมบูรณ์ โดยขาดภาคปัจฉิมวัยที่น่าจะเป็นตอนจบของเรื่องซึ่งจะทำให้นวนิยายเรื่อง “แลไปข้างหน้า” นี้คงมีความสมบูรณ์ในเชิงวรรณกรรมมากขึ้น แต่สำหรับตัวผมคิดว่า การที่ศรีบูรพาไม่ได้เขียนตอนจบเอาไว้ในภาคปัจฉิมวัยก็คงเป็นการดีสำหรับผู้อ่าน ผู้อ่านควรต้องอ่านแล้วแลตามไปข้างหน้าเพื่อค้นหาตอนจบของเรื่องเอาเอง เพราะว่าทั้ง 2 ภาคนี้ต่างก็ได้ให้รายละเอียดและชี้ทางให้มากเพียงพอแล้ว เราในฐานะผู้อ่านก็ควรจะต้องเดินตามหาจุดหมายตอนจบของเรื่องด้วยตัวเอง เพราะว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเรานั้นคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบตามความต้องการของพวกเรานั้นเอง