[CR] เมื่ออ่านเรื่อง แลไปข้างหน้า ศรีบูรพา เป็นนามปากกา ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (2448-2517) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญ



แลไปข้างหน้า
ภาคปฐมวัย และภาคมัชฌิมวัย

(เขียนในช่วงปี 2495-2500)
ภาคปฐมวัยพิมพ์ครั้งแรกใน ปี 2498
ภาคมัชฌิมวัย พิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารปิยมิตร ปี 2500 และรวมเล่ม ปี 2518 โดยชมรมหนังสืออุดมธรรม
ศรีบูรพา
(พ.ศ. 2448 - 2517)

ศรีบูรพา เป็นนามปากกา ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (2448-2517) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของไทย ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2500 มีผลงานเขียน ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทความ จำนวนมาก งานเด่นๆ มี อาทิ สงครามชีวิต (2475) ข้างหลังภาพ (2480) เบื้องหลังการปฏิวัติ (2484) จนกว่าเราจะพบกันอีก (2493) แลไปข้างหน้า (2498) รวมเรื่องสั้น และรวมบทความสั้นหลายเล่ม

แลไปข้างหน้า (ภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัย) เป็นนิยายชิ้นสำคัญของศรีบูรพา เรื่องนี้เขียนขึ้น ระหว่างปี 2495-2500 ซึ่งเป็นช่วงที่ศรีบูรพา ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่คุมขัง ในฐานะนักโทษการเมือง ผู้คัดค้านนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ถูกจับกุม เขามีอายุ 47 ปี เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ที่มีชื่อเสียงมากแล้ว นิยายเรื่องนี้ ศรีบูรพาเขียนไม่จบ เนื่องจากหลังจากที่เขาพ้นโทษ ออกจากที่คุมขังมา ก็มีภารกิจด้านอื่น และในปี 2501 ขณะที่เขาเดินทางไปประเทศจีน ในนามหัวหน้าคณะวัฒนธรรมไทย ก็ได้เกิดการทำรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ขึ้น มีการกวาดล้างจับกุมนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน จำนวนมาก ทำให้ศรีบูรพาต้องขอลี้ภัย อยู่ในประเทศจีนเรื่อยมา จนถึงแก่กรรมในปี 2517

แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย เป็นเรื่องสมัยเด็กของจันทา โนนดินแดง เด็กบ้านนอกซึ่งมีโอกาส เข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยม ในโรงเรียนผู้ดีในกรุงเทพฯ เพราะการฝากฝังของเจ้าอาวาส และเพื่อจะได้เป็น "องครักษ์" ของลูกชาย ของขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่ง เวลาที่กล่าวถึงในท้องเรื่อง เป็นช่วงปีพ.ศ.2470 กว่าๆ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรยากาศของท้องเรื่อง สะท้อนสังคมของชนชั้นสูง ที่ถือชั้นวรรณะ ทั้งที่บ้านของท่านเจ้าคุณ ที่จันทาอาศัยอยู่ในฐานะบ่าวไพร่ หรือในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ (ภาพจำลองของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ศรีบูรพาได้ไปเรียน ในยุคใกล้ๆ กันนั่นเอง) ซึ่งจันทาถูกมองเหมือน คนที่มาจาก "โลกอีกโลกหนึ่ง"

ภาคมัชฌิมวัย เป็นเรื่องสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่อยมา จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวละครสมัยเด็ก ต่างก็โตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ ภาคนี้ มีลักษณะ จะสะท้อนภาพของสังคมการเมือง ที่มีผลกระทบต่อตัวละครต่างๆ กัน มากกว่าภาคแรก และเนื่องจากเรื่อง หยุดชะงักลงกลางคัน ผู้เขียนเขียนไม่จบ จึงยากจะวิจารณ์ ในแง่ของงานศิลปะได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ภาคนี้ ศิลปะการเขียนโดยทั่วไป ก็อยู่ในเกณฑ์ดี ใกล้เคียงกับภาคปฐมวัย แม้จะไม่มีตอนที่สะเทือนใจนัก และมีลักษณะเป็นการแสดงทัศนะ ที่คล้ายบทความอยู่หลายตอน แต่ก็เป็นความเรียงที่สละสลวย โดยเฉพาะในบทแรก ที่บรรยายถึงเหตุการณ์ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นั้น ศรีบูรพา บรรยายได้อย่างสง่างาม และมีพลังมาก

มองในแง่ความคิดแล้ว นิยายเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็น ความคิดที่ก้าวหน้า มากกว่านิยายเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ของศรีบูรพา ได้อย่างชัดเจน ความคิดที่เด่นชัดของเขาคือ ความเชื่อในเรื่องความเสมอภาค ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเจริญก้าวหน้า ความสงบสุขของประเทศ และของโลก เขาได้สอดแทรกความคิดเหล่านี้ ไว้ในนิยาย ได้อย่างค่อนข้างแนบเนียน ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ถี่ถ้วน และละเอียดอ่อน สิ่งหนึ่งเขาทำได้ดี ในนิยายเรื่องนี้ คือ การสะท้อนภาพ สังคมการเมือง และวัฒนธรรม ในยุคสมัยดังกล่าว ออกมาได้อย่างง่ายๆ แจ่มชัด

"ภาคปฐมวัย" อ่านได้ที่ >>> http://www.bookmass.com/books/2013-04-27-15-18-50/1912-2014-03-28-02-03-57.html
ชื่อสินค้า:   อ่านเรื่องแลไปข้างหน้า
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่