ชูนิยาย, “ศรีบูรพา” ชมงานสัปดาห์หนังสือฯ

จากสกู๊ปพิเศษหน้า ๑ ใน นสพ.ไทยรัฐ (.... มี.ค. ๒๕๕๗)
เขียนโดย สัจภูมิ  ละออ

**************************

"ศรีบูรพา" คือศรีแห่งวรรณกรรมไทย

ด้วยสำนึกในคุณอักษรของ “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์
เจ้าของนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ และอีกหลายเรื่องหลากรส
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ คณะกรรมการจัดงานจึงนำผลงานมายกย่อง
โดยจัดเป็นนิทรรศการในห้องบอลรูม
เริ่มชมได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมเป็นต้นไป จนกระทั่งจบงาน

ส่วนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่มวันที่ 28 มีนาคม
เรื่อยไปจนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
เปิดขายตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนถึง 21.00 น.
ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
การเดินทางสะดวกสุดคือรถใต้ดิน
รถยนต์ส่วนตัวมักมีปัญหาเรื่องที่จอด เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไว้ก่อน

ชื่องานหนังสือปีนี้คือ โลกคือนิยาย
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยบอกว่า
เพราะต้องการให้เห็นว่า ชีวิตของผู้คนนั้นเกี่ยวข้องกับนิยายอย่างไร
ความพิเศษของนิยายมีมากมาย อาทิ ด้านประวัติศาสตร์
เราไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์บางช่วงตอนของประเทศไทยได้
แต่เรานำเอาเรื่องราวนั้นมาเขียนเป็นนวนิยายได้
อย่างเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2475
“ศรีบูรพา” ท่านก็สื่อความคิดเห็นทางการเมือง ออกมาในรูปแบบของนวนิยาย
เพราะนวนิยายเปลี่ยนแปลงทั้งโลกและชีวิต
เช่น นวนิยายเรื่อง เหยื่ออธรรม วรรณกรรมเอกของโลกเรื่องนี้
ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับออง ซาน ซู จี ต่อสู้เรียกร้องเพื่อชาติบ้านเมือง เป็นต้น

นายกสมาคมยังบอกว่า ชีวิตกับนิยายเกี่ยวข้องกันเสมอมา
ผลงานของ ศรีบูรพา สะท้อนให้เห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากปีนี้ครบรอบ 110 ปี ของท่าน
จึงอยากให้คนไทยได้เห็นงานเขียน และรู้จักชีวิตของศรีบูรพา ที่แม้แต่ยูเนสโกยังยกย่อง

ด้าน “อาริตา” (หรือ "นาวิกา" เจ้าของนิยาย สามีตีตรา
ที่สร้างเป็นละครสุดฮิตทางช่อง 3)
นักเขียนหญิงเจ้าของนวนิยายรัก หลากรส หลายเรื่องราว
แสดงทรรศนะเรื่องชื่องานว่า ในฐานะคนเขียนนิยายมาตั้งแต่ปี 2518
พบด้วยตนเองว่านิยายเปลี่ยนชีวิตของคนเขียนและคนอ่าน
โลกคือนิยาย และโลกคือพื้นที่ของสิ่งมีชีวิต

“ตราบใด สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนยังรวมกันบนโลกนี้
ฉันก็ยังจะเขียนเล่าเรื่องราวของคน
เป็นบันทึกร่วมสมัยแสดงสภาพสังคม การดำเนินชีวิต ล้วนแล้วแต่ไม่รู้จบ
งานนิยายไม่ใช่งานเขียนฝันเพ้อเจ้อ

แต่เป็นเล่าเรื่องจริงผ่านการเล่าเรื่องที่แทรกความเริงรมย์
หลายหนนิยายเป็นมากกว่าชีวิต
และหลายหนชีวิตจริงกับชีวิตในนิยาย
ก็ทาบทับกันเป็นคู่ขนานไม่รู้จบ”

มุมมองต่อ ศรีบูรพา
“อาริตา” บอกว่า ท่านคือนักเขียนอมตะ
และบอกเราว่าอดีตกาลกับปัจจุบันในสภาพสังคมการเมือง
เป็นประวัติศาสตร์ที่เพียงแต่เปลี่ยนเวลา  แต่สภาพสังคมไม่ได้ต่างกันมากนัก
หรือแม้งานอมตะอย่าง ข้างหลังภาพ ก็ยังบอกเราได้ว่า
เรื่องความรักไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลกใบนี้

ส่วน ชมัยภร แสงกระจ่าง เจ้าของนวนิยาย 2 เล่มที่ได้รางวัลดีเด่นปีนี้ คือ
เรื่อง จับต้นมาชนปลาย นวนิยายที่สะท้อนเรื่องราวของปมในใจมนุษย์
มนุษย์ที่มองภายนอกดูสวยงาม และลงตัว
แต่ภายในกลับผูกปมไว้ยุ่งเหยิง จนจับต้นมาชนปลายแทบไม่ถูก
และวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง อาม่าบนคอนโด
เธอแสดงทรรศนะสร้อยสัมพันธ์ระหว่างโลกกับนิยายว่า
โลกไม่เคยหยุดนิ่ง  มีความเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ทั้งวิถีชีวิตของคนและวิถีของโลกสัมพันธ์กันไป
การเคลื่อนไหวนี้เองได้กลายเป็นภาพสะท้อนในนวนิยายของนักเขียน
เพราะนักเขียนก็คือหนึ่งมนุษย์ในโลก
ดังนั้น โลกกับนวนิยายจึงกลายเป็นกระจกส่องกันไปมา
นักเขียนเป็นผู้ถ่ายภาพโลกและหรือสังคมมนุษย์ลงไปในงานเขียน
ในขณะที่งานเขียนก็กลายเป็นภาพชีวิตให้มนุษย์ในโลกได้เรียนรู้ไปอีกต่อหนึ่ง

ดังนั้น “โลกกับนวนิยายจึงกลายเป็นเงาของกันและกัน ไม่อาจแยกออกจากกันได้
แม้แต่คนที่พยายามเขียนนวนิยายที่ไม่สะท้อนความเป็นโลก
ก็ยังกลายเป็นอีกมุมหนึ่งของโลก
คือมุมของการต่อต้านการสะท้อนโลก” ชมัยภรบอก

นักวิจารณ์และนักเขียนอย่างอาจารย์สกุล บุณยทัต มองศรีบูรพาว่า
ท่านเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง
ทั้งด้วยอุดมคติในการทำงาน
ตลอดจนเนื้อหาสาระแห่งความคิดและทัศนคติอันทรงพลัง
และมีแง่มุมอันเเหลมคมเชิงสังคมและมนุษยภาพ
เหตุผลทางการเมืองในยุคสมัยของท่าน
น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งในเบื้องต้น
ที่ทำให้ผลงานของท่านถูกจับตามองด้วยท่าทีที่อยู่ในมุมตรงข้าม
กระทั่งมองเห็นเป็นสิ่งต้องห้ามเเละศัตรูร้ายในวิถีแห่งการอยู่ร่วม...ในเเผ่นดิน
ท่านจึงต้องใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตในต่างประเทศ
ถูกระบุว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิการเมืองที่เป็นอันตรายต่อประเทศ
นี่คือความสูญเสียที่โยงใยไปถึง
ยุคนี้ วรรณกรรมพาฝัน...เรื่องราวประโลมโลกย์ตามยุคสมัย
กลายเป็นวัตถุต้องจริตของคนรุ่นใหม่ในสังคมอย่างรวดเร็ว

“การเสพสาระที่ไม่ต้องเป็นสาระคือเเรงปรารถนาของสังคม ที่ยากจะรำงับยับยั้ง
ประเด็นอันเป็นเเก่นเเท้เชิงวิพากษ์ต่อสังคม
ถูกมองข้ามไปตามรสนิยมเเห่งยุคสมัย สื่อมวลชน
โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่กันอย่างบางเบา
และบางครั้งก็ดูเหมือนว่ากำลังทรยศต่อประชาชน”

ส่วน “วรรณกรรมสำนึกที่ชี้ให้เห็นความจริงของสังคม
ถือเป็นเรื่องยากต่อการสัมผัสหรือตีความ
มันจึงเป็นที่มาของการลืมเลือนและไม่เห็นความจำเป็น
ที่จะต้องสื่อสารกับเนื้องานประเภทนี้

จนเป็นเหตุให้คนสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ทั้งหมดต้องถูกลืม...
วรรณกรรมเเปลต่างประเทศอย่าง แม่.. ในยามที่ถูกเนรเทศ
หรือนวนิยายชั้นดี อย่าง เเลไปข้างหน้า สงครามชีวิต จนกว่าเราจะพบกันอีก
หรือรวมเรื่องสั้นอย่าง ขอเเรงหน่อยเถอะ
ต่างถูกจำกัดความนิยมอยู่ในวงเเคบตามบริบทที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น
เว้นเเต่ นวนิยาย ข้างหลังภาพ ที่พอจะเป็นที่นิยมเเละซาบซึ้งกัน
แต่นั่นก็เพราะคิดกันเพียงเเค่ว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นนิยายรัก
จนไม่ยอมตีความลึกลงไปถึงเงื่อนปมเเห่งมิติคิดทางสังคม
ที่แฝงเอาไว้อย่างเเยบยล” อาจารย์สกุลบอก

สำหรับสื่อในโลกใหม่กับสื่อสิ่งพิมพ์
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯยอมรับว่า
ทีวี.มีบทบาทต่อผู้คนในสังคมก็จริง แต่ถ้ามองในแง่ดี
อาจเป็นไปได้ว่าทีวี.อาจมีรายการหนังสือเกิดขึ้นมา
ช่วยส่งเสริมการขายได้อีกทางหนึ่ง

สื่อยุคใหม่ “ที่ผ่านมากว่า 10 ปี ส่งผลกระเทือนบางอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงกันไป
ส่วนสถานการณ์หนังสือปีนี้
แม้จะมีการผันผวนทางการเมือง เศรษฐกิจ
แต่ก็มีคนเปิดตัวหนังสือกว่า 2,000 ปก
สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ทุกคนหวังทำเป้าการขายในงานหนังสือนี้
หวังเพิ่มยอดขายให้ตัวเอง
เพราะงานหนังสือเหมือนเป็นช่องทางเดียว
ที่คนทำหนังสือจะได้แนะนำตัวเองกับคนอ่าน
และน่าสังเกตว่าปีนี้มีการเปิดตัวของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ
เป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการ”

สำหรับแนวโน้มของ หนังสือเล่ม
“ขณะนี้คนทำหนังสือปรับตัวตลอดเวลา ตลาดเปลี่ยนเร็ว
การผลิตจึงไม่ผลิตมากเหมือนเดิม
ผู้ผลิตหนังสือรายใหญ่ก็ลดปริมาณการผลิตลง
เพราะว่าไม่แน่ใจเรื่องตลาด เราต่างระวังตัวกันทั้งหมด
เมื่อไม่แน่ใจในสถานกาณ์ก็ต้องลดความเสี่ยง” นายจรัญบอก

งานหนังสือครั้งนี้
ขณะที่สำนักพิมพ์ได้กระตุ้นยอดขาย
และคนซื้อได้หนังสือถูกใจ
แถมยังได้รู้จักนักเขียนของโลกอย่าง “ศรีบูรพา” อีกด้วย
.........................................................................
หนอนหนังสือคนไหน...
ยังไม่ได้ไป "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" บ้างเอ่ย ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่