รีวิว The Equalizer ความเป็นฮีโร่อาจหมายถึงการให้กำลังใจใครสักคนให้เผชิญหน้าอุปสรรค

The Equalizer (2014)



1) การที่ฮอลลีวูดมันยังคงมีหนัง 'anti-hero' ประเภทฮีโร่ที่ใช้ความรุนแรงจัดการปัญหา มันน่าจะสะท้อนค่านิยมความเสื่อมศรัทธาในตัวกฎหมายของผู้คนได้เป็นอย่างดี

2) 'โรเบิร์ต' (Denzel Washington) มีอดีตยังไงไม่มีใครทราบ แต่เขาเชื่อว่าตัวเองก้าวข้ามอดีตของตัวเองมาใช้ชีวิตสงบสบายง่าย ๆ เป็นพนักงานร้านก่อสร้างธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเขาได้คุยกับ 'เทรี่' (Chloe Grace Moretz) โสเภณีเด็กถูกแมงดารัสเซียรุมซ้อมอาการสาหัส เขาจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่ควรอยู่เฉย ๆ ทั้งที่สามารถช่วยเหลือเธอได้ เขาจึงลงมือบุกรังแมงดา ก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อพวกมาเฟียรัสเซียต้องการตามล่าคนที่ลงมืออุกอาจครั้งนี้

3) เราอาจจะแบ่งความเป็นฮีโร่ของ 'โรเบิร์ต' ออกเป็นสองด้าน ในด้านหนึ่งเขาคือฮีโร่สำหรับเด็กอ้วนที่อยากเป็นรปภ. เขาคอยเคี่ยวเข็ญ คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจจนเด็กอ้วนสอบผ่านได้สำเร็จ

4) ในขณะเดียวกันความเป็นฮีโร่ของเขาในสายตา 'เทรี่' อาจจะไม่ใช่การที่เขาลงมือล้างบางแก๊งมาเฟียรัสเซียทั้งโคตร แต่เป็นการที่เขาพูดคุยกับเธอทุกวันในบาร์ พูดให้เธอเชื่อว่าเธอสามารถหลุดพ้นจากการเป็นโสเภณีไปใช้ชีวิตอย่างที่เธอต้องการได้ นั่นแหละคือสายตาที่เด็กสาวมองเขาอย่างชื่นชม

5) แต่หลังจากเปิดฉากต่อสู้กันครั้งแรก หนังก็เข้าสู่ขั้น 'วิบัติ' ทันที เมื่อหนังพยายามสร้างให้ตัวร้ายฉลาด(ทั้งที่โคตรไม่ฉลาด), หนังพยายามขายความโหดแบบไม่จำเป็น, หนังโยนความไร้เหตุผลเข้ามาเพียงเพื่อจะขายพระเอก

6) มีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวร้ายบอกว่าให้ไปจับเป็นพระเอกเงียบ ๆ อย่าให้มีพยานรู้เห็น แล้วรู้ไหมว่าฉากนี้เขาจับตัวยังไง พี่เล่นบุกไปใช้ปืนจี้พระเอกในบาร์ที่เปิดไฟสว่างโร่ แถมพี่ยังไม่มีแผนสำรอง เพราะพวกพี่เล่นถือปืนวิ่งไล่กลางถนน โอ้ นิยามของคำว่าเงียบ ๆ อย่าให้มีพยาน !

7) ไปอ่านรีวิวนึงของต่างประเทศบอกว่า หนังเรื่องนี้มันยังสะท้อนเรื่อง 'การทรมานนักโทษ' เพราะกลุ่มคนดูหัวก้าวหน้ายอมรับได้หากการทรมานเพื่อรีดข้อมูลกระทำโดยพระเอก พูดง่าย ๆ ว่ากระทำโดยฮีโร่เช่นสหรัฐอเมริกาที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของสังคม แต่ขณะเดียวกันหากการทรมานกระทำโดยตัวร้าย พวกหัวก้าวหน้าจะไม่ยอมรับทันที

8) ฉากจบที่ตัวร้ายจับตัวประกันล่อพระเอกมาในคลังเก็บของ ฉากนี้กินเวลาไป 20 นาทีแบบเปล่าประโยชน์มาก เอ็งยิงกันขนาดนั้นไม่มีตำรวจเข้ามาสักคน พวกตัวประกันไม่โทรเรียกตำรวจเลยหรอไงฟะ แถมตัวร้าย 5 คนถืออาวุธสงครามแต่ดันไม่มีแผนสำรองที่จะปราบพระเอก พี่เล่นเดินดุ่ย ๆ ไปให้เขาเชือดทีละคน สิ้นคิดมากสำหรับหนังที่พยายามขายความเท่ ขายกึ๋นพระเอก

9) สิ่งที่สะท้อนว่าหนังพยายามขายสไตล์ได้เป็นอย่างดีคือฉากจบที่พระเอกเดินถือปืนยิงตะปูเข้าฉากแบบ โคตร slow-motion แล้วมีน้ำจากสปริงเกอร์ดับไฟเทลงมาทั่วทั้งฉาก ซึ่งกว่าพี่จะเดิน จะหันมา จะเงื้อมือไม่รู้จะ slow-motion อะไรนักหนา การพยายามขายสไตล์บางทีมันก็ไม่ได้เท่เสมอไป ลองนึกถึงการขายสไตล์แบบเท่ ๆ ผมนึกถึงฉากแอ็คชั่นในหนังของ 'แซม เมนเดส' เช่นฉากกระหน่ำยิงมาเฟียกลางสายฝนใน Road to Perdition หรือฉาก 007 สู้ตัวร้ายในตึกที่เล่นกับแสงเงาภาค Skyfall

10) ยังไม่นับรวมความเป็นหนังประเภทเอาเท่เข้าว่า "ก่อนที่ฉันจะลงมือฆ่าพวกมัน ฉันมอบทางเลือกให้พวกมันแล้วนะ" คือมันน่าเบื่อมากที่มาเจอหนังประเภทพระเอ๊กพระเอกไม่สนใจโลกความจริงว่าใครมันจะมากลับตัวง่าย ๆ มันกลายเป็นแค่การสร้างรู้สึกให้คนดูยอมรับได้ว่าการกระทำของพระเอกเกิดขึ้นเพราะจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง

11) ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้ The Equalizer กลายเป็นหนังที่พยายามขายแอ็คชั่นแบบไร้แก่นสารไร้เหตุผลที่มาพร้อมความยาว 132 นาทีที่เกินจำเป็น เมื่อเรามองย้อนไปยังผลงานของ Antoine Fuqua เช่น Olympus Has Fallen และ Shooter มันก็ตอกย้ำให้ผมเชื่อว่าเขาคงไม่สามารถหลุดพ้นจากการทำหนังให้ดีกว่านี้ได้แล้วล่ะ

12) สำหรับ 'เดนเซล วอชิงตัน' เขาคือนักแสดงชายที่ชนะบนเวทีออสการ์สาขาการแสดง 2 ครั้งจากการเข้าชิง 6 ครั้ง ที่น่าสนใจคือเขาเล่นหนังอาชญากรรมแอ็คชั่นเยอะมาก แต่งานแอ็คชั่นช่วงหลัง ๆ ของเขามันเละเทะมากทั้ง 2 Guns และ Safe House มันก็ชวนให้เราอยากเห็นเขากลับไปจับงานแนวทริลเลอร์ไม่ต้องแอ็คชั่นก็ได้

Director: Antoine Fuqua
TV series: Michael Sloan , Richard Lindheim
screenplay: Richard Wenk

Genre: crime, action, thriller
5/10

ติดตามรีวิวหนังเรื่องอื่น ๆ ได้ที่: https://www.facebook.com/MyFavouriteFilms
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่