ปริศนา สตง.ตีแสกหน้ากองทุน สสส.ผลาญเงินภาษีประชาชนร่วม 13,000 ล้าน (ตอนที่ 1)

กระทู้ข่าว
ปริศนา สตง.ตีแสกหน้ากองทุน สสส.ผลาญเงินภาษีประชาชนร่วม 13,000 ล้าน...กับข้อกังขาเหตุใดสำนักข่าวอิศราฯ มองไม่เห็น (หรือไม่อยากมอง) (ตอนที่1)

เรื่องของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) หน่วยงานภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีที่ช่วงนี้กำลัง “งานเข้า” เพราะจะต้องโชว์พราวบทบาทของกองทุนในการตีปี๊บรณรงค์โครงการเมาไม่ขับ โครงการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

ท่ามกลางข้อกังขาจากผู้คนในสังคม โครงการที่รัฐออกมารณรงค์เหล่านี้เข้าถึงโสตประสาทผู้ขับขี่ยวดยานแค่ไหน ทำไมสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์รวมทั้งเทศกาลวันหยุดพิเศษอื่นๆ ถึงมีแต่ขึ้นเอาๆ ไม่ได้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย จนถึงกับมีการตั้งข้อกังขาอย่างเคลือบแคลงเป็นมหกรรม “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรือไม่

เพราะถลุงราว “สามล้อถูกหวย” แต่กลับไม่สามารถลดสถิติอุบัติเหตุลงมาได้!

เมื่อผู้บริหารโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ออกมาจุดพลุเตรียมเสนอให้รัฐบาล คสช.ขอนำเงินที่จะต้องส่งให้กองทุน สสส.และองค์การกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ หรือไทยพีบีเอส เพื่อขอนำส่งกระทรวงการคลังโดยตรงและให้กองทุนต่างๆ ไปขอรับจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังแทน

แม้ไม่ได้กล่าวถึงต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ทำเอาผู้บริหารกองทุน สสส.นั่งไม่ติด ต่างดาหน้าออกมาตอบโต้และยืนยันในบทบาทของกองทุนในช่วงที่ผ่านมามีผลงานเชิงประจักษ์ และอ้างว่าการดำเนินงานของ สสส.มีการตรวจสอบและความโปร่งใสมากกว่าองค์กรรัฐเสียอีก เพราะมีบอร์ดกำกับดูแลถึง 2 ชั้น คือ คณะกรมการกองทุนที่มีนายกฯ (หรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย) เป็นประธานกับคณะกรรมการประเมินผลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ประเมินผลอีกชั้น

ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผู้คนในสังคมเคลือบแคลงสงสัย กับสิ่งที่กองทุนแจงสังคมนั้นจะคนละเรื่องเดียวกันหรือไม่?

เพราะการที่ผู้บริหารกองทุนและเครือข่ายออกโรงแจกแจงบทบาทกองทุนที่มีการอุดหนุนงบลงไปยังโครงการต่างๆ อย่างการเจียดงบนับ 100 ล้านบาท ลงไปให้กับองค์กรวิชาชีพสื่อ อย่างมูลนิธิและสำนักข่าวอิศราฯที่ได้รับงบสนับสนุนกิจกรรมจากกองทุนปีละนับ 10 ล้านบาท ต่อเนื่องมากว่า 7-8 ปี รวมแล้วเฉียด 100 ล้านบาทนั้น แม้จะอ้างว่า เพื่อพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมสื่อก็เถอะ แต่ก็เป็นเรื่องที่ “หมิ่นเหม่” ต่อจริยธรรมสื่อเองไม่ใช่หรือ?

ยิ่งหากจะได้พิจารณาย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทรวงการคลังเองก็เคยมีแนวความคิดที่จะวางกรอบเพดานรายได้สูงสุดของ 2 กองทุนที่ได้รับ จัดสรรภาษีบาป “สสส.-ไทยพีบีเอส” หลังตรวจสอบพบว่า โครงการรงณรงค์ลดละเลิกยาเสพติดของ สสส.ไม่ประสบความสำเร็จ และมีการใช้จ่าย เงินอย่าง “ไม่คุ้มค่า” ขณะไทยพีบีเอสก็มีการขนเครือข่ายเอ็นจีโอเข้าไปรับงานกันเองสนุกมือ!

โดยหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบไปเมื่อ 21 ส.ค.55 จนทำให้รายได้ของกองทุนสสส.เพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีใหม่ กระทรวงการคลังเป็นห่วงว่าหากไม่มีการกำหนดเพดานรายได้สูงสุดของ สสส.และไทยพีบีเอสแล้ว จะทำให้ทั้ง 2 กองทุนมีเงินสดในมือมากไปจนเกิดการใช้จ่ายอย่างไม่รู้คุณค่า จึงคิดจะกำหนดเพดานการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ 2 กองทุนที่ว่านี้ เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายแบบ “สามล้อถูกหวย” ได้

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2552 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เคยเผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีที่พบว่าในช่วงปี 2544-2550 ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 13,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ทำตามตัวชี้วัดผลการดำเนินงานทำให้การให้เงินอุดหนุนโครงการต่างๆ ด้านสุขภาวะยังไม่มีสิทธิภาพเท่าที่ควร การประเมินผลไม่ครอบคลุม และการให้เงินอุดหนุนแก่ภาคีกลุ่มเดิมๆ ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ ต้นสังกัดของสำนักข่าวอิศราฯที่มี "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" นั่งเป็นผู้อำนวยการคนปัจจุบันนั่นเอง

ผลการตรวจสอบของ สตง.ครั้งนั้น เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของกองทุน สสส.ได้เป็นอย่างดี โดยระบุด้วยว่าการดำเนินงานของกองทุน สสส.นั้น ขาดเครื่องชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลลัพธ์ และผลกระทบของกระบวนการพัฒนาอันเกิดจากการดำเนินงานและเป็นการ “ตีแสกหน้า” บทบาทของกองทุนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ขนาดรัฐบาลชุดก่อนที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขาถึงการใช้จ่ายเงินแบบ “มือเติบ” ถลุงงบประมาณหมดไปกับนโยบาย “ประชานิยม” ยังตั้งแง่เอากับการใช้จ่ายของกองทุน สสส.แห่งนี้ จนถึงกับเตรียมสังคายนาแล้วเหตุใดสังคมจะตั้งข้อกังขาเอากับผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของกองทุนนี้ไม่ได้

แต่ก็ให้น่าแปลก! เรื่องที่กระทรวงการคลังตั้งข้อกังขาเอากับโครงการถลุงงบของกองทุนแห่งนี้ที่ระบุว่าดำเนินการไปอย่าง “ไม่คุ้มค่า” ดังกล่าว รวมทั้งที่ สตง.ออกมาตีแสกหน้าตีแผ่รายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายของกองทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้

แต่ก็ให้น่าแปลกกลับไม่มีหน่วยงานใด หรือองค์กรวิชาชีพสื่อใดจะล้วงลูกเข้าไปดูไส้ในกองทุน สสส.ที่ว่าแม้แต่น้อย แม้แต่ “สำนักข่าวอิศราฯที่มี "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" นั่งบริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการ ที่ดูจะรู้ตื้นลึกหนาบางกองทุนนี้มากที่สุด และดูจะเป็นหน่วยงานที่ชื่นชอบการขุดคุ้ยการถลุงงบประมาณในลักษณะนี้ แต่น่าแปลกใจที่สุดกรณีดังกล่าวที่สำนักข่าวฯกลับเงียบกริบ (ติดตามตอนที่ 2 จะได้รู้ความจริงทั้งหมด)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่