ไซปรัส – บันไดหินแห่งอโฟรไดท์ที่แตกร้าว_02

สวัสดี ชาวพันทิป ทุกท่านอีกครั้งนะครับ ถ้าท่านใดต้องการอ่าน ภาคที่ 1 ตอนที่ 1 คลิกลิงก์ข้างล่างได้เลยนะครับ

ภาคที่ 1 ตอนที่ 1 โหมโรงและไซปรัสในช่วงก่อนคริสต์ศักราช
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ภาคที่ 1 ตอนที่ 2 การล่มสลายของกรีกและความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน

อเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกแห่งมาเซโดเนียยาตราทัพออกจากบ้านเกิดไปกว่า 15 ปี คิดระยะทางที่ยาตรากองทัพอันเกรียงไกรได้มากกว่า 18,000 กิโลเมตร ชนะทุกศึกจากกรีก อียิปต์ เปอร์เซีย จนถึงทางตะวันออกของปากีสถานและอินเดียตะวันตก ถ้าทหารของพระองค์ไม่เกิดความเบื่อหน่ายสงครามและคิดถึงบ้าน เชื่อได้ว่าพระองค์คงเดินทางมาถึงเมืองไทยเป็นแน่แท้ ในพระชนมายุเพียง 33 ชันษาอเล็กซานเดอร์มหาราชได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงบาบิโลนด้วยไข้ขึ้นสูง ( คาดว่าเป็นมาลาเรีย ) ในขณะยาตราทัพกลับบ้านเกิดที่มาเซโดเนีย


หมายเหตุ : เส้นทางการเดินทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช ผ่านภูเขา ทะเลทราย ป่า และหลังจากศึกที่อินเดียก็ทรงเดินทางกับมาเสียชีวิตที่บาบิโลน


หมายเหตุ : เมืองบาบิโลนซึ่งมีสวนลอยแห่งบาบิโลนอยู่ อเล็กซานเดอร์มหาราชทรงชื่นชอบและมีพระประสงค์ที่จะแวะมาพักในระหว่างที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณ


หมายเหตุ : (ภาพวาดโดย Karl von Piloty) เหล่าแม่ทัพจูบลาอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 13 มิถุนายน 323 ปีก่อนคริสต์ศักราช ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แม้ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ อย่าง พระเจ้าออกุสตุสแห่งจักรวรรดิโรมัน นโปเลียนมหาราช ยังต้องหลั่งน้ำตาให้กับความสามารถของพระองค์


หมายเหตุ : การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของอเล็กซานเดอร์มหาราชยังคงเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้ จากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์กรีกไดโอโดรัส (Diodorus) ได้บรรยายว่าพระศพถูกทำให้เป็นมัมมี่และเคลื่อนย้ายไปที่อเล็กซานเดรียเมืองที่ถูกตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอียิปต์ แต่ปัจจุบันหลุมศพของอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยังไม่ถูกค้นพบ เรื่องนี้จึงยังคงเป็นปริศนาอยู่ถึงทุกวันนี้


หมายเหตุ : รูปสลักหินอ่อนของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ถูกพบบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นหลุมศพของพระองค์ที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองซึ่งพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา ปัจจุบันรูปสลักหินอ่อนนี้ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษ มีผู้เคยถามอเล็กซานเดอร์มหาราชว่า „ถ้าท่านจากไปแล้วจะให้ใครเป็นผู้สืบอำนาจต่อ“ พระองค์ตอบกลับไปว่า „ผู้ที่แข็งแกรงที่สุดในพวกท่าน“

เนื่องด้วยการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของอเล็กซานเดอร์มหาราช ทำให้การพลัดเปลี่ยนอำนาจในจักรวรรดิมาเซโดเนียไม่เสถียร เจ้าเมืองแต่ล่ะแห่งที่มีอำนาจต่างแยกออกมาตั้งอาณาจักรของตนเอง หนึ่งในนั้นคือทอเลมี(Ptolemy)หรือคนไทยเรียกว่าปโตเลมี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดทหารองครักษ์ของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่คุมหัวเมืองอยู่ที่อียิปต์ได้ก่อตั้งราชวงศ์ปโตลีมีขึ้นมาเป็นเอกราชจากอาณาจักรมาเซโดเนีย โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่อเล็กซานเดรียซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำไนล์ที่ไหลสู่ทะเลเมติเตอร์เรเนียน และครอบคลุมพื้นที่ไปถึงไซปรัสจนถึง 58 ปีก่อนคริสต์ศักราช


หมายเหตุ : สีน้ำเงินคืออาณาจักรปโตเลมีซึ่งผู้ปกครองมีเชื้อสายกรีก พระนางคลีโอพัตราที่คนไทยรู้จักกันดีก็มาจากราชวงศ์ปโตเลมีเช่นเดียวกันครับ


หมายเหตุ : รูปสลักของพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 ตอนนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ จะสังเกตได้ว่าหน้าตาเป็นคนกรีกแท้ๆเลย ลำคอใหญ่ อกกว้าง น่าที่จะเป็นนักรบที่เคยออกศึกมามากมาย ซึ่งต่อมาพระองค์ก็ได้ตำแหน่งฟาโรห์แห่งอียิปต์ด้วย

ในยุคเฮเลนิสติก(Hellenistic Period) ไซปรัสได้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอาณาจักรกรีกและอาณาจักรปโตเลมี ทำให้เมืองปาโฟส (Paphos) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ เจริญขึ้นมากกว่าเมืองซาลามิส (Salamis) หัวเเมืองทางตะวันออก เพราะมีทำเลใกล้กับกรีกและอียิปต์


หมายเหตุ : ตำแหน่งเมืองปาโฟส


หมายเหตุ : อาณาบริเวณของหลุมฝังศพกษัตริย์ที่เนียปาโฟส ( Nea Paphos = Pafos) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงราชวงศ์ปโตเลมี (294 – 58 ปีก่อนคริสต์ศักราช)


หมายเหตุ : ภาพสเก็ดหลุมศพกษัตริย์ที่เนียปาโฟสโดยนักโบราณคดี Ludwig Ross ในปี ค.ศ. 1845 ก่อนที่จะเริ่มขุดในปี ค.ศ. 1870


หมายเหตุ : หลุมฟังศพกษัตริย์ที่เนียปาโฟสหลังจากขุดเและบูรณะเสร็จ จะเห็นได้ชัดว่าสถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นศิลปะแบบกรีกดั่งเดิมไม่ผสมศิลปะโรมัน โคนเสาใหญ่ เสายกสูงพร้อมหัวเสาดอริก (Doric) ที่ไม่มีลวดลาย ตามลำเสาเป็นร่องรอยเว้าตามแนวตั้ง มีคานหินวางเป็นแนวนอน ความสมบูรณ์ของศิลปะขนาดนี้ไม่แปลกใจเลยที่ ปาโปสถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งเมือง

ในขณะที่ทางจักรวรรดิมาเซโดเนียเริ่มมีการแตกแยก อาณาจักรโรมันซึ่งอยู่ที่คาบสมุทรอิตาลีทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเซโดเนียก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้นมา การจัดระบบสังคมชาวโรมันในลักษณะสาธารณรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยแห่งแรกของโลก ผนวกกับลักษณะนิสัยของชาวโรมันที่เชื่อฟังผู้นำและมีระเบียบวินัย ทำให้สังคมของชาวโรมันพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว


หมายเหตุ : ถ้าท่านใดเคยไปที่กรุงโรมคงได้เห็นสัญลักษณ์ SPQR อยู่ทั่วเมือง นี่แหละครับคือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกการปกครอง มีชื่อเต็มคือ „Senatus Populusque Romanus“ (วุฒิสภาและประชาชนโรมัน) ซึ่งประกอบไปด้วย กงสุล (Consul) สภาซีเน็ต (Senate) และ สภาราษฏร (Assebly of Citizens) คอยคานอำนาจซึ่งกันและกัน โดยมีกฎหมายสิบสองโต๊ะซึ่งเป็นกฏหมายฉบับแรกของโลกเป็นตัวควบคุมสังคม


หมายเหตุ : กฎหมาย 12 โต๊ะที่ถูกจารึกบนแผ่นสำริด 12 แผ่นว่าด้วยสิทธิทางการเมืองของพลีเบียน(ราษฏรทั่วไป)


หมายเหตุ : สาธารณรัฐโรมันในยุคกำลังเริ่มรุ่งเรือง (สีน้ำตาล) ซึ่งยังมีความขัดแย้งกับอาณาจักรคาร์เธจซึ่งมีเชื้อสายมาจากชาวฟินิเชีย (สีเขียวอ่อน) และอาณาจักรมาเซโดเนียของกรีก (สีเหลือง) อยู่

เมื่อสาธารณรัฐโรมันมีความแข็งแกร่งจึงเริ่มขยายอำนาจไปทางฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรอิตาลีทำสงครามหลายครั้งด้วยกันกับอาณาจักรกรีกมาเซโดเนีย และ ทางตะวันตกกับอาณาจักรคาร์เธจ กระทั่งในปี 168 ก่อนคริสต์ศักราช ทหารโรมัน 29,000 สามารถเอาชนะกองทัพของอันยิ่งใหญ่ของกรีกซึ่งมีกำลังพลถึง 44,000 คนซึ่งมีกองกำลังฟาแลงซ์ (Phalanx)ได้ในยุทธการพิดนา (Pydna)  และได้ยุบอาณาจักรมาเซโดเนียของกรีกลงไปอยู่ในฐานะมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน


หมายเหตุ : กระบวนทัพฟาแลงซ์ของมาเซโดเนียอันเรื่องชื่อของกรีก ใช้ทหารถือหอกยาวประมาณ 5 เมตรกับโล่พร้อมดาบสั้นไว้สู้แบบประชิดตัวเดินด้วยกันไปเป็นแถวๆ


หมายเหตุ : สมรภูมิรบที่เมืองพิดนา (Pydna) ด้วยความชาญฉลาดของแม่ทัพโรมันปอลล์ลัส (Paullus) ที่เห็นว่ากระบวนทัพฟาแลงซ์ของกรีกซึ่งนำโดยเพอร์ซิอัส (Perseus) นั้นน่ากลัวในการเผชิญซึ่งๆหน้าแต่เนื่องจากหอกที่ยาวกว่า 5 เมตรจึงขาดความคล่องตัว ปอลล์รัสจึงได้แบ่งกำลังออกเป็นสามส่วน ส่วนหน้าให้พัวพันกับทัพฟาแลงซ์เบื้องหน้า เมื่อการสู้รบติดพันจึงให้กองกำลังอีกสองกองอ้อมไปปีกซ้ายและขวาพื่อเข้าจู่โจมทัพฟาแลงซ์จากด้านหลัง ทำให้กองทัพของเปอซัสตายกว่า 25,000 คน ส่วนเพอร์ซิอัสสูญเสียกำลังพลไปเพียง 1,000 คนเท่านั้น


หมายเหตุ : ภาพวาดเพอซิอัสยอมจำนนต่อปอลล์ลัส วาดโดย Jean-Francois Pierre Peyron ในปี ค.ศ. 1802 ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในบูดาเปส  และ ณ เวลานี้เองถือเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิมาเซโดเนียไปจากแผนที่โลก


หมายเหตุ : ภาพวาดการเฉลิมฉลองชัยชนะของปอลล์รัสกลับกรุงโรมอย่างยิ่งใหญ่ วาดโดย Carle Vernet ในปี ค.ศ. 1789

หลังจากชนะอาณาจักรกรีกมาเซโดเนียได้แล้ว ทางโรมก็เล็งที่จะไปรบกับอาณาจักรคาร์เธจ (Carthage) ให้เด็ดขาด ซึ่งโรมเองเคยพลาดท่าสูญเสียกำลังมากมายในสงครามพิวนิค (Punic) ครั้งที่ 2 ต่อ ฮันนิลาล บาคาร์ (Hannibal Barkas) แห่งอาณาจักรคาร์เธจ ในช่วงปี 218 – 202 ก่อนคริสต์ศักราช แม้ในที่สุดโรมจะเป็นฝ่ายชนะในศึกครั้งนั้นก็ตาม เมื่อถึงเวลาเหมาะสมในปี 149 ก่อนคริสต์ศักราช ทางโรมก็ได้รับอนุมัติจากสภาซีเน็ตให้ไปปราบอาณาจักรคาร์เธจให้เด็ดขาด เพราะโรมไม่เคยไว้ใจชาวฟินิเชียเลยจากเหตุของสงครามพิวนิคครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งสงครามพิวนิคครั้งที่ 3 นี้กินเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นอาณาจักรคาร์เธจก็ถูกลบออกไปจากแผนที่โลก ทำให้สาธารณรัฐโรมันขยายอาณาเขตเพิ่มเติมขึ้นมาอีก


หมายเหตุ : เส้นสีเขียวเป็นเส้นทางเดินทัพของฮันนิบาล (Hannibal) ในสงครามพิวนิค (Punic) ครั้งที่ 2 ที่เดินทางในเส้นทางที่ชาวโรมคาดไม่ถึง คือ นำทั้งช้าง ม้า ทหารลัดเลาะเทือกเขาเอลป์ที่สูงชันและหนาวเย็นมาตีตลบหลังกองทัพโรมัน จนทำให้กรุงโรมเกือบแตก แต่ทางโรมใช้วิธีปกป้องเมืองและตีตลบหลังไปที่เมืองสำคัญของอาณาจักรคาร์เธจตามเส้นสีแดง ทำให้ฮันนิบาลเองต้องยกทัพกลับมาช่วยเมืองหลวง


หมายเหตุ : รูปแกะสลักหินเต็มตัวของฮันนิบาล ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ฮันนิบาลนักรบเชื้อสายฟินิเชียผู้ที่ชาวโรมได้ยินชื่อแล้วต่างหวาดกลัวไปตามๆกัน เค้าผู้นี้เป็นผู้ที่สร้างความสูญเสียให้กับกองทหารโรมันมากที่สุดจากประวัติศาสตร์การรบของชาวโรมัน จุดจบของฮันนิบาลนั้นถูกทหารโรมันไล่ล่าไปถึงตุรกี ฮันนิบาลเห็นว่ารบแพ้แล้วจึงตัดสินใจกินยาพิษฆ่าตัวตายแทนการยอมก้มหัวให้กับชาวโรมัน ชาวโรมันแม้ว่าจะเกลียดฮันนิบาลมากเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับและเทิดทูนถึงความเป็นนักรบของเขา เพราะจิตใจของคนโรมันก็มีความเป็นนักรบเช่นกัน


หมายเหตุ : ภายหลังเสร็จศึกจากสงครามพิดนา และสงครามพิวนิคครั้งที่ 3 ทำให้สาธารณรัฐโรมันขยายตัวจากเดิมที่เป็นสีเขียวโดยได้พื้นที่สีน้ำตาลเพิ่มขึ้นมาในปี 100 ก่อนคริสต์ศักราช
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่