สธ. เผยรอบ 10ปี พบวัยรุ่นไทย ตั้งครรภ์คลอดลูก 1 ล้านกว่าคน ส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ปีละกว่า 14,000 ล้านบาท

สธ. เผยรอบ 10ปี พบวัยรุ่นไทย ตั้งครรภ์คลอดลูก 1 ล้านกว่าคน ส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ปีละกว่า 14,000 ล้านบาท


ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขป้องกันปัญหาวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบทั้งต่อสังคม คุณภาพประชากร เศรษฐกิจ หรืออาจนำไปสู่การทำแท้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเยาวชนหญิง โดยสถานการณ์ในปี 2555 มีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรรวม 133,176 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ของหญิงคลอดทั้งหมดที่มี 801,737 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2546 ซึ่งมีจำนวน 95,879 คน ขณะที่ยอดรวม 10 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2555) มีวัยรุ่นกลุ่มนี้คลอดบุตรรวม 1 ล้านกว่าคน

ผลการวิจัยของศูนย์อนามัยที่ 8 จ.นครสวรรค์ ซึ่งศึกษาในแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่อยู่ใน 14 จังหวัดและคลอดบุตรคนแรกไม่เกิน2 ปี จำนวน 2,900 ตัวอย่างในปี 2555 พบว่า ร้อยละ 68 เป็นนักเรียน นักศึกษา  การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น 1 คน  ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเฉลี่ย  119,998 - 324,928 บาท  กล่าวโดยรวมแล้วจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งป้องกันปัญหาโดยเร็ว  โดยหัวใจของความสำเร็จ จะต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายหน่วยงาน      
กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาการบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยเน้นการทำงานเชื่อมโยงร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นหลักในการทำงานเชิงรุก ใช้ความเชี่ยวชาญเป็นเครือข่ายให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลอนามัยเจริญพันธุ์แก่เด็กนักเรียน ส่วนสถานบริการ สาธารณสุข ให้บริการเชิงรับ ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดฯทั่วประเทศ ได้ตั้งคลินิก บริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและใช้บริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ง่าย เร็ว อบอุ่น และปลอดภัย

ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า อัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์ สูงขึ้นต่อเนื่อง วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกร้อยละ 20  และร้อยละ 80 ของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ ร้อยละ 30 จบด้วยการทำแท้ง จึงได้พัฒนาระบบบริการ โดยจัดตั้งเครือข่ายการดูแลและส่งต่อวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัยในโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 9 โดยใช้ทีมแพทย์อาสาจากโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย  ใช้ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ

1.สร้างค่านิยมไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยรณรงค์ให้ความรู้ในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้ปกครอง ครู ให้เข้าใจถึงพัฒนาการ พฤติกรรมของวัยรุ่น

2. สร้างค่านิยมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย คุมกำเนิดที่ถูกวิธี และประสานความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในการสนับสนุนให้วัยรุ่นเข้าถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสม

3.ให้บริการฝากครรภ์ที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยตั้งใจและตั้งครรภ์ โดยไม่พร้อม แต่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อหลังรับคำปรึกษา เพื่อลดปัญหาเด็กทารกน้ำหนักตัวน้อย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

และ 4. การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน กรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้  เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย http://news.voicetv.co.th/thailand/143750.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่