พระธรรมโมลี ดร.(ทองอยู่ ญาณวิสุทฺโธ) พระผู้เกิดมาเพื่อให้ พระผู้เปี่ยมด้วยใจเมตตา

กระทู้สนทนา
ความเดิม................

      เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ผู้เขียนได้มีโอกาสอันสุดแสนประเสริฐ ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสเช่นว่านี้ นั่นคือ
การได้เข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรตัวน้อยและเข้ามาอาศัยร่มเงาของวัดเก่าๆ คร่ำคร่านามว่า วัดศาลาลอย
(ซึ่งต่อมากลายเป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบ) และภายใต้ใบบุญของพระเถระผู้เป็นพหูสูต เช่น พระศรีธีรพงศ์
(ทองอยู่  ญาณวิสุทฺโธ ป.ธ.๙) ในขณะนั้น


          ขอเล่าสภาพความเก่า คร่ำคร่า ของวัดศาลาลอยในตอนนั้น พอให้เข้าใจความหมายพอสังเขป
เพราะภาพปัจจุบันกับภาพอดีตช่างต่างกันไกลสุดประมาณได้ ตอนนั้น วัดศาลาลอยมีกุฎีสงฆ์ที่เป็นที่พำนัก
ของพระภิกษุและสามเณรอยู่เพียงหลังเดียวโดดๆ เป็นกุฏิไม้หลังใหญ่ และมีศาลาไม้อีกหลังไว้สำหรับประกอบ
พิธีทำบุญสำหรับญาติโยมในวันสำคัญต่างๆ จำได้ไม่แม่นนักว่า ในตอนนั้นมีพระภิกษุและสามเณรจำนวนกี่รูป
แต่ส่วนประกอบหลักของวัดศาลาลอยในตอนนั้น คือ มีเจ้าอาวาสนามว่า พระศรีธีรพงศ์(ทองอยู่  ญาณวิสุทฺโธ ป.ธ.๙)
มีรองเจ้าอาวาส ๒ รูป คือ พระปลัดเทือก อุตฺตโม (ต่อมาเป็นพระครูอุดมกิจจาทร ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว)
และอีกรูปคือ พระมหาสมร อภินนฺโท มีพระภิกษุจำนวนหนึ่งประมาณไม่ถึงสิบรูป มีสามเณร
(ส่วนมากเป็นสามเณรน้อยๆที่เพิ่งจบชั้น ป.๖ มาบวช) จำนวนมากเกือบร้อยรูป หรืออาจจะมากกว่า
และมีลูกศิษย์วัดอีกจำนวนหนึ่ง (ประมาณ ๕ - ๗ คน) ส่วนที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ ญาติโยมผู้คอย
ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนวัดและพระเณรในวัด คุ้มวัดศาลาลอยคือหนึ่งในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของที่แห่งนี้

          วัดศาลาลอยในตอนนั้น ไม่มีกำแพงวัด รอบๆวัดด้านตะวันตกประกอบด้วยชุมชนแออัด ด้านตะวันออก
เป็นโรงเรียนเทศบาล ไม่มีเมรุเผาศพ มีสระน้ำเก่าแก่และลึกมากอยู่ทางตะวันออก มีอุโบสถเก่าๆ เล็กๆ
เป็นทั้งสถานที่ประกอบสังฆกรรม เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ เป็นห้องเรียน และเป็นที่ขัดเกลาจิตใจของสามเณรทั้งหลาย
ซึ่งหลวงพ่อใช้วิธีการอันแยบยลด้วยการพูด เล่าเรื่อง หลังจากการทำวัตรเช้า - เย็น จบลง เป็นประจำทุกวัน



          กิจวัตรประจำวันของสามเณรน้อยทั้งหลาย นอกจากศึกษาท่องบ่นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยและบาลีแล้ว
ยังมีการเล่าเรียนด้านปริยัติธรรมสายสามัญ หรือ สายสามัญศึกษาตั้งแต่ มัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนถึง ๖ ตามตารางที่กำหนด ดังนี้
    - ตื่นนอน ตี ๔ สรง(อาบ)น้ำ แปรงฟัน แต่งตัว(ครองผ้าแบบรัดเอว) ถือไฟฉายและตำรา เดินไปท่องไป และเข้าอุโบสถ
เตรียมทำวัตร สวดมนต์เช้า
    - ตี ๔ ครึ่ง(๐๔.๓๐ น.) ทำวัตรเช้า
    - ๐๕.๓๐ - ๐๖.๐๐ น. ออกบิณฑบาต
    - ๐๗.๐๐-๐๗.๓๐ น.ฉันภัตตาหารเช้า
    - ๐๘.๐๐ - ๑๐.๓๐ น. เรียนวิชาธรรม-วินัย (สำหรับนักธรรมชั้นตรี ถึงชั้นเอก) และเรียนบาลี สำหรับประโยค ๑-๒ และชั้นเปรียญธรรม ๓-๔ ประโยค
    - ๑๑.๐๐ ฉันภัตตาหารเพล
    - ๑๒.๐๐ ล้างจานชาม(มีเวรในแต่ละวัน) และสรงน้ำ แต่งตัว เตรียมไปเรียนสายสามัญศึกษา
    - ๑๓.๐๐ - ๑๙.๐๐ เดินทาง (ย้ำว่าเดิน) ไปศึกษาเล่าเรียนสายสามัญศึกษาที่โรงเรียนปริยัติโกศลวิทยา ตั้งอยู่ที่ วัดกลาง สุรินทร์ ระยะทางประมาณ ๑ กม.
    - ๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ ทำวัตร สวดมนต์เย็น หลังจากเดินทางกลับจากการศึกษาเล่าเรียน
    - ๒๐.๓๐ - ๒๒.๐๐ เป็นช่วงการท่องจำวิชาบาลี หรือ พระธรรมวินัย โดยวิธีการท่องจำให้ขึ้นใจ เสร็จแล้วเข้าไปกราบพระอาจารย์และนั่งพนมมือท่องจำให้พระอาจารย์ฟัง จึงจะปล่อยให้เข้านอนหรือปล่อยฟรีสไตล์ได้

      หมายเหตุ...โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญศึกษา ดังกล่าว เป็นการริเริ่มก่อตั้งโดยพระเดชพระคุณ
หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้น คือ พระราชสิทธิโกศล(เทพ นนฺโท) โดยมีพระศรีธีรพงศ์ เป็นครูใหญ่
และคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ให้การอนุเคราะห์ รับพระภิกษุ สามเณร ที่เข้ามาบวชเนื่องจากขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบ
เข้ามาศึกษาเล่าเรียน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของลูกชาวบ้าน ชาวนาชาวไร่


เกี่ยวกับพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระธรรมโมลี...............

          สมณศักดิ์แรกในฐานะพระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค ของหลวงพ่อ คือ
พระศรีธีรพงศ์ ฯ คุณวุฒิท่านตอนนั้น คือ ป.ธ.๙ , พ.ม.,พธ.บ.,และ M.A. จากประเทศอินเดีย มากพอที่จะทำให้
หูตาของสามเณรน้อยๆอย่างพวกผู้เขียน ตื่นเต้น ปนกับความศรัทธา เชื่อถือ อย่างชนิดที่เกิดมายังไม่เคยพบ เคยเห็น
ใครที่มีความรู้มากพร้อมขนาดนี้มาก่อน ซึ่งก็จริงอย่างนั้น เพราะในขณะนั้น จะหาใครที่เรียนจบปริญญาโท แทบไม่มี
ยิ่งเปรียญธรรม ๙ ประโยคนั้น ไม่ต้องพูดถึง หายากยิ่งกว่าทอง

          หลวงพ่อทองอยู่ ท่านเป็นพระที่เรียบง่ายมาก ไม่ถือตัว ให้ความเป็นกันเองกับลูกศิษย์ ยิ่งกว่าพ่อกับลูก
ตลอดระยะเวลา ๖ ปี ที่ได้อาศัยท่านอยู่ ตั้งแต่อายุ ๑๔ - ๑๙ ปี ท่านเลี้ยงดู ให้ความรู้ ให้สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ
จะซื้อได้ ท่านเน้นการพัฒนาจิตใจ พัฒนาคน ก่อนการพัฒนาวัตถุ สมัยแรกๆที่มีการเปิดสำนักเรียนทั้งวิชาการสายสามัญ
และวิชาบาลี นั้น สภาพความเป็นอยู่ของสามเณรน้อยทุกรูป อยู่กันอย่างแออัด ยัดเยียด เนื่องจากสถานที่มีจำกัด
แต่จำนวนเด็กๆที่พ่อแม่พามาบวชเรียน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปากต่อปาก ผู้คนบอกกันต่อ ถึงความเอาใจใส่ของหลวงพ่อ
ต่อบุตรหลานของชาวบ้านที่เข้ามาบวช มาอยู่ด้วย จากกุฎีไม้หลังใหญ่ใต้ถุนสูง กลายเป็นไม่มีใต้ถุนเพราะต่อเติมเป็นห้องพัก
ของพวกสามเณร ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงสิ่งปลูกสร้างที่คนงานก่อสร้าง ไปปลูกสร้างเป็นที่พักชั่วคราว
นั่นแหละคือที่พักของเณรวัดศาลาลอยในตอนนั้น

          จากสภาวะแวดล้อมอันจำเป็นดังกล่าว บีบบังคับให้สามเณรน้อยผู้ไม่ประสีประสาต่อความสะอาด
ต้องกลายสภาพเป็นสามเณรผู้มีหิดติดตัวแทบจะทุกผู้คน นั่นเองคือสิ่งที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ ยังกล่าวขวัญถึงมัน
อย่างไม่รู้จักเบื่อและยิ้มได้อย่างภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมชะตาหิด

          เช่นเดียวกัน กับการเติบโตขึ้นของผู้คน สามเณรน้อยเริ่มเติบโต จากเณรนักธรรม เป็นเณรมหาเปรียญ จากเณรขี้หิด
กลายเป็นเณรหนุ่มที่มีรอยแผลเป็นจากขี้หิด สถานที่ก็เช่นกัน มีการพัฒนาขึ้นบ้าง สระบ่อใหญ่ก็ถูกถม ก่อสร้างเมรุเผาศพ
ศาลาการเปรียญถูกสร้างใหม่ในบริเวณเดิม กุฎีที่พักสงฆ์ถูกรื้อ สร้างขึ้นใหม่ สถานที่เรียนก็พัฒนากลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์
สาขาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          หลวงพ่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากคุณงามความดีมาตามลำดับ กล่าวคือ จาก พระศรีธีรพงศ์ มาเป็น
พระราชวิสุทธิเมธี และตามด้วย พระเทพปัญญาเมธี ปัจจุบันคือ พระธรรมโมลี  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร
หลวงพ่อก็คือหลวงพ่อ พระผู้เปี่ยมด้วยเมตตา คือ หลวงพ่อทองอยู่ของลูกศิษย์มากหน้าหลายตา
จากรุ่นหนึ่งสู่อีกหลายรุ่นที่หลวงพ่อเฝ้าพร่ำสอนเรื่อยมา



          ลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อ นามว่า น.ท.วิเชียร  ปราบพาล (เปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะเป็นสามเณร)
ผู้ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ของศิษย์ของหลวงพ่อได้กล่าวกับศิษย์สายตรงจากวัดศาลาลอยไว้เมื่อเร็วๆนี้ว่า
"ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อมีคุณูปการมากมายต่อสังคม ต่อพระบวรพุทธศาสนา จึงมักจะมีผู้ต้องการเข้าไป
กราบนมัสการหลวงพ่ออยู่เสมอมิได้ขาด ในจำนวนนั้น มีทั้งศิษย์เก่า ใหม่ มีทั้งที่อยากเป็นศิษย์
ทำให้หลวงพ่อเหน็ดเหนื่อยและอาจเข้าหาลำบาก ดังนั้น พวกเราในฐานะลูกศิษย์ที่หลวงพ่อเฝ้าฟูมฟักมาแต่แรก
เมื่อถึงเวลานี้ เวลาที่ทุกคนพอจะดูแลตัวเองได้แล้ว ควรที่ทุกคนจะหันกลับมาดูแลหลวงพ่อซึ่งก็เปรียบเสมือนพ่อแท้ๆคนหนึ่งของพวกเรา"

          เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะลูกศิษย์ทุกรุ่นของหลวงพ่อ ได้รวมตัวกันได้ประมาณกว่าสามสิบคน
เข้าไปกราบหลวงพ่อและถวายผ้าป่าสามัคคี สิ่งสำคัญที่หลวงพ่อกล่าวกับลูกศิษย์จากจิตใจอันอาบอิ่มด้วยปีติ
ความว่า "ตอนนี้เรา(หมายถึงหลวงพ่อ) ก็อายุมากแล้ว ๘๒ ปีแล้ว อาจเหลือเวลาที่จะอยู่ให้พวกเธอกราบไหว้อีกไม่นานนัก
แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นพวกเรา มากันมากๆ รู้สึกกระชุ่มกระชวย มีแรงอย่างแปลกประหลาด...."

          ในคราวที่พวกเรา(ลูกศิษย์ตัวแสบทั้งหลาย)ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อใกล้ๆกันเยอะๆ พวกเราจะแซวหลวงพ่อว่า
ลูกศิษย์จอมซนของหลวงพ่อมากันเยอะจะทำให้หลวงพ่อปวดหัวนะครับ ท่านยิ้มอย่างมีเมตตาแล้วกล่าวสวนกลับมาว่า
"หลวงพ่อชินแล้วกับพวกเธอ ไม่ใช่เรื่องใหม่" เล่นเอาพวกเรา หัวเราะกันครืน

          ท่านเป็นคนที่มีอารมณ์ขันเป็นเลิศ มีวาทศิลป์ในการพูด ความลับหนึ่งที่เพิ่งออกจากปากหลวงพ่อเล่นเอา
พวกเรากลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว ท่านเล่าให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่ง ตอนที่เข้มงวดกับพวกเรานั่นแหละ ท่านถือไม้เรียวจะตีเณรรูปหนึ่ง
แต่เณรน้อยนั้นวิ่งหนี ท่านเลยจะไล่ให้ทัน เลยพลาดล้มลง ดีที่เณรรูปนั้น หันกลับมาเห็นศัตรูเพลี่ยงพล้ำและมีน้ำใจ
รีบวิ่งกลับมาช่วยพยุงหลวงพ่อลุกขึ้น เล่นเอาเคล็ดขัดยอกไปหลายวัน...ท่านกล่าวด้วยดวงตาที่มีความสุข

          มีเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นและเมื่อได้กลับมาพูดถึงมันอีกครั้ง ทำให้พวกเราหัวเราะอย่างมีความสุข
ครั้งหนึ่ง....ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นเณรน้อยในวัยกำลังกินกำลังนอน พอถึงเวลาที่ต้องตื่นกลับนอนขี้เซา
เหมือนเคยกับที่หลวงพ่อปฏิบัติอย่างเข้ม เมื่อถึงเวลาตื่นเช้า ตีสี่ ท่านจะต้องถือไม้เรียว เดินเคาะตามห้อง
ไล่ให้ลูกเณรตื่นมาทำกิจวัตร อ้อ...ลืมบอกไปว่า ห้องที่พวกเณรนอนจำวัดนั้น เป็นห้องที่ไม่มีประตู
สามารถเดินทะลุถึงกันได้หมด ที่เรียกห้องก็แค่เอาผ้าจีวรผืนใหญ่มาผูกเชือกกั้นกลางเท่านั้น
พอท่านเดินมาถึงห้องที่ผู้เขียนนอนอยู่ เคาะไม้ก็แล้ว ยังไม่ตื่น ท่านเลยใช้มือดึงขาเณรน้อยนั้น
แล้วลากออกจากมุ้ง ผู้เขียนรู้สึกตัว กลับนึกไปว่าเพื่อนแกล้ง จึงใช้ขานั้นถีบออกไป หลวงพ่อท่านจึงเปล่งเสียงออกมา
ทำให้ต้องรีบคุกเข่ากราบขอโทษท่านอย่างรู้สึกผิด

พระผู้เกิดมาเพื่อให้ พระผู้เปี่ยมด้วยใจเมตตา...........................

          บุคลิกของหลวงพ่อนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ท่านจะมีรูปร่างผอมบาง เวลาเดินท่านจะแคล่วคล่องว่องไว
ท่านเป็นพระที่ไม่สะสมอะไรเลย นอกจากคุณงามความดี ในย่ามของท่านแทบไม่มีสิ่งของใดอยู่ในนั้น
เวลาได้รับย่ามจากท่านรู้สึกเบาหวิวเหมือนไม่มีอะไรอยู่เลย มีครั้งหนึ่ง ท่านกลับจากกิจนิมนต์ข้างนอก
นั่งสามล้อปั่นกลับมาถึงวัด เห็นท่านล้วงย่ามอยู่ตั้งนานเพื่อหาค่ารถให้สามล้อ แต่ก็ไม่มีอะไรเลยในย่ามนั้น
จนท่านเรียกเณรเพื่อยืมเงินค่ารถให้สามล้อก่อน

          สมัยแรกๆที่พวกลูกศิษย์พากันกราบลาสิกขาเพื่อออกไปเผชิญโลกภายนอก นั้น
ท่านมีแต่หยิบยื่นปัจจัยที่พอมีบ้างมอบให้ทุกคนในทุกคราวที่พวกลูกศิษย์เข้ามากราบท่าน
คราวละสองสามร้อยบาทบ้าง ตามแต่ท่านจะพอมี
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่