กฎหมายใหม่ ภาษีคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญ สามารถอุดช่องโหวทางภาษีได้จริงหรือ

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ( มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) เนื้อหาสำคัญคือยกเลิกมาตรา 42 (14) ซึ่งมีผลทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน คือเสียภาษีจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลแล้ว ยังต้องเสียภาษีจากเงินส่วนที่แบ่งอีก

มาตรา 42 (14) กำหนดให้ยกเว้นภาษี “เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม” ซึ่งตามหนังสือ ”คำอธิบายประมวลรัษฎากร” ของศ. ไพจิตร โรจนวานิช ได้กล่าวว่า ”เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ได้เสียภาษีเงินได้จากเงินได้ของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลไปแล้ว ฉะนั้น กำไรที่นำมาแบ่งปันกันภายหลังจึงไม่ควรต้องเสียภาษีเงินได้ซ้ำอีก”

มีการชี้แจงว่า  กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะอุดช่องโหว่ ที่คนทำอาชีพอิสระ อาทิ นักแสดง นักจัดการรายการ แพทย์ ทนายความ เป็นต้น ที่ไปจดทะเบียนในห้างหุ่นส่วนสามัญและคณะบุคคล เพื่อกระจายฐานภาษีเพื่อให้การเสียภาษีบุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้าน้อยลงนั้น *

ในความเป็นจริงจะสามารถอุดช่องโหว่ได้จริงหรือ เพราะถ้ายิ่งเพิ่มคณะบุคคล และเพิ่มบุคคลในคณะบุคคล ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลงมาก เช่น นักแสดงถ้ามีรายได้ 10 ล้านต่อปี ถ้าเสียภาษีโดยถือเป็นรายได้ตัวเองทั้งหมด จะเสียภาษีประมาณ  2.8 ล้านบาท (หักแค่ค่าใช้จ่ายกับค่าลดหย่อนส่วนตัวเท่านั้น ยังไม่ได้คำนึงถึงค่าลดหย่อนอื่นๆ)  แต่ถ้าตั้งคณะบุคคล 10 คณะๆ ละ 4 คน จะเสียภาษีคณะบุคคล 25,500 * 10 คณะ = 255,000 บาท และเสียภาษีบุคคลธรรมดาจากเงินส่วนแบ่งประมาณ 149,062 บาท (กรณีคนที่ร่วมในคณะบุคคลไม่มีรายได้อื่น) ดังนั้นนักแสดงคนนี้ก็จะเสียภาษีรวม 404,062 บาท ทำให้เสียภาษีน้อยลงประมาณ 2.4 ล้านบาท จึงเห็นว่ากฎหมายใหม่นี้ก็ไม่สามารถอุดช่องโหว่ได้อยู่ดี

แต่กฏหมายใหม่นี้จะทำให้คนที่ทำธุรกิจจริงๆไม่ได้เลี่ยงภาษี เช่น ให้เช่าที่ดินชื่อร่วมกันพี่น้อง (โฉนดเป็นชื่อพี่น้อง) ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน คือต้องเสียภาษีห้างหุ้นส่วนสามัญแล้ว ต้องมาเสียภาษีจากเงินส่วนที่แบ่งอีก ซึ่งถ้าค่าเช่าเยอะอาจเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 35% +( 35%ของ 65% ) รวมกันคือต้องเสีย 57.75 %  หรือร้านขายของที่ครอบครัวร่วมกันทำ(ธุรกิจกงสีของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน) ก็อาจต้องเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 57.75 % เช่นกัน
ในประมวลรัษฎากรเดิม ใช้หลักความเป็นธรรม เช่นไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล คุณก็จะเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 37 % (อัตราภาษีเดิมก่อนมีการแก้ไข) คือถ้าคุณทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา ก็จะเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 37 % แต่ถ้าคุณทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล คุณจะเสียภาษีนิติบุคคล 30 % + ภาษีเงินปันผล 10 % ของ 70 % รวม 37 % เท่ากับอัตราสูงสุดของภาษีบุคคลธรรมดา จึงเห็นได้ว่ากฏหมายเดิมเป็นธรรมอย่างมาก

โดยหลักของกฏหมายต้องเป็นธรรม แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน เพราะทำให้เสียภาษีซ้ำซ้อน และยังทำให้คนใช้ช่องโหว่ทางภาษีนี้ได้อีกต่อไป


* จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1416573007
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่