หมาป่าเดียวดาย...ตามรอย "เหมืองแร่" ทรัพย์จากพื้นแผ่นดิน สินแห่งชีวิต ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

กระทู้สนทนา
เนื้อหาสรุปทริปเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานในชื่อเดียวกัน จากเวป thaimtb ครับ

Tin Mine
อารัมภกถา.....
หมาป่าเดียวดายนั้นมีหนังสือเป็น “เครื่องอยู่” มาตั้งแต่เด็กๆ

เด็กส่วนใหญ่มีการเล่น ขนม รายการโทรทัศน์เป็นเครื่องอยู่  เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน  หมาป่าก็ไม่ต่างออกไป

สมัยนี้เด็กๆอาจมีเกมคอมพิวเตอร์เพิ่มเข้าไปในรายการ  ด้วยว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นพ่อรุ่นแม่หมาป่าตอนเป็นเด็กเครื่องอยู่ก็คงไม่มีเจ้าสองรายการหลังที่ว่า

ในเวปจักรยานนี้  จักรยาน ต้องนับเป็นเครื่องอยู่ของสมาชิกหลายคน

เวลาผ่านไป โตขึ้นมาเครื่องอยู่ก็มีเยอะขึ้น  แตกต่างกันไปแต่ละคน  บางอย่างชอบอยู่สักพักแล้วก็เลิก  บางอย่างก็อยู่กันยาวนาน

แต่หนังสือนั้นนับเป็นสิ่งสำคัญเสมอมาของหมาป่า

ไปไหนมาไหนก็มักมีหนังสือติดมือไว้อ่าน  ยามกินข้าวคนเดียวก็ต้องมีหนังสือไว้อ่านไม่งั้นกินข้าวฝืดคอไม่รู้จะมองอะไร

หมาป่าเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว  ตอนเด็กยามปิดเทอมถ้าไม่ออกไปเล่นกับเด็กข้างบ้านหมาป่าก็ไม่เคยเหงาเพราะมีหนังสือเป็นเพื่อน  อ่านไปจินตนาการไปกับตัวหนังสือ  นึกภาพในหัวว่ามันจะเป็นยังไงหนอเจ้าสถานที่หรือผู้คนที่หนังสือบรรยายเอาไว้เนี่ย  ตอนเด็กๆมีตังค์ไม่มากแต่หากเก็บออมไว้ซื้อหนังสือพ่อแม่หมาป่าไม่เคยบ่นว่าเป็นรายจ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย  มีญาติมีน้ามีป้าที่เขาอ่านหนังสือเขาก็ยินดีให้หยิบยืม  ปิดเทอมใหญ่ไปเที่ยวบ้านญาติก็เที่ยวไปค้นหนังสือในบ้านเขาอ่าน  เป็นเด็กเลี้ยงง่ายมากครับ  มีข้าวให้กินมีหนังสือให้อ่านก็อยู่ได้สบายดีแทบไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยนั่นแหละหมาป่าถึงเริ่มชอบดูหนัง   ดูค่อนข้างเยอะแต่ก็มาทิ้งไปในภายหลัง

สมัยนี้ถ้าให้ไปดูหนังตามโรง  ติดจะขี้เกียจเพราะรถติดเบื่อวนหาที่จอดรถ ต้องเป็นหนังที่อยากดูจริงๆนั่นแหละครับถึงจะย้ายตัวไปดู

คนรุ่นวัยหมาป่าเราผ่านยุคอนาลอคผ่านมาถึงยุคดิจิตัล การเปลี่ยนแปลงมันเยอะมาก เราเขียนจดหมายส่งหาเพื่อนตอนปิดเทอม  เดี๋ยวนี้เราใช้อีเมล์ใช้โปรแกรมแชท  หรือทางกายภาพเองเรายังเป็นรุ่นที่ได้สัมผัสหน้าหนาวในกรุงเทพ  หนาวแบบหนาวจริงๆ  พูดแล้วมีควันออกมาจากปาก  ตอนบ่ายในห้องเรียนเด็กๆรุ่นหมาป่าก็ยังต้องใส่เสื้อหนาว  กลับบ้านแม่จะต้มน้ำใส่กาใบใหญ่เพื่อเอามาผสมน้ำอาบในกระถัง ตักราดตัวทีละขันเพราะสมัยโน้นที่บ้านไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น  หนาวนานหนาวจริงมิใช่เย็นๆแค่อาทิตย์สองอาทิตย์แบบทุกวันนี้ คงด้วยว่าบ้านเมืองมีป่ามีเขา  และในกรุงเทพยังไม่ระดมติดแอร์ปล่อยความร้อนออกมานอกบ้านกันจนเมืองร้อนอุ้ม

คนรุ่นเดียวกับหมาป่าไม่รู้ว่ามีกี่คนที่จะคล้ายกันนะครับ  หมาป่ามีอารมณ์โหยหาและจินตนาการถึงบ้านเมืองสมัยอดีต ภาษาอังกฤษที่เขาบอกว่า Nostalgia Nostalgic และยังลามไปถึงสมัยก่อนที่หมาป่าเกิดด้วยซ้ำ  เวลาเห็นภาพในหนังสือที่เป็นบ้านเมืองยุคโบราณ  จะเป็นภาพถ่ายภาพวาดสมัยต้นรัตนโกสินทร์  มักทำให้หมาป่าสงสัยเสมอว่าตอนที่ป่าทางเหนือยังเขียวครึ้ม เดินทางขึ้นไปใช้เวลากันเป็นเดือน กรุงเทพที่เลยจากราชดำเนินไปก็เป็นทุ่งนา มีปลูกต้นหมาก พายเรือไปมาหาสู่กัน  วันคืนที่ยังไม่มีแสงจากไฟฟ้ามากวนสายตาในคืนเดือนมืดที่เห็นดาวพราวเต็มฟ้านั้นมันเป็นเช่นไร  หรือเอายุคใกล้ๆเช่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือหลังสงครามเลิกไม่นาน  ยุคที่พ่อแม่หมาป่าจีบกันตอนพศ. 2508  เห็นภาพถ่ายบ้านเมืองการแต่งตัวของผู้คน ฟังเพลงเก่าๆที่คนยุคนั้นฟังกัน  อ่านตัวหนังสือที่บรรยายไว้หมาป่านึกเสียใจนิดๆที่เกิดไม่ทัน  ถ้าได้เห็น ได้อยู่ ได้กลิ่น ได้สัมผัสก็คงจะดี

เล่ามานี้ด้วยธาตุของหมาป่าคงพอเรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักอ่าน ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าหนอนหนังสือ  แต่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นนักอ่าน  อีกทั้งเป็นนักฝันโหยหาอดีต
  
แต่แปลกครับนักอ่านคนนี้ตอนเด็กๆกลับไม่เคยอ่านงานของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนศิลปินแห่งชาติปี 2534 เลย คุณลุงอาจินต์สร้างชื่อเสียงมาจากเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่”  ตอนเด็กๆพ่อหมาป่าจะซื้อหนังสือฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ติดมือเข้าบ้านมาเสมอเสมอ  ฟ้าเมืองไทยที่มีคุณลุงอาจินต์เป็นบรรณาธิการและหุ้นส่วนเจ้าของ ท่านเป็นเจ้าของวลี “ตะกร้าสร้างนักเขียนมาทุกยุค” ในช่วงหลังท่านออกหนังสือฟ้าเมืองทองเป็นรายเดือนเสริมขึ้นมา  พ่อหมาป่าก็ซื้อประจำ  ตอนนั้นเหมือนว่าชื่ออาจินต์ดูเขียนเรื่องที่ไกลตัว  เหมืองแร่อะไรก็ไม่รู้ เวลาท่านตอบจดหมายก็ดูว่าท่านซีเรียสเพราะท่านเป็นบรรณาธิการ อ่านงานของนักเขียนท่านอื่นสนุกกว่า  งานของนิมิตร ภูมิถาวร  งานของละเอียด นวลปลั่ง  งานของคำพูน บุญทวี  กลับเป็นงานที่หมาป่าอ่านแล้วจดจำ

โน่นแหละครับล่วงเข้าหมาป่าอายุ 37 ปี  เมื่อปี 2548 ตอนที่บริษัทสร้างหนัง GTH โดยคุณจิระ มะลิกุลเป็นผู้กำกับผู้เขียนบทได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ โดยซื้อลิขสิทธิ์จากเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ มีการทำประชาสัมพันธ์  มีบทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง  และมีการตีพิมพ์หนังสือชุดเหมืองแร่ขึ้นมาอีกครั้ง...ครั้งนี้แหละที่ทำให้หมาป่าได้หยิบเรื่องเหมืองแร่ซื้อมาอ่าน  อ่านหลังจากไปดูหนังมาแล้ว....โอ้ว  คุณลุงอาจินต์ครับ หมาป่านี้โง่จริงๆ งานชั้นเลิศระดับนี้หลงโง่ไม่อ่านได้อย่างไรก็ไม่รู้  ท่านเขียนดีสมกับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติโดยแท้  ตัวละคอนที่มีพื้นฐานมาจากตัวตนจริงของคนในเหมือง  เรื่องราวของพวกเขา “ข้าพเจ้า” ที่เป็นตัวอาจินต์ นิสิตรีไทร์ปีสองจากวิศวะจุฬาฯ  “ไอ้ไข่” “นายฝรั่ง” “พี่จอน” “โกต๋อง” “พี่ก้อง” “พี่เหวง” “พี่บุญยิ่ง” “ตาหมา”  เหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตในเหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จับอยู่ในหัวใจของหมาป่า
  
มันคงจะเสริมด้วยภาพของหนังมหา’ลัยเหมืองแร่  ที่กลั่นจากความตั้งใจของทีมงานผู้สร้างยิ่งทำให้จินตนาการถึงชีวิตของอาจินต์  ของผู้คน  ของตัวเหมืองแร่ที่ดูราวกับมีชีวิตไปด้วย ยิ่งชัดเจนแจ่มจ้าในหัวของหมาป่า ด้วยมิเพียงพึ่งตัวหนังสือถ่ายเดียว  หมาป่าเคยได้ยินว่าฝรั่งผู้ชายบางคนชอบดูหนังเรื่อง God Father ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหยิบยกคำพูดเรื่องราวในหนังมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  ชีวิตลูกผู้ชาย  เหมือนถ้าเป็นคนแบบนี้พูดอะไรขึ้นมาคนประเภทเดียวก็จะต่อกันติด  หมาป่าเองก็คล้ายคลึงกัน  ช่วงปีหลังจากดูหนังและอ่านหนังสือเรื่องเหมืองแร่  หมาป่าจะหยิบหนังจากกล่อง DVD Box Set ที่ลงทุนซื้อไว้มาดูอยู่เนืองๆ  ตัวหนังสือนั้นก็หยิบมาอ่านทวนอยู่บ่อยๆ  หมาป่าไม่ได้เป็น God Father Mania แต่เป็น Tin Mine Mania แทน

ปี 2492 ถึง ปี 2496 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลิกไม่กี่ปี  ทางหลวงสายใต้ยังไม่ได้สร้างต่อเนื่องกันครบทุกจังหวัดบางช่วงคงยังไม่ได้ลาดยางแต่เป็นถนนฝุ่น หรือถนนโคลนยามฝนตก  คนอยู่พังงาก็คงบอก “กรุงเทพไกลเหลือเกิน” คนอยู่กรุงเทพก็บอกเหมือนกันว่า “พังงาไกลเหลือเกิน”.....

“ความเป็นเมืองไกลสุดหล้าฟ้าเขียวขนาดไปตายหรือไปสาบสูญนั้น  กฏหมายโบราณปักป้ายไว้ว่า “แม้นว่าชายไปเมืองจีน ไปทะเล ไปพังงา ไปชวาฟ้าแดง ดังนั้นไซร้ ท่านให้หญิงยู่ (คอย) ท่า 3 ปี ถ้าพ้น 3 ปีแล้ว หญิงมีชู้ผัว มิให้มีโทษแก่หญิงชายนั้นเลย”” (อาจินต์ : อดีตของคนอื่น)....

“อยากจะให้ท่านได้เห็นฝนที่ตกพรำมา 10 วันติดต่อกัน  มันตกเสียจนเราเบื่อและรำคาญ  ไม่อยากให้ชีวิตของเราต้องเห็นฝนอีกเลย  ภูเขาเปียกจนละลาย  ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น  ดินเละเป็นโคลน  แต่เราก็ต้องเดินไปทำงานและเดินกลับ  เราทำเหมืองแร่จะสนิมสร้อยไม่ได้  เราต้องทำ  เราต้องกิน” (อาจินต์ : เหมืองแร่โชว์)...

“เมื่อเพื่อนๆ ถามว่า  ข้าพเจ้าหายหน้าไปอยู่ไหนมาหลายปี  ข้าพเจ้าตอบเขาอย่างหยิ่งๆ ว่าไปปักษ์ใต้  ไปอยู่เหมืองแร่  ขณะที่ตอบเขานั้น  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเลือดทุกหยดในร่างกายแล่นพล่านเหมือนกำลังออกแรงทำงานอยู่ในโรงเหล็ก  เหมือนกำลังเกร็งข้อมือยกของหนัก  เหมือนกำลังเดินหอบอยู่ท่ามกลางแสงแดดอันร้อนเปรี้ยงกลางป่าทราย  เหมือนกำลังยกคอเสื้อขึ้นปิดหูเดินฝ่าหมอกตอนเช้ามืด...หมอกซึ่งเกาะเปียกโชกบนหมวก  บนเกือก  และปลายขนตา

เหล่านั้นเป็นชีวิตขรุขระในเหมืองดีบุก  เหมืองซึ่งข้าพเจ้าคลุกคลีกับมันจนไม่รู้ว่าจะเล่าถึงมันด้วยเรื่องอะไร  และจะเล่าถึงเรื่องอะไรเป็นเรื่องแรก  เหมืองดีบุกสำหรับข้าพเจ้าไม่ใช่วิธีบอริ่งแร่...ไม่ใช่วิธีแก้เครื่องยนต์...ไม่ใช่วิธีเดินเรือขุด...แต่มันหมายถึงภาพภูเขาสลับซับซ้อน  ซึ่งยอดของมันหายไปในหมอกสีเทา  หมายถึงหมู่บ้านเล็กๆที่ชาวบ้านเกิด  แก่  เจ็บ  ตายกันอยู่ในนั้น  หมายถึงความหนาวยะเยือกที่ไอเย็นจากหินผากระจายออกมาภายหลังฝนหนักๆ  และกลับกลายเป็นร้อนอ้าวเมื่อได้แสงแดด  หมายถึงโลกอีกลูกหนึ่ง  เป็นคนละโลกกับภายนอกโดยมีระยะทางนับสิบๆ กิโล  จากทางหลวงแผ่นดินเป็นพรมแดน

ข้าพเจ้ายังนึกเห็นภาพวันคืนซึ่งมืดมัวด้วยเค้าฝนอยู่เป็นนิจ  ควันจากปล่องไฟเรือขุดเป็นสีหม่นลอยเนิบๆ ขึ้นไปตัดกับสีเทาทึบของท้องฟ้า  ภาพเรือขุดซึ่งเคลื่อนที่ช้าๆ  จนเหมือนกับจะอยู่นิ่ง  ท่ามกลางความมืดมัวเหล่านี้  เมื่อมองดูมันด้วยสายตาของคนพลัดบ้านมันก็ไม่ผิดอะไรกับวัตถุที่ไร้ชีวิต  แน่นิ่งอยู่ในความยาวนานของกาลเวลา  ราวกับจะไม่มีวันคืบคลานไปถึงที่หมาย  เช่นเดียวกับชีวิตพเนจรซึ่งเหน็ดเหนื่อยแล้ว  แต่ยังต้องดิ้นรนต่อไปในความไม่รู้

ตลอดวันคืนเหล่านั้นมีหลายเวลาที่เรือขุดชำรุด  คนงานต้องเร่งมือกันทำงานซ่อมแซมทั้งกลางวันหรือกลางคืน  หลายเวลาที่น้ำบ่ามาจากภูเขาทำลายทำนบกั้นน้ำท้ายเรือ   ตลอดจนสะพานและถนนสำหรับลำเลียงสิ่งของและแร่ดิบวินาศไปหมด  คนงานถูกระดมกันซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างเหล่านี้   ท่ามกลางอันตรายจากน้ำที่เชี่ยวอย่างดุร้ายจากตลิ่งที่จะพังลงมาได้ทุกๆ วินาที  และจากฟ้าซึ่งผ่าลงมาตามยอดไม้สูงๆ  พวกเด็กลูกมือมีหน้าที่ผลัดกันไปซื้อกาแฟและขนมที่ทำด้วยแป้งหยาบๆ ปนน้ำตาลรวมทั้งบุหรี่หรือยาฉุนมวนใบจาก  ห่อผ้าขาวม้ายัดใส่อกเสื้อเพื่อกันเปียกฝน  ของเหล่านี้นำมาส่งเป็นเสบียงแก่พวกผู้ใหญ่ที่ทำงานกันเหมือนมด  จนกระดูกสันหลังด้านชา  ไม่มีเสียงลั่นไว้สำหรับบิดขี้เกียจ  ข้าพเจ้าอยู่กับงานเหล่านี้  อยู่กับคนเหล่านี้  และอยู่กับอากาศรอบตัวเช่นนี้มา  จนนึกรักและเกลียดมันไปพร้อมกัน” (อาจินต์ : แผลเล็ก)...

“เราต้องทำงาน  ข้าพเจ้าชอบจริงๆ ไอ้ประโยคที่ว่า “เกิดเป็นคนต้องทำงาน  เพื่อสำแดงให้โลกประจักษ์ว่าเรามิใช่คนหยิบโหย่ง  เกียจคร้าน”  ในเหมืองแร่เราต้องทำงานหนัก  ใครได้โอเวอร์ไทม์คนนั้นคือดารา  ใครตัวเปื้อนน้ำมันหรือโคลนตมคนนั้นสง่า” (อาจินต์ : ปรัชญาหน้าควันไฟ)

ที่ตัดยกข้อความข้างบนมานั้น  ลุงอาจินต์บรรยายให้เราได้คิดตามว่าชีวิตในเหมืองแร่นั้นเป็นเช่นไร

ที่นั่นไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีฮอลิเดย์ ไม่มีวาเคชั่น  คนทำงานในส่วนออฟฟิศของเหมืองแร่ได้หยุดวันอาทิตย์  แต่ในส่วนการทำงานของเรือขุดจะทำต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา วันละ 3 ผลัด  ต่อเนื่องกันไปทั้งวันทั้งคืนกลางแดดที่ร้อนอุ้ม หรือฝนที่สาดกระหน่ำ  และความหนาวเย็นไอชื้นของหมอกในตำบลที่ไกลจากกรุงเทพจนแทบไม่มีจุดบอกตำแหน่งบนแผนที่  ตื่นเช้าสลัดความง่วงและเดินฝ่าความเย็นมากินกาแฟกับอาหารเช้าแล้วก็ต้องออกไปทำงานจนหมดกะ กลับมาหาเหล้าที่ร้านกาแฟเพื่อให้มันปลอบประโลมความเหงาและขับไล่ความเมื่อยล้า เข้านอนเพื่อจะตื่นขึ้นมาทำสิ่งเดียวกันซ้ำไปอีกจนครบสัปดาห์จนได้กำหนดเปลี่ยนกะไปทำตอนหัวค่ำ  ผ่านไปอีกสัปดาห์ก็เปลี่ยนกะไปทำยามดึกจนถึงรุ่งเช้า...สี่ปีที่ลุงอาจินต์ใช้ชีวิตกรำอยู่ที่นั่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่