ขอเสนอแนะแนวทางการทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นโดยใช้วิศวกรรมพอลิเมอร์ในการพัฒนายางดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า

เนื่องด้วยขณะนี้ปัญหาเรื่องราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นวาระแห่งชาติที่ควรมีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ต้องมีการใช้ วิศวกรรมพอลิเมอร์ (Polymer Engineering) เข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย
         ในอดีตที่ผ่านมา ราคายางพาราของประเทศไทยมีมูลค่าที่ไม่มีเสถียรภาพ บางครั้งมีราคาสูง บางครั้งราคาตกต่ำ บางครั้งราคาปานกลาง ซึ่งจะมีคำตอบว่า เป็นไปตามกลไกของตลาด ฤดูกาล และปริมาณการผลิตที่มากเกินความต้องการ เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถบริหารจัดการได้ ถ้ามีการนำข้อมูลเอามาวิเคราะห์ และนำมาวางแผนในการสร้างกลไกทางการตลาด เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดราคาล่วงหน้า ให้ผู้ผลิตสามารถเป็นผู้กำหนดราคา แทนที่จะเป็นโบรกเกอร์หรือพ่อค้าคนกลาง
         ขอเสนอแนะ การพัฒนายุทธศาสตร์นวัตกรรมยางพารา ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1.    ระดับต้นน้ำ (Upstream level) เช่น การผลิตยางพาราเกรดพิเศษของกลุ่มสหกรณ์ในแต่ละภาค  การควบคุมคุณสมบัติยางพาราให้มีความสม่ำเสมอ การปรับสภาพยางพาราให้มีความเป็นขั้วสูงขึ้น เป็นต้น
2.    ระดับกลางน้ำ (Intermediate level) เช่น การทำยางคอมปาวด์  การทำยางเม็ด (TPR)  การทำยางพาราให้มีความทนน้ำมันและความร้อน เป็นต้น
3.    ระดับปลายน้ำ (Downstream level) เช่น การทำยางเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์ และวัลคานิเซท (Thermoplastic Elastomers and Vulcanizates: TPEs and TPVs), การทำยางผสมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Blends) เป็นต้น

โดยแก้ปัญหาใน 3 กรอบเวลา ดังนี้
       Phase I: กรอบเวลา  6 เดือน โดยการจัดรูปแบบสหกรณ์ตัวอย่าง เพื่อเป็นต้นแบบ (Model) ในการบริหารจัดการการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ และเป็นการนำร่องในการยกระดับราคายางพาราโดยการขายให้กับตลาดที่ต้องการใช้ยางเกรดพิเศษ โดยทำการตกลงกับผู้ซื้อไว้ล่วงหน้า ซึ่งทำได้โดยการทำการสำรวจตลาด (Domestic and International Market Survey) ภายใน 3 เดือน โดยการหากลุ่มสหกรณ์ต้นแบบ และการกำหนดทิศทางการสำรวจตลาดโดยใช้ทีมงานพิเศษที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมาในการดำเนินการสำรวจทั้งระดับต้นน้ำ  กลางน้ำ และปลายน้ำ
       Phase II: กรอบเวลา  12 เดือน โดยการทำคู่ขนานไปกับ phase I ในการพัฒนานวัตกรรมยางพาราระดับกลางน้ำ ให้กับกลุ่ม SMEs ที่สมัครใจและให้ความร่วมมือที่จะเข้าโครงการในการผลิตเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ายางพารา
       Phase III: กรอบเวลา  24 เดือน โดยการทำคู่ขนานไปกับ phase I และ phase IIในการพัฒนานวัตกรรมยางพาราระดับปลายน้ำ ให้กับกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพที่สามารถใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้จาก phase I และ phase II ได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดโดยทั่วไปได้ ตามมูลค่าที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการตกลงราคาในระดับหนึ่ง
       นอกจากนี้ จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมยางพารา ให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการแปรรูปยางพาราแห่งเอเชีย (Asian Rubber Product Centre) การกำหนดยุทธศาสตร์เช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รับรู้และยอมรับในภูมิภาค ว่ายางพาราจากประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในแง่ของคุณภาพและความสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดราคาของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ซึ่งรายละเอียดในการดำเนินงาน จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
       ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการส่งออกยางพาราในรูปของยางดิบในปริมาณ 90% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในแง่ของแรงงาน ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า การขายในราคาที่ไม่คุ้มทุน เมื่อเทียบกับคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากในตลาดต่างประเทศ

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

       สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราไม่มีการวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยใช้ วิศวกรรมพอลิเมอร์ ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ไม่มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เช่น ภายใน 2-3 ปี ประเทศไทยจะเพิ่มการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ กำหนดรูปแบบเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนา ตลอดจนการใช้วิศวกรรมโพลีเมอร์ในการยกระดับ มูลค่าราคายางดิบ ให้เป็นมูลค่าของยางเกรดพิเศษที่ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ต้องการใช้ เป็นต้น

I have to go back to work now and will be back soon. Thanks.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่