ชวนกันมาตามติด...ชีวิตของผีเสื้อหนอนมะนาว (Lime Butterfly)

เนื่องจากผมและเพื่อนอีกคน มีความชื่นชอบผีเสื้อทั้งการเลี้ยงและถ่ายภาพ
กระทู้นี้จึงได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้ ความสวยงาม และความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆชนิดหนึ่ง
และถ้ามีข้อความส่วนใดผิดพลาดไป สามารถช่วยทักท้วงแก้ไขได้เต็มที่เลยนะครับ

กระทู้นี้มีทั้งภาพจากเลนส์มาโครโดยเฉพาะ และ ภาพจากกล้องมือถือปนๆกันไปครับ

มาทำความรู้จักผีเสื้อกันสักหน่อย

ผีเสื้อ (Butterfly)

เป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ (Order) Lepidoptera ซึ่งมอธ (Moth) หรือผีเสื้อกลางคืนก็อยู่ในอันดับนี้เช่นกัน

Carl Linnaeus นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนได้ตั้งชื่ออันดับนี้ขึ้นในปี 1775 ด้วยรากของภาษากรีก 2 คำ
คือ "Lepido" หมายถึง เกล็ด (Scale) และ Ptera หมายถึง ปีก (Wings)
ซึ่งเป็นจุดเด่นจำเพาะของผีเสื้อคือ มีเกล็ดปกคลุมไปทั่วปีกและสีสันที่ปีกของผีเสื้อมาจากสารเคมีที่อยู่ในเกล็ดเหล่านั้น

ภาพของ Linnaeus คนที่สนใจด้านพืชและสัตว์จะเห็นชื่อของเขาอยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์เต็มไปหมด


วงจรชีวิตของผีเสื้อ

ผีเสื้อมีวงจรชีวิตที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์  (Complete Metamorphosis)
คือมีแต่ละช่วงของชีวิตเป็น ไข่ --> หนอน --> ดักแด้ --> ตัวเต็มวัย


เครดิต : http://www.mrsscienceteacher.com/Metamorphosis/Metamorphosis.html

สันนิษฐานว่า ข้อดีของการเจริญเติบโตแบบนี้คือ แต่ละช่วงชีวิตมีความต้องการอาหาร สิ่งแวดล้อม และมีศัตรูแตกต่างกันทำให้มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น

ผีเสื้อถูกแบ่งเป็นวงศ์ (Family) ที่รู้จักกันทั่วไปได้ดังนี้

1. วงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ (Nymphalidae)
ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ ขาคู่หน้าหดสั้นไปอยู่ข้างปากและมีขนปกคลุม เราจึงเห็นผีเสื้อชนิดนี้เกาะด้วยขาเพียง 4 ขา

ตัวอย่างภาพของผีเสื้อในวงศ์นี้ สังเกตว่าจะยืนด้วยขาเพียง 4 ขา (แมลงต้องมี 6 ขา)


ในภาพนี้ ลูกศรชี้ให้เห็นขาคู่หน้าสุดที่หดสั้นจนใช้งานไม่ได้


2. วงศ์ผีเสื้อหนอนกระหล่ำ (Pieridae)
มีขนาดเล็ก-ปานกลาง มักมีสีขาว-เหลือง มีการสันนิษฐานว่า คำว่า Butterfly ถูกเรียกขึ้นจากสีสันของผีเสื้อชนิดหนึ่งในวงศ์นี้

ตัวอย่างภาพของผีเสื้อในวงศ์นี้



3. วงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae)
เป็นผีเสื้อที่มีขนาดเล็กทีสุดและมีจำนวนเยอะที่สุดเช่นกัน

ตัวอย่างภาพของผีเสื้อในวงศ์นี้



4. วงศ์ผีเสื้อบินเร็ว (Hesperiidae)
ผีเสื้อวงนี้มีลักษณะค่อนข้างต่างจากวงศ์อื่น คือลำตัวป้อมสั้น ค่อนข้างหนา ปีกสั้นเล็กรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยม ทำให้บินได้รวดเร็ว

ตัวอย่างภาพของผีเสื้อในวงศ์นี้



5. วงศ์ผีเสื้อหางติ่ง (Papilionidae)
ผีเสื้อในวงศ์นี้มีขนาดใหญ่ สวยและสะดุดตามากที่สุด ปีกกว้าง ขายาวเรียว
บริเวณส่วนท้ายของปีกในหลายๆชนิดของวงศ์นี้ จะมีติ่งยื่นยาวออกมา เป็นที่มาของชื่อวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง

ตัวอย่างภาพของผีเสื้อในวงศ์นี้



มาถึงพระเอกของเราในวันนี้  ก็เป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง
นั่นคือ

ผีเสื้อหนอนมะนาว
ชื่อสามัญ : Lime Butterfly
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio demoleus
Class : Insecta
Order : Lepidoptera
Family : Papilionidae

พืชอาหารของผีเสื้อหนอนมะนาวคือ มะนาว ส้ม และพืชอื่นๆที่อยู่ในตระกูลส้มเช่น มะสัง เป็นต้น
โดยเริ่มจากตัวเมียของผีเสื้อจะวางไข่ตามยอดอ่อน ไข่จะเป็นฟองเดี่ยว มีลักษณะกลม
สีเหลืองอ่อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1mm หลังจากตัวหนอนฟักออกมาจากไข่ก็จะเริ่มกินใบอ่อนตามยอด

ภาพการผสมพันธุ์ของผีเสื้อหนอนมะนาว


ภาพของหนอนวัยแรกที่เพิ่งออกมาจากไข่ได้ไม่นาน


หนอนจะกินอาหารเพื่อเจริญเติบโต จนถึงระยะหนึ่งก็จะลอกคราบ และมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยหนอนจะลอกคราบ 4-5 ครั้ง


มาดูหน้าตากันใกล้ๆ


ช่วงนี้ก็จะกินแหลกครับ ขนาดจะใหญ่ขึ้นทุกครั้งที่ลอกคราบ จะเห็นว่าสีสันก็เปลี่ยนไปด้วย


จนมาถึงวัยสุดท้ายของหนอน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากที่สุด กินจุที่สุดด้วย
บ้านใครที่ปลูกพืชอาหารของหนอนไว้อาจจะเห็นใบโกร๋นเลยทีเดียวถ้ามีหนอนอาศัยอยู่หลายตัว
ในภาพนี้ กลมๆใสๆทางด้านขวาคือคราบเก่าของหัวกะโหลกหนอน


มุมด้านบน


หนอนมีการป้องกันตัวเมื่อถูกรบกวน โดยการยื่นอวัยวะที่อยู่ส่วนหัวออกมาขู่ศัตรู
ส่วนนี้เรียกว่า "Osmeterium" พร้อมทั้งปล่อยกลิ่นออกมาด้วย โดยกลิ่นจะแตกต่างกันไปตามชนิดของหนอน
ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่ากลิ่นที่ปล่อยเป็นสารเคมีที่อยู่ในใบไม้ สำหรับผีเสื้อหนอนมะนาว กลิ่นหอมชื่นใจมากครับ
หอมจริงๆนะ ไม่ได้โม้ จุ๊บๆ

ภาพของอวัยวะที่เรียกว่า Osmeterium


เมื่อระยะสุดท้ายของหนอนมาถึง มันจะหยุดกินไม่ขยับไปไหน ร่างกายจะปล่อยของเสียออกมาเป็นของเหลว
ลำตัวจะหดสั้นลง สีจะซีดกว่าเดิม และจากนั้นจะเริ่มคลานไปหาที่เพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้

ในภาพนี้ ตัวทางด้านซ้ายคือหนอนที่กำลังจะเข้าสู่ดักแด้ครับ จะเห็นว่าตัวเล็กลง สีก็ซีดกว่าตัวทางขวา


ภาพการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ หนอนจะปล่อยใยออกมายึดตัวเองไว้ แล้วจึงเริ่มสร้างเปลือกหุ้มตัวจากด้านใน


จากนั้นหนอนจะสูบอากาศเข้าไปในลำตัวเพื่อช่วยให้ผิวหนังด้านนอกปริและสลัดออก จนกลายเป็นดักแด้
มาดูวิดีโอของหนอนที่กำลังกลายเป็นดักแด้กันครับ

ภาพวิดีโอโดยคุณ พิกุล อยู่สิทธิ์
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
*** ภาพวิดีโอถูกเร่งความเร็วขึ้น 4 เท่า ***

ภาพของหนอนที่เข้าสู่ดักแด้อย่างสมบูรณ์


เมื่อผ่านไปประมาณ 7-10 วัน จะถึงเวลาที่กลายเป็นตัวเต็มวัย หรือ ผีเสื้อที่เราเห็นกันทั่วไปนี่เอง
ในวันสุดท้ายเปลือกของดักแด้จะใสจนเห็นลวดลายภายในแล้วครับ


เมื่อเวลาสำคัญมาถึง เปลือกของดักแด้จะดูแห้งขุ่น จากภาพจะเห็นได้ทั้งส่วนที่เริ่มแห้งและส่วนที่ยังใสอยู่


เมื่อเปลือกดักแด้แห้งหมดแล้ว ผีเสื้อก็จะกระเทาะเปลือกคลานออกมา ขั้นตอนนี้สำคัญมาก
ถ้าออกมาไม่พ้นดักแด้ หรือ ออกมาในที่รกจนกางผึ่งปีกได้ไม่สมบูรณ์มันก็จะหาอาหารไม่ได้และตายอย่างรวดเร็ว

วิดีโอของผีเสื้อที่กำลังออกมาจากดักแด้ครับ

ภาพวิดีโอโดยคุณ พิกุล อยู่สิทธิ์
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
*** ภาพวิดีโอถูกเร่งความเร็วขึ้น 2 เท่า ***

ภาพปีกบนของผีเสื้อหนอนมะนาว


ภาพปีกล่างของผีเสื้อหนอนมะนาว


หนอนของผีเสื้อไม่มีพิษภัยใดๆนะครับ ถ้าเจอที่ไหนก็อย่าไปทำร้ายมันเลย ให้นึกว่ามันจะเป็นผีเสื้อสีสวยประดับโลกของเราเพียงเวลาสั้นๆ
ผีเสื้อมีอายุได้ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนเท่านั้น เป็นความสวยงามที่มีอายุสั้นมากๆ
ในตัวเต็มวัยที่เป็นตัวเมีย จะเกิดมาพร้อมไข่ที่อยู่ในท้อง รอเพียงให้ตัวผู้มาผสมพันธุ์เพื่อดำเนินวัฐจักรชีวิตต่อไป

จบแล้วครับ ขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามารับชมกระทู้นี้ ดอกไม้

หมายเหตุ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่