ผู้พิพากษาไทยกับวิธีคิดเรื่องรถฉุกเฉิน

เราไปอ่านกระทู้ http://ppantip.com/topic/32501651/  เมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินถูกชนทำให้ผู้ป่วยหนักเสียชีวิต ทำไมคนไทยขับรถไม่ให้ทางรถฉุกเฉินครับ?

แล้วก็มีเพื่อนส่งฏีกานี้มาให้ เลยเอามาเตือนกัน ว่าผุ้พิพากษาไทยเขาไม่ได้คิดแบบเดียวกันกับที่เราคิดนะ ถึงจะเป็นรถฉุกเฉินก้ต้องระวัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2510
นางง้วนเน้ย แซ่ฉั่ว กับพวก
โจทก์

กรมตำรวจ โดยพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดี ที่ 1 พลตำรวจธงชัย ยนต์วิชัย ที่ 2
จำเลย





ป.พ.พ. มาตรา 420, 437



จำเลยขับรถยนต์ในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำคนประสพอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล การขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าวมิได้หมายความว่าขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิดหากเกิดการเสียหายขึ้น แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น และต้องใช้ความระมัดระวังในฐานะที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นด้วย

จำเลยขับรถใช้อาณัติสัญญาณไฟแดงกระพริบและเปิดแตรไซเรนมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกมาในระยะกระชั้นชิดซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบแล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควรตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่น ๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่มีเด็กวิ่งตัดหลัง รถบรรทุกข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญ มิอาจคาดหมายได้ และเกิดขึ้นโดยฉับพลันเป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้เมื่อจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จาก บุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นนั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437



________________________________




โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ในราชการตำรวจไปตามหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังและชนนายเซี้ยงง้วนสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาของโจทก์อื่น ๆ ถึงแก่ความตายทำให้โจทก์กับบุตรขาดอุปการะเลี้ยงดู จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วยขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์


จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2ได้ขับรถไปตามหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังในอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดและตามระเบียบข้อบังคับ ได้ใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนมาตลาดทางเพื่อนำคนป่วยส่งโรงพยาบาล มีรถยนต์บรรทุกขึ้นสะพานสวนทางมาและมีเด็กหญิงคนหนึ่งวิ่งตัดออกจากหลังรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิดไม่อาจหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบขึ้นไปบนทางเท้าและชนนายเซี้ยงง้วนตายเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง


ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นการละเมิดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์


จำเลยทั้งสองอุทธรณ์


ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยจะขับรถเร็วได้ไม่จำกัด แต่ก็ต้องขับด้วยความระมัดระวัง จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วสูงและมิได้ลดความเร็วลงหรือลดลงไม่มากพอ เป็นความประมาทของจำเลยไม่ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น จึงฟังเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้ จำเลยจึงต้องรับผิด พิพากษายืน


จำเลยทั้งสองฎีกา


ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยขับรถยนต์โดยได้รับอนุญาตให้ใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำคนประสบอุบัติเหตุไปส่งโรงพยาบาลการขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าวนี้มิได้หมายความว่าจะขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิดหากเกิดความเสียหายขึ้น แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้นด้วยจำเลยขับรถมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เหตุที่ชนคนเกิดขึ้นเพราะมีรถบรรทุกสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกนั้นมาในระยะกระชั้นชิด ซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทันจึงต้องหักหลบ ความเร็วที่จำเลยใช้ในตอนข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควรตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่น ๆ ในขณะนั้น การกระทำในตอนนี้จึงไม่เป็นความประมาทเลินเล่อ เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เพราะมีรถสวนมาแต่เกิดขึ้นเพราะมีเด็กวิ่งตัดหลังรถบรรทุกนั้นข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้ อันเป็นเหตุบังเอิญอันมิอาจคาดหมายได้เกิดขึ้นโดยฉับพลันการที่มีเหตุการณ์ภายนอกเกิดขึ้นโดยฉับพลัน เป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ เมื่อจำเลยประสบเหตุการณ์ขึ้นโดยฉับพลันเช่นนั้นได้หักรถหลบไปไม่ชนเด็ก แต่จะหวังให้จำเลยหักรถกลับคืนย่อมเป็นการยากยิ่งที่จะหวัง จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นนั้น เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด


พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โชคดีที่สู้ถึงฎีกานะ ถ้าแค่อุทรณ์นี่จบเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่