ช่วยอธิบายคำพิพากษาฎีกานี้หน่อยค่ะ

กระทู้คำถาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2548


นายไพโรจน์ แซ่จังหรือวิเศษคุณธรรม กับพวก โจทก์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำเลย


ป.พ.พ. มาตรา 744 (1)


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ว. ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยสาขาบางบอน โดยมี ส. จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1857 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ที่ 1 กับ ว. ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลยสาขาบางแค โดยโจทก์ทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 1 กับ ว. ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนแล้วดังนั้น หนี้ประธานจึงระงับสิ้นไป หนี้ตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) ฉะนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง

หนี้ประธานทั้งสองจำนวนที่มีอยู่แก่จำเลยเกิดขึ้นคนละสาขากัน และได้มีการทำสัญญาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ที่มีอยู่แต่ละสัญญา สัญญาจำนองประกันหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางแค จึงแยกต่างหากจากกันมิได้มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางบอน แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อความที่ว่าเป็นประกันหนี้ทุกประเภททุกอย่างในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ประกันแต่ละสัญญา หารวมถึงหนี้คนละประเภทและคนละสาขากัน


--------------------------------------------------------



โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 99748, 99749, 99750 และ 99751 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 99748 ถึง 99751 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินที่ยึดถือไว้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท


จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง


จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีนิติสัมพันธ์กันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ที่ 1 กับนายวิศาล ทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยสาขาบางแค จำนวน 4,200,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว แต่การที่โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นประกันหนี้แก่จำเลยนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายวิศาล ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยสาขาบางบอน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 วงเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งในส่วนของหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนี้ ได้มีนางไสว จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1857 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเต็มวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เมื่อโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจำนองหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ที่ 1 กับนายวิศาลในเวลาต่อมา ก็เป็นการจำนองประกันในวงเงิน 4,200,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จากข้อเท็จจริง หนี้ประธานทั้งสองจำนวนที่มีอยู่แก่จำเลยเกิดขึ้นคนละสาขากัน และได้มีการทำสัญญาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ที่มีอยู่แต่ละสัญญา สัญญาจำนองประกันหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางแค จึงแยกต่างหากจากกันมิได้มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยสาขาบางบอน แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อความที่ว่าเป็นประกันหนี้ทุกประเภททุกอย่างในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ประกันแต่ละสัญญา หารวมถึงหนี้คนละประเภทและคนละสาขากันดังเช่นจำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 กับนายวิศาลชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่จำเลยสาขาบางแคอันเป็นหนี้ประธานระงับสิ้นไปแล้ว หนี้ตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) ฉะนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


(มนตรี ยอดปัญญา - วิบูลย์ มีอาสา - ประจักษ์ เกียรติ์อนุพงศ์)


ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่