10 วิกฤตเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์โลก ให้ทุกก้าวย่างที่ผิดพลาดเป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อว่าครั้งต่อไปจะได้ไม่ก้าวผิดซ้ำอีก

กระทู้สนทนา
10 วิกฤตเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์โลก ให้ทุกก้าวย่างที่ผิดพลาดเป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อว่าครั้งต่อไปจะได้ไม่ก้าวผิดซ้ำอีก

1) วิกฤตการเงินใหสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1929

ถือเป็นปฐมบทแห่งหายนะทางธุรกิจยุคบุกเบิกเลยทีเดียวสำหรับวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Great Depression ซึ่งหากกล่าวไปคงไม่มีใครเชื่ออย่างแน่นอนว่าจะมีภาพคนอเมริกันนับแสนเข้าคิวรอรับอาหารและของแจกฟรีจากหน่วยงานการกุศล วิกฤติทางการเงินในครั้งนี้เกิดจากความตื่นตัวเกินเหตุของบรรดาอเมริกันชนที่มีต่อตลาดหุ้นวอล สตรีท เลยพากันไปกู้เงินและนำมาลงทุนในตลาดหุ้นจนหมดตัวด้วยหวังรวยทางลัด ทำให้เกิดภาวะเก็งกำไรขึ้นและส่งผลให้ราคาหุ้นของหลายบริษัททะยานขึ้นสูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าตัว ทั้งที่ช่วงนั้นเศรษฐกิจอเมริกากำลังถดถอย จนกระทั้งเดือนกันยายนก็เริ่มมีข่าวลือว่าหลายบริษัทเกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นวอล สตรีทผันผวนอย่างหนัก หุ้นตกแบบทิ้งดิ่งจนถึงขีดสุด เกิดการระดมเทขายอย่างหนักจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หุ้นที่ประชาชนถืออยู่ในมือจึงกลายเป็นเพียงแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งในพริบตา กระทั่งธนาคารก็พากันล้มละลายหลายสิบแห่งเพราะประชาชนไม่สามารถคืนเงินกู้ได้

หายนะวิกฤติการเงินในครั้งนี้สอนให้รู้ว่าการลงทุนโดยขาดการศึกษาข้อมูลรอบด้านคือหายนะอย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรจากแมงเม่าบินเข้ากองไฟเลยแม้แต่น้อย

2) วิกฤตเศรษฐกิจอาเจนติน่า ค.ศ. 1999-2002

หายนะวิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่าเกิดจากความผิดพลาดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม นโยบายการเงิน ไปจนถึงการคอร์รัปชัน ทั้งหมดสั่งสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนถึงประชาธิปไตยซึ่งกดดันจากต่างประเทศ โดยอาร์เจนติน่ามีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงมากจนเกิดภาวะการขาดดุลทางการเงินอย่างหนัก แถมมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% และเกือบจะ 3000% ในปี 1983 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายทางการเงินใหม่หมด มีการกำหนดค่าเงินบาทแบบตายตัว แต่มันไม่ได้ให้ผลดีเลยกลับทำให้เกิดปัญหาด้านการส่งออกขึ้นอีก เพราะค่าเงินแข็งเกินไปทำให้สินค้าส่งออกขายได้ยากขึ้น หนี้เก่าก็มีเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องชำระหนี้สินคืนต่างประเทศก็ไม่สามารถใช้คืนได้ สุดท้าย IMF ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน

วิกฤตินี้ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าความสามารถของผู้นำและนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมีผลต่อการอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากขนาดไหน

3) วิกฤตเศรษฐกิจกรีซ ค.ศ.2009

วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมานี่เอง สาเหตุหลักมาจากการขาดวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารเงินคงคลังภายใน ผสมกับภาวะถดถอยทางการเงินของเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นจึงทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลถึงร้อยละ 14.5 และยังมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 113 ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมรายจ่ายต่อปีจำนวนมากอีก นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมาช้านานยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอีกด้วย ที่ร้ายกว่านั้นคือมันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป จนเหล่าบรรดาภาคี EU และ IMF ต้องเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้ประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ล้มละลาย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซนั้นมาจากการขาดไร้ซึ่งระเบียบวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศและการก่อหนี้สาธารณะสูงจนเกินไปตามรูปแบบประชานิยมนั่นเอง

4) วิกฤตการเงินรัสเซีย ค.ศ.1998

หายนะวิกฤติทางการเงินในดินแดนถิ่นหมีขาวและวอดก้าครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดให้นักลงทุนเป็นอย่างมาก เหตุเริ่มจากรัสเซียซึ่งเพิ่งหลุดพ้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิมและทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าส่งออกหลักๆ ในขณะนั้นคือเหล็ก น้ำมัน และทองแดง โดยมีเอเชียเป็นลูกค้าอันดับหนึ่ง แต่เมื่อเอเชียประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจของตนเอง การสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียก็ลดน้อยลงขณะที่ปริมาณการผลิตเท่าเดิม ราคาสินค้าจึงตกต่ำถึงขีดสุด แต่เนื่องจากรัสเซียต้องการเงินมาพัฒนาโครงสร้างประเทศจำนวนมหาศาลจึงออกพันธบัตรเงินกู้จำนวนมากออกขายให้นักลงทุนที่สนใจ โดยมี Yield (ผลผลิตสุทธิที่ได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งหักการสูญเสียออกทั้งหมด) ถึง 20% ในหนึ่งปีซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน และขณะนั้นนักลงทุนก็เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจรัสเซียมากพอสมควรเพราะเห็นว่ามี IMF คอยหนุนหลังอยู่จึงคิดว่าคงไม่มีความเสี่ยง นักลงทุนทั้งหลายจึงระดมกู้เงินจากทั่วโลกเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัสเซียเก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไร แต่แล้วหายนะก็เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียสวมบทซามูไรชักดาบเบี้ยวหนี้ทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998 แถมยังออกมาตรการห้ามประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคารอีกด้วย เศรษฐกิจจึงพังไปเกือบทั่วโลก วิกฤตินี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสอนนักลงทุนว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ และฟรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง

5) วิกฤตการเงินสวีเดน ค.ศ. 1990-1994

หลายคนค่อนข้างแปลกใจที่หายนะทางการเงินครั้งนี้เกิดที่ประเทศสวีเดนดินแดนที่ถือเป็นรัฐสวัสดิการต้นแบบและธรรมาภิบาลดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งจุดเด่นนี้เองได้กลายสภาพมาเป็นหนี้สาธารณะสูงสะสมมากนานหลายสิบปี จนเมื่อปลายปี ค.ศ.1980 สวีเดนได้เริ่มคลายความเข้มงวดต่างๆ ที่มีต่อสถาบันการเงินหลังจากคุมเข้มกว่า 50 ปี ผลก็คือสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้ภาคธุรกิจและประชาชนอย่างคะนองมือเนื่องจากยังไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทะยานขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์จนก่อให้เกิดการขยายตัวในลักษณะของฟองสบู่ แล้วในที่สุดฟองสบู่ก็แตก สินทรัพย์ต่างๆ ลดมูลค่าลงกลับกลายเป็นของด้อยค่าในพริบตา เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้ผล นักธุรกิจและประชาชนต่างไม่มีเงินใช้หนี้ ธนาคารจึงเริ่มล้มละลายเป็นแถบ แล้วจึงลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินด้านอัตราแลกเปลี่ยนในที่สุด จะเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารให้อิสระกับภาคธุรกิจมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมมักทำให้การจัดการมวลรวมของระบบธุรกิจขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาควบคุมระบบให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยไม่ผูกขาดเกินไปหรืออิสระจนเกินไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่