TSE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI

TSE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับดี  รับโอกาสธุรกิจเติบโตสูง


          บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 30 ต.ค.นี้ เป็นวันแรก มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี หลังมั่นใจในศักยภาพของบริษัทฯ โดยมีความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ในราคา 3.90 บาทล้นทะลัก ด้านผู้บริหาร TSE ลั่นเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งพร้อมเข้าร่วมเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาครัฐเพิ่มเติม ขณะที่ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง ที่ปรึกษาทางการเงินชี้ทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไทยสดใส รับภาครัฐตั้งเป้าภายในปี 2564 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3,000 เมกะวัตต์

          ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ภาครัฐตามนโยบายการสนับสนุนการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของสำนักงานนโยบายและพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรกในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 โดยใช้ชื่อย่อการซื้อขายว่า ‘TSE’ หลังการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 450 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 3.90 บาท ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่า หุ้น TSE จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน

          ทั้งนี้ บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์มุ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยเลือกใช้เทคโนโลยีและที่ตั้งทำเลที่เหมาะสมเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาว รวมถึงขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่นพลังงานลม ชีวมวล  ก๊าซชีวภาพ ขยะ รวมถึงขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปต่างประเทศในรูปแบบ Solar Farm และ Solar Rooftop เพื่อก้าวสู่บริษัทฯ ชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

          ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 25 โครงการ รวม 98.5 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าความร้อนจากแสงอาทิตย์ในระบบรางรวมแสง (Solar Thermal) ซึ่งได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 1 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตและเสนอขาย 4.5 เมกะวัตต์ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบโฟโต้โวลตาอิก หรือโซล่าร์เซลล์ (โรงไฟฟ้า PV) ในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไปซึ่งติดตั้งบริเวณพื้นดิน หรือ Solar Farm โดยร่วมทุนกับบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทหลักด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. จำนวน 10 โครงการในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี รวม 80 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ได้ครบทั้ง 10 โครงการ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์ (Commercial Rooftop) จำนวน 14 โครงการ โครงการละ 1 เมกะวัตต์ รวม 14 เมกะวัตต์ โดยเป็นพันธมิตรกับโฮมโปรและเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ครบทุกโครงการภายในสิ้นปีนี้ ทำให้บริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน

                “เรามีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีความพร้อมในการรุกขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อผลักดันบริษัทฯ ให้ก้าวสู่บริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย” ดร.แคทลีน กล่าว

                สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ที่ประมาณ 1,755 ล้านบาท จะนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่น การให้บริการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และจัดหาอุปกรณ์ อีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

          ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทย มีอนาคตที่สดใสจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยภาครัฐได้เพิ่มเป้าหมายของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2555-2564 ให้เป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิต และล่าสุดยังได้อนุมัติปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2564 ขึ้นอีก 4,726 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มเป็น 13,927 เมกะวัตต์ ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีเป้าหมายไฟฟ้าอยู่ที่ 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 ที่เชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งของ TSE ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งในการทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมถึงมีแผนขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ TSE และความมุ่งมั่น เพื่อก้าวสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตลอดจนการเติบโตต่อไปในอนาคต



Credit : http://goo.gl/ytW5jP

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่