‘บ้านปู’ บุก EV เต็มสูบ เตรียมผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออนป้อนรถยนต์ไฟฟ้าค่าย GWM และ NETA พร้อมเล็งหาพันธมิตรลงทุนเหมืองแร่

บ้านปูรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV เตรียมผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนป้อนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 60,000 ชุดต่อปี คาดเริ่มผลิตป้อนค่ายรถได้ทันภายในไตรมาสแรกของปี 2567 พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนเหมืองนิกเกิล ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ชี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตร และดำเนินการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล รวมถึงต้องรอนโยบายการลงทุนและการส่งเสริมที่ชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียก่อนจึงจะดำเนินการได้
 
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทในเครือคือ บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu Next) เข้าซื้อหุ้น 40% ของบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SVOLT Thailand ด้วยมูลค่าการลงทุน 750 ล้านบาท เมื่อเดือนตุลาคมผ่านมา ล่าสุด SVOLT Thailand ซึ่งมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้จัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Module Pack Factory) สำหรับ 60,000 ชุดต่อปี ป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่ส่งมอบได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 
“ลูกค้ารายสำคัญของเราจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งได้ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) และ HOZON หรือเจ้าของแบรนด์ NETA” สมฤดีกล่าว
 
นอกจากนี้ บ้านปูวางแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เช่นเดียวกับรถโดยสารและรถบรรทุกไฟฟ้า
 
ปัจจุบันธุรกิจถ่านหินและธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้ของบริษัทในปี 2565 และบริษัทกำลังมุ่งลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกที่ลดคาร์บอน เช่น การผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
เล็งหาพันธมิตรรุกลงทุนนิกเกิลในอินโดนีเซีย
 
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า EV ข้างต้นแล้ว บ้านปูยังวางกลยุทธ์ในการลงทุนมูลค่าสูง โดยตั้งเป้าไปที่การขุดแหล่งแร่นิกเกิลในอินโดนีเซียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 
“เราไม่ได้สร้างเฉพาะแบตเตอรี่สำหรับ EV เท่านั้น เรายังสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับ EV และพลังงานหมุนเวียนด้วย” สมฤดีกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม สมฤดีย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจเหมืองต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล บริษัทจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และต้องรอนโยบายการลงทุนและการส่งเสริมที่ชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียก่อนจึงจะดำเนินการ โดยบริษัทคาดว่าจะหาพันธมิตรใหม่และสรุปกลยุทธ์การลงทุนภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในส่วนนี้ผู้หุ้นส่วนรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็คาดหวังกับบ้านปูไม่น้อย  
 
ทั้งนี้ บ้านปูประกาศกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 282% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น
 
นอกจากนี้ อีกกลุ่มบริษัทที่ไม่อาจมองข้ามคือกลุ่มบ้านปู (BANPU) ที่แตกไลน์ธุรกิจจากธุรกิจเหมืองถ่านหินและไฟฟ้า ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงาน (Transition) ทั้งองค์กร ในการลงทุนทุกประเทศที่บ้านปูมีฐานธุรกิจ โดยอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนที่มุ่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาด
 
โดยบ้านปูได้จัดตั้งบริษัท BANPU NEXT ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.บ้านปู (BANPU) 50% และ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) 50% เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Energy Provider ให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน BANPU NEXT ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขาย ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ และธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการจัดการพลังงาน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่