ขณะที่ชาวโลกทยอยเลิกภาษีมรดก แต่ถ้าประเทศไทยรุ่มร่ามเริ่มเก็บภาษีมรดก

ขณะที่ชาวโลกทยอยเลิกภาษีมรดก แต่ถ้าประเทศไทยรุ่มร่ามเริ่มเก็บภาษีมรดก
http://bit.ly/10AF5II

"ภาษีมรดก" ทวนกระแสโลก
วันที่ 31 ตุลาคม 2557 01:00

ขณะที่ชาวโลกทยอยเลิกภาษีมรดก แต่ถ้าประเทศไทยรุ่มร่ามเริ่มเก็บภาษีมรดก

หลังจากที่ลูกเลี้ยงของจูเลียส ซีซาร์คือ Gaius Octavius รบชนะ Mark Anthony ในอียิปต์จนทั้ง Mark Anthony และพระนาง Cleopatra ต้องฆ่าตัวตาย Gaius Octavius ก็ไร้คู่แข่งกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวรรดิโรมันจนต่อมา ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรม เปลี่ยนมาใช้พระนามว่า Caesar Augustus แล้วในปี พ.ศ. 548 ก็ออกกฎหมาย (lex Julia de vicesima hereditatum) ซึ่งอาจจะเป็นภาษีมรดกฉบับแรกเท่าที่หาได้ในประวัติศาสตร์ ที่เก็บภาษีร้อยละ 5 จากมรดกที่เจ้ามรดกยกให้คนนอกครอบครัว แต่ไม่เก็บภาษีจากมรดกที่ยกให้แก่คนในครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2391 Karl Marx บิดาของลัทธิคอมมิวนิสต์ เสนอให้เก็บภาษีมรดกและยึดทรัพย์มรดกของประชาชน เพื่อให้รัฐเอาไปใช้ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนยากจน ซึ่งความคิดนี้มีอิทธิพลมากต่อนักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อมา

บัดนี้ สถานการณ์โลกแปรเปลี่ยนไปตามความเจริญทางเทคโนโลยี ความมั่งคั่งของผู้ร่ำรวยต่างสามารถสร้างขึ้นได้ชั่วข้ามคืนและสามารถเคลื่อนไหวและบริหารได้โดยระบบ Remote Control คนมีเงินสามารถโยกย้ายทรัพย์สินของตนไปสะสมในที่ต่างๆ เพื่อเก็บไว้ให้คนในครอบครัวของตน แทนที่จะยอมเสียภาษีมรดกทำให้รูปแบบเศรษฐศาสตร์ใหม่นี้แตกต่างไปจากเดิมมาก

จนขณะนี้แนวโน้มของโลกคือทั้งของชาติที่กำลังพัฒนาและที่ร่ำรวยแล้ว ต่างก็ทยอยกันยกเลิกการเก็บภาษีมรดก แม้แต่ลูกศิษย์สำคัญของ Karl Marx คือประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสองประเทศ ทั้งรัสเซียกับจีนก็ไม่เอาด้วยกับคำสอนของอาจารย์ Marx ในเรื่องนี้แล้ว โดยรัสเซีย เลิกเก็บภาษีมรดกตั้งแต่ปี 2549 และจีนก็ประกาศไม่เก็บภาษีมรดกในปี 2556 ส่วนประเทศที่ร่ำรวย 7 ประเทศ ในกลุ่ม G20 ก็ไม่เก็บภาษีมรดกแล้ว

ส่วนในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านเราที่กำลังพยายามแย่งชิงการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศก็ทยอยเลิกภาษีมรดกกันตามลำดับ เช่น สิงคโปร์เลิกภาษีมรดกปี 2551 ฮ่องกงเลิกปี 2549 อินเดียเลิกปี 2528 บัดนี้ประเทศกลุ่ม AEC ก็มีเพียงสองประเทศที่เก็บภาษีมรดกคือ ฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ซึ่งเวียดนามก็พัฒนารูปแบบแตกต่างจากอาจารย์ Marx หันมาใช้วิชาต้นตำรับของ Caesar Augustus แทนคือไม่เก็บภาษีมรดกจากที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ตกทอดแก่คู่สมรส ลูกหลาน เขยสะใภ้ พ่อตาแม่ยาย ของเจ้ามรดก

ประเทศไทยเองก็เคยมีการเก็บภาษีมรดกมาแล้วในบางช่วงของสมัยอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ไม่โปรดให้เก็บภาษีมรดก จนรัฐบาลสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเรียกเก็บภาษีมรดกในปี 2476 และประกาศเลิกเองในปี 2487 เมื่อ 70 ปีที่แล้ว เพราะภาษีมรดกไม่เหมาะกับวัฒนธรรมสังคมคนไทย

ดังนั้น ขณะที่ชาวโลกทยอยเลิกภาษีมรดก แต่ถ้าประเทศไทยรุ่มร่ามเริ่มเก็บภาษีมรดก น่าจะทำให้ศักยภาพและเสน่ห์ของการน่าลงทุนในประเทศไทยเสื่อมหายไปอีกหลายขุม เพราะภาษีมรดกนั้นแม้จะเท่ห์ย้อนยุคแต่ก็วิ่งสวนทางกับแนวโน้มการพัฒนาของโลก และทำให้นักลงทุนยุคใหม่ทั้งไทยและเทศลังเลที่จะลงทุนหรือสะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งในไทยไว้ให้ผู้สืบทอดที่ตนรักเพราะเกรงปัญหาภาระภาษีมรดกที่จะเกิดขึ้นกับทายาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทยอยู่แล้วและไม่มีภาษีมรดก อาจทำการลงทุนในประเทศไทยกลายเป็นการลงทุนแบบระยะสั้นเป็นหลัก เพราะนักลงทุนยุคใหม่มองหาเสน่ห์ของไทยไม่พบ และภาษีไทยก็แพงกว่าคนอื่น แล้วถ้านักลงทุนตายไปทายาทของเขาต้องเสียภาษีมรดกอีก

เกรงว่ากลยุทธ์ของไทยคราวนี้จะเป็นการเชิญชวนนักลงทุนให้ไปลงทุนที่เพื่อนบ้านเราแทน

ระบบการจัดเก็บภาษีในประเทศร่ำรวยที่มีการเก็บภาษีมรดกนี้ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่จัดเก็บภาษีมรดกมานาน ตั้งแต่เพื่อหาทุนสนับสนุนการทำสงครามจนปัจจุบัน แต่ภาครัฐผู้จัดเก็บภาษีทำงานอย่างตรงไปตรงมา จนชาวอเมริกันยอมรับการทำหน้าที่ของสรรพากร จนมีคำพูดเล่นกันว่า สิ่งที่เลี่ยงเลี่ยงไม่ได้ในอเมริกาคือความตายและภาษี และคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสรรพากรของสหรัฐ (IRS) ทำงานมีประสิทธิภาพเหนือกว่าหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐ (Home Land Security) เสียอีก

แต่เมื่อหันมาดูการจัดเก็บภาษีในประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าภาครัฐเรายังไม่ได้ใช้ความสามารถในการจัดเก็บภาษีกันอย่างเต็มที่และอย่างเสมอภาค เพราะจากจำนวนประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีเพียง 3 ล้านเศษ ที่ยอมเสียภาษีครับ

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บภาษีได้จากประชากรเพียง 3.25 ล้านคนหรือ 4.92% ของประชากรทั้งหมด โดยที่ประชากรอีก 95.08% ของประเทศไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้

ขณะเดียวกันมีผู้ที่ยอมรับว่าตนมีเงินได้เกิน 4 ล้านบาทเศษต่อปี และเสียภาษีให้กระทรวงการคลังถึงขั้นอัตรา 35 % (เดิม 37%) อยู่เพียง 24,709 คน หรือ 0.0374%ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าดูตัวเลขจำนวนรถยนต์ราคาเกินคันละ 4 ล้านและบ้านคอนโดที่ราคาเกินหลังละ 4 ล้านที่มียอดขายในบ้านเราแต่ละปีแล้วมีจำนวนมาก ต้องสรุปว่ายังมีประชากรอีกจำนวนมากที่มีรายได้สูงแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีที่เป็นธรรมและถูกต้องอย่างแน่นอนครับ

การเก็บภาษีมรดกจึงเป็นเหมือนการที่กระทรวงการคลังตั้งเป้ารีดเลือดจากทรัพย์มรดกของคนจำนวนเล็กน้อย แทนที่กระทรวงการคลังจะขวนขวายไปหาทางชักจูงให้ประชาชนผู้ไม่ยอมยื่น ภ.ง.ด. อีกจำนวน 56.21 ล้านคนหรือ 85.17% ของประชาชนทั้งประเทศเลยเข้าสู่ระบบการเสียภาษีที่ถูกต้องและเป็นธรรม เช่นนี้ย่อมเป็นกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ทำมาหากินและเสียภาษีโดยสุจริต หากประชากรผู้เสียภาษีเหล่านี้คิดว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ (56.21 ล้านคนหรือ 85.17% ของทั้งประเทศ) เลี่ยงภาษีแล้วรวยกว่าตนเอง คนสุจริตเหล่านี้อาจเริ่มหาทางที่จะหลบออกนอกระบบภาษีเมื่อสามารถที่จะทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำเช่นนี้เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองต่างๆ ใช้เรื่องภาษีเป็นประเด็นหาเสียงว่าจะล้มภาษีมรดกเพื่อจูงใจดึงเอาชนชั้นกลางและคนร่ำรวยเข้าเป็นพวกในการเลือกตั้งคราวหน้า

การลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ไม่ใช่การรีดเค้นจากคนจำนวนน้อยนิดที่ออกมารับว่าตนมีรายได้เท่าไรและยอมเสียภาษีอย่างถูกต้อง ก่อนที่กระทรวงคลังจะเริ่มเปิดเกมส์ใหม่เช่น เก็บภาษีมรดกนั้น กระทรวงคลังต้องทำหน้าที่ปัจจุบันของตนให้สมบูรณ์เสียก่อน คือทำงานขยายฐานการเก็บภาษีโดยการดึงเอาประชาชนอีก 85% ของไทย (ยกเว้นเด็กและผู้ไม่มีงานทำ) เข้าสู่ระบบการเสียภาษีให้เป็นเรื่องเป็นราว

ถ้าเพียงกระทรวงคลังแสดงฝีมือหาคนมาเสียภาษีเพิ่มได้อีก 4.92% ของประชากรคืออีกเพียง 3.25 ล้านคน ก็มีคนเสียภาษีเพิ่มอีกเท่าตัวก็น่าจะได้เงินรายได้เพิ่มเยอะแยะในลักษณะที่เป็นรายได้แบบยั่งยืนทุกปี แทนที่จะไปรอให้คนตายแล้วไปหารายได้จากกองมรดกของเขา
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
รัฐบาลเอาเงินไปแจกคนจน ทุกวันนี้เบี้ยยังชีพคนชรา 600 บาท ====> ไม่รังเกียจนโยบายนี้
แต่รังเกียจมาก ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ การจ่ายเงินอุดหนุน เดี๋ยวข้าว ยาง ลำใย สารพัด สินค้าเกษตรจ่ายทุกปีเลย ไม่จ่ายก็มีม็อบประท้วงบ้าบอ

คนทำงานเอกชนไม่พอกิน ค่ารถ ค่าหอ พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง ถามหน่อยขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้แบบเดียวกันบ้างไหม
ถ้าทำแล้วไม่คุ้ม ก็ควรเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนวิธีการ จะให้อุ้มทั้งปีทั้งชาติเลยหรอ เซ็งมาก ๆ อีกฝั่งหนึ่งเสียภาษีตามหน้าที่ อีกฝั่งไม่ต้องเสียแถมเงินให้อีกทุกปี มันยุติธรรมไหม

เอาแค่ง่ายๆ ตอนนี้  ลองบริหารเงินภาษีที่เก็บจากประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพให้ดูก่อน
ไม่ใช่คิดแต่ว่า ทำไงจะรีดภาษีได้เยอะๆ  แต่ไม่เคยคิดว่าจะบริหารเงินเหล่านั้นให้เกิดประโยชนแก่ส่วนรวมให้ดีที่สุดอย่างไร
คงเข้าตำรา  หามาง่าย ๆ จากประชาชน  ก็ใช้ไปไวๆ....อย่าให้เหลือค้างจ่ายงบประจำปี
อย่าบอกว่า ให้เปรียบเทียบกับบางประเทศที่เก็บภาษีมหาโหด...ขอโทษ สวัสดิการเขาก็ดีด้วย...
ที่สำคัญ...เสียเงินเพื่อให้คนอื่นโกงกิน  มันเจ็บนะ...

แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่แย่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่