ที่พิษณุโลก : ปฏิบัติการผังเมือง: นวัตกรรมการผังสำหรับทศวรรษแห่งความร่วมมือของรัฐและประชาชนในการสร้างยุทธศาสตร์เมือง


ปฏิบัติการผังเมือง: นวัตกรรมการผังสำหรับทศวรรษแห่งความร่วมมือของรัฐและประชาชนในการสร้างยุทธศาสตร์เมืองกรณีศึกษาผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก โดย ฐาปนา บุณยประวิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง


ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 16 ตุลาคม 2557
ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก

ความเป็นมาของปฏิบัติการผังเมือง
การปฏิบัติการผังเมืองหรือ Hand-On Public Workshop for Urban Planning) เป็นปฏิบัติการร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเพื่อระดมความคิดการพัฒนาเมืองที่หลากหลายให้แปรสภาพเป็นแผนผังทางกายภาพและเป็นแนวทางในการออกแบบรายละเอียดย่าน ชุมชน เมือง มหานคร และภูมิภาค พร้อมกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดที่ใช้ในการบริการจัดการทางกายภาพซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ การปฏิบัติการผังเมืองนับเป็นปฏิบัติการเดียวในขณะนี้ที่ถือว่าทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการสรุปความคิดเห็นเชิงลึกของประชาชน ผู้บริหารเมือง และผู้บริหารภาครัฐที่นำมาใช้ในการบูรณการเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และการออกแบบผังทางกายภาพสำหรับการวางแผนอนาคตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การลงทุนและบริหารจัดการโครงการคมนาคมและขนส่ง การลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพ และได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน จากการตรวจสอบเอกสารการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการวางผัง พบว่า ทุกประเทศ มลรัฐ เมือง และเทศบาลที่ใช้เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ต่างใช้เทคนิคการปฏิบัติการผังเมืองเป็นเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาความเห็นร่วมเพื่อใช้เป็นแนวทางหลักในการกำหนดแผนและผัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์และโปรแกรมการพัฒนาซึ่งต้องได้รับการอนุมัติงบประมาณจากตัวแทนของประชาชน

สำหรับโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในขั้นตอนการยกร่างผัง และได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เทคนิคการปฏิบัติการผังเมืองมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ลงลึกในรายละเอียด และสามารถกำหนดเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างรอบด้านสอดคล้องกับข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนั้น จึงได้นำมาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาได้พิจารณางดเว้นการใช้เทคนิคการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นรายละเอียดการออกแบบทางกายภาพ และการออกแบบข้อกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเหมาะสมกับข้อมูลและสภาพปัจจุบัน มีความสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนด และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ.2548


ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 16 ตุลาคม 2557
ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก

วัตถุประสงค์
ได้ใช้ตัวอย่างการกำหนดรายละเอียดการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมประชาชนจากโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกเป็นกรณีศึกษาสำหรับบทความนี้ ซึ่งโครงการได้กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องจำนวน 3 กลุ่มเป้าหมาย โดย
กลุ่มแรก เป็นตัวแทนหน่วยงานราชการส่วนกลาง หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา  
กลุ่มที่สอง เป็นภาคประชาชนซึ่งรับฟังผ่านตัวแทนองค์กรที่รัฐให้การรับรอง ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยงจังหวัดพิษณุโลก และ
กลุ่มที่สาม เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระของภาคประชาชนได้แก่ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ตัวแทนปราชญ์ท้องถิ่น และตัวแทนจากชุมชนซึ่งบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ สำหรับในการปฏิบัติการผังเมืองด้วยความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ครั้งที่ 1 นี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการสงวนรักษาและอนุรักษ์พื้นที่เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนา ซึ่งที่ปรึกษาได้รับความร่วมมือคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 (พิษณุโลก) และการประสานงานโดยตรงกับปราชญ์ท้องถิ่นด้านการเกษตร พร้อมตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก


ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 16 ตุลาคม 2557
ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก

เป้าหมายการปฏิบัติการผังเมือง
การปฏิบัติการผังเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ประการ ประกอบด้วย
    1. การรับฟังและปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับภาคและเมืองเพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา โดยกลุ่มองค์ความรู้ที่ต้องการจำแนกตามลักษณะการปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
       1.1 การสร้างยุทธศาสตร์และบทบาทของแต่ละภาคการผลิตและบริการของจังหวัดพิษณุโลกช่วง 20 ข้างหน้า
       1.2 การสร้างแนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาดและการกระจายสินค้า การวางผังและออกแบบพื้นที่ชนบทและเมืองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และการสร้างนโยบายและข้อกำหนดการบริหารจัดการ
       1.3 การกำหนดลำดับชั้นและขอบเขตพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่อ่อนไหวเชิงนิเวศพร้อมข้อเสนอการบริหารจัดการเชิงในเชิงผัง
    2. การสรุปความคิดเห็นด้านปัญหา อุปสรรค และแนวทางที่สามารถนำไปสู่การวางผังและออกแบบผังเมืองรวม แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
       2.1 การสรุปแนวทางและยุทธศาสตร์การวางผังที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน และการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       2.2 การสรุปนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินในสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากตัวแทนภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน
       4.2.3 การสรุปแนวทางในการสร้างหรือปรับปรุงข้อกำหนดในการบริหารจัดการด้านเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มอุตสาหกรรม วันที่ 20 ตุลาคม 2557 ห้องคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

ตัวอย่างประเด็นการสร้างความเห็นร่วม
เป้าหมายสำคัญของการปฏิบัติการผังเมือง ต้องการความแสวงหาความเห็นร่วมจากกลุ่มตัวแทนทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมการประชุมในการสร้างยุทธศาสตร์และแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนแผน ทั้งนี้หมายถึงแผนงานและโครงการที่แต่ละกลุ่มต้องกลับไปดำเนินการหลังการประชุม ตัวอย่างประเด็นที่หาข้อสรุปดังตารางด้านล่าง
ตัวอย่างการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยและข้อกำหนดการจัดการของแต่ละภาคส่วน



ภาพการชี้แจงผลการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มพาณิชยกรรม โดยคุณชโยดม ฉันทวรางค์ รองประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ห้องคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

สรุป
ผลที่ต้องการจากการปฏิบัติการผังเมืองที่สำคัญที่สุดคือ การสรุปความคิดเห็นเชิงลึกที่มีความหลากหลายของประชาชน ผู้บริหารเมือง และผู้บริหารภาครัฐโดยแปรความเป็นแผนและผังทางกายภาพ ใช้การบูรณการเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากร การออกแบบผังทางกายภาพสำหรับการกำหนดอนาคตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การลงทุนและบริหารจัดการโครงการคมนาคมและขนส่ง การลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ในทางปฏิบัติ กระบวนการปฏิบัติการผังเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาแนวทางในการแสวงหาความเห็นร่วมและแปรสภาพจากข้อคิดเห็นนำลงบนแผนผังหรือแผนที่ให้ได้ ต่อจากนั้น จึงให้เสนอระบบการบริหารจัดการและวิธีการขับเคลื่อนแผนซึ่งทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบในการดำเนินการ ต่อไป

ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด) เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ http://www.facebook.com/smartgrowththailand
อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ (เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลก เค้าไปถึงไหนกันแล้ว http://www.oknation.net/blog/smartgrowth
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่