ผังเมือง'เชียงใหม่'ต้องแก้ไขบางจุด!

ปัญหาผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ต้องแก้ไขบางจุดที่ขวางการพัฒนา : จันจิรา จารุศุภวัฒน์ ... รายงาน

                         ปัญหาผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ยังเป็นปัญหาที่ชาวเชียงใหม่หาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งทำให้นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชิญตัวแทนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนจากภาคประชาชน มาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "การแก้ไขหรือปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2555" ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมรับฝังความคิดเห็นของชาวเชียงใหม่ที่มาประชุมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อหาข้อยุติในเรื่องการแก้ไขหรือปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
                         นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งข้อเท็จจริงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ 6-7 ปีที่ผ่านมา แต่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะผังเมืองรวมฉบับเดิมหมดอายุ จึงเกิดปัญหาความล่าช้าขึ้น ขณะเดียวกันข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำผังเมืองรวมฉบับนี้ไม่สอดรับกับแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ของ จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน เพราะสภาพเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากข้อเท็จจริงที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวม การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง แต่กฎหมายเปิดช่องให้ เมื่อประกาศไปแล้วสามารถยื่นขอแก้ไขได้ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงแนะนำว่าหากผังเมืองรวมประกาศใช้แล้วไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงก็เชิญทุกฝ่ายมาประชุมหารือเพื่อยื่นขอแก้ไขได้
                         เนื่องจากผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครอบคลุมพื้นที่ไข่แดงของ จ.เชียงใหม่ ที่ตอบโจทย์ของการพัฒนาเมืองและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จึงต้องมองถึงการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้ครอบคลุมเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต รวมทั้งเพื่อให้ จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองน่าอยู่ เพราะปัจจุบันเชียงใหม่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผนที่การลงทุนและการท่องเที่ยวของโลก จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนและยังเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยอีกแห่งของโลกด้วย เมื่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเปลี่ยนแปลงไปชาวเชียงใหม่จึงต้องมาร่วมกันกำหนดทิศทางเมืองให้สอดรับกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาและเพื่อการอนุรักษ์ให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต
                         นายธานินทร์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ มีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด ทั้งการขยายถนนวงแหวนรอบที่ 1-3 และจำเป็นต้องขยายวงแหวนรอบที่ 4 เพิ่ม แต่ผังเมืองรวมที่มีการประกาศใช้กลับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา นอกจากนี้ จ.เชียงใหม่ ยังจำเป็นต้องมีโครงการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 เพราะสนามบินแห่งแรกกลายเป็นสนามบินที่อยู่ในเมืองไปแล้วไม่สามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้ แต่มีสายการบินจากต่างประเทศหลายรายที่ขอมาลงที่ จ.เชียงใหม่ และขอใช้เป็นศูนย์กลางการบิน หรือฮับการบินของภาคเหนือ
                         นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และรถไฟรางคู่ ดังนั้นการรักษาเมืองเชียงใหม่ให้น่าอยู่กับโอกาสที่ จ.เชียงใหม่ จะต้องก้าวไปข้างหน้านั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน เพราะการที่เชียงใหม่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ทุกฝ่ายต้องร่วมกันกำหนดทิศทางของเมืองว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ก่อนจะแก้ไขผังเมืองรวมจะต้องมีการจัดประชาคมเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น โดยเฉพาะการจะแก้ไขที่แก้เฉพาะจุด หรือการปรับปรุงที่ทำทั้งฉบับ ก่อนที่จะยื่นเรื่องขอแก้ไขไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง
                         ขณะที่ ผศ.ดร.ปรานอม ตันสุขานันท์ ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ ทั้งนี้ เพราะใช้เวลานานอาจเกิดภาวะสุญญากาศเหมือน 6 ปีที่ผ่านมา แต่ควรแก้ไขเฉพาะบางจุดที่มีปัญหาเท่านั้น เพราะผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้มีข้อดีอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเขตเมืองเก่าที่มีการจำกัดความสูง ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ฝั่งตะวันตกติดดอยสุเทพที่ถือเป็นปอดของคนเชียงใหม่ ซึ่งกำลังมีอัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งปลอดและโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
                         แต่ทั้งนี้ผังเมืองรวมยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เช่น ไม่ได้มองการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม เพราะไม่มีการกำหนดความสูงของอาคารในย่านศูนย์กลางของเมือง ซึ่งอยู่ติดกับเขตกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกและเป็นเขตย่านการค้าของเมืองเก่าและใกล้กับแม่น้ำปิง อาทิ ย่านวังสิงห์คำ กาดหลวง ช้างคลาน สันป่าข่อย ฯลฯ ซึ่งผังเมืองรวมฉบับดังกล่าวพื้นที่เหล่านี้อยู่ในโซนสีม่วงที่ไม่มีการจำกัดความสูง การพัฒนาเมืองจะมองเฉพาะมิติของการเติบโตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องดูความสามารถของพื้นที่ในการรองรับด้วย เมืองในพื้นที่ชั้นในควรควบคุมความสูงทั้งหมดขณะที่เมืองชั้นนอกตั้งแต่วงแหวนรอบนอกไปควรเป็นพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาแต่ต้องมีการออกแบบและกำหนดความสูงให้เหมาะสมไม่ควรปล่อยให้พัฒนาไปอย่างไร้ทิศทางเพราะจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
                         "เมืองชั้นนอกควรกำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ โดยหน่วยงานราชการต้องเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ รองรับการพัฒนา ซึ่งเอกชนจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุน แต่การพัฒนาที่ผ่านมาโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย เช่น คอมโดมิเนียม หอพัก จะเห็นว่ายังมีห้องว่างเหลืออยู่จำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าระบบการสร้างที่อยู่อาศัยในปัจจุบันกลไกยังมีปัญหาจนทำคนยังไม่สามารถเข้าถึงได้" ผศ.ดร.ปรานอม กล่าว


-----------------------
(ปัญหาผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ต้องแก้ไขบางจุดที่ขวางการพัฒนา : จันจิรา จารุศุภวัฒน์ ... รายงาน)

เครดิต จาก คมชัดลึก



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่