เมื่อฌาปนกิจสงเคราะห์เข้ามาผูกพันธ์กับการกู้เงินสหกรณ์ เหมือนประกันชีวิตผูกกับการกู้เงินธนาคาร

ฌาปนกิจสงเคราะห์ คือ สมาคมที่จัดตั้งเพื่อให้สมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเสียชีวิต ต้องส่งเงินรายเดือนในอัตราไม่แน่นอนตามจำนวนสมาชิกที่เสียชีวิต โดยแลกกับเงินค่าสงเคราะห์เมื่อเสียชีวิตจากสมาชิกทั้งหมดตามอัตราที่กำหนด เช่น 20 บาทต่อสมาชิก สมาชิกทั้งหมด 10,000 คน ขณะเสียชีวิต ทายาทก็จะได้เงิน 200,000 มองผิวเผินก็คล้ายการประกันชีวิต แต่ต่างกันตรงที่เลือกทุนประกันไม่ได้ ไม่มีค่าเวนคืน (ยกเลิกแล้วขอคืนเงินไม่ได้) เป็นสมาคมไม่แสวงหาผลกำไร เงินส่วนใหญ่เก็บอยู่ที่สมาชิกโดยไม่เน้นที่การลงทุนอย่างประกัน และอาจเปิดรับสมาชิกจำกัดเฉพาะในวงแคบ

ประกันชีวิตนั้นหลายคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดให้เสียเวลา เลือกแผนและวงเงินที่ต้องการ จ่ายเบี้ย ได้รับความคุ้มครอง หากยกเลิกก็อาจได้รับเงินคืนบางส่วน (เรียกว่าเวนคืน) หรือเมื่อสิ้นสุดเวลาก็มีโอกาสได้เงินคืนเช่นกัน ประกันบางทีอาจเรียกว่าเป็นการออมได้ (ในแบบที่ผลตอบแทนไม่สูงนักแต่มีค่าหัวคิวสูง) ในขณะที่ฌาปนกิจสงเคราะห์แทบจะไม่เป็นการออมเลย เพราะไม่มีมูลค่าที่ควบคุมได้ มูลค่าขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก

ทั้ง ฌาปนกิจสงเคราะห์และประกันชีวิต ต่างมีข้อดีข้อเสีย เหมาะสมกับบุคคลต่างกันไป
คนที่อยากทำเขาก็ทำเอง คนที่ไม่อยากทำก็ได้โปรดอย่าบังคับกันเสียเกินไป ควรให้ทางเลือกกันบ้าง

สำหรับประกันชีวิตนั้น เราทราบกันดีว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั้งขอร้องแกมบังคับ หรือมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันสำหรับผู้กู้ที่ทำและไม่ทำประกันชีวิต (รวมถึงประกันวิศนาศภัย ซึ่งเป็นกรณีบังคับเท่านั้น)  เหตุผลผิวเผินคือประกันจะเป็นหลักประกันให้เพิ่มเติมจากหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน แต่เหตุผลเบื้องลึกลงไปคือค่านายหน้าประกัน (เพราะไม่ยอมให้ลูกค้าเลือกใช้บริษัทประกันอื่น ทั้งที่ปัจจุบันอุตสาหกรรรมการประกันชีวิตและวินาศภัยมีมาตรฐานเดียวกันและมีกองทุนรองรับกรณีบริษัทล้มละลาย)

พูดไปเสียยาวขอกลับเข้าประเด็นหลักก็คือปัจจุบันเริ่มมีสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งบังคับให้ผู้กู้ต้องทำฌาปนกิจสงเคราะห์ของกลุ่มสหกรณ์ด้วย
ซึ่งคนกู้ไม่มีทางเลือกอื่นใด (นอกจากไปกู้เสียที่อื่นหรือเปลี่ยนประเภทเงินกู้)
เรื่องนี้ค่อนข้างใหม่ ไม่แน่ว่าจะขยายออกไปถึงสหกรณ์จำนวนมากต่อไป
จึงอยากขอความเห็นเพื่อนๆ ว่าเคยเจอเรื่องแบบนี้บางไหมและคิดเห็นอย่างไรกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่