ยุบ"ปปช."เสียดีไหม ... คอลัมน์ ใบตองแห้ง

โหคิดได้ไง อยากให้คนโกงครองเมืองใช่ไหมถึงคิด ยุบองค์กรปราบทุจริต แล้วจะเอาคนดีๆ อย่างท่านวิชา มหาคุณ ไปไว้ที่ไหน

เรื่อง ท่านวิชาไม่ต้องห่วงนะครับ ยังไงๆ ท่านก็จะครบวาระปี 2559 หลังจากนั้นท่านอาจได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น กกต. หรืออะไรซักอย่าง ตามวิถีคนดี ซึ่งประเทศนี้มีน้อย คนดีเลยต้องเวียนเทียน

จำเป็นไหมที่ต้องมีองค์กรอิสระตามรัฐ ธรรมนูญมาปราบทุจริต ประเทศอื่นมีหรือเปล่า ทำไมเราต้องเหนือชาติใดในโลก เหนือหรือด้อยกันแน่ ทุกประเทศเขามีองค์กรปราบทุจริตทั้งสิ้นแต่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เช่นหน่วยตรวจสอบภายในของตำรวจ แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมซึ่งมีศาลตัดสินตามปกติ

รัฐธรรมนูญ 2540 สร้าง ป.ป.ช.ขึ้นแบบเดียวกับ กกต. และองค์กรต่างๆ ด้วยแนวคิดรวบอำนาจไว้กับองค์กรผู้วิเศษ หวังว่าจะมีทหารเทพยดาลอยมาจากฟากฟ้า หรือดอกบัวผุดจากโคลนตม ชำระล้างการเมืองโสมมด้วยวิธีลัดขั้นตอน เพราะ เบื่อหน่ายกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม ว่าใช้ไม่ได้ผล

ผลก็คือเรามี กกต.ที่สามารถชี้ขาดการเลือกตั้งเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน เรามี ป.ป.ช.ที่อำนาจล้น แต่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นกลาง ปราศจากอคติทางการเมือง

ปัญหาของ ป.ป.ช.คืออะไร คือถ้าท่านเอาหลักฐานมากาง ชี้ว่าโอนเงินบัญชีนี้บัญชีนั้นยักย้ายไปต่างประเทศ ทุกฝ่ายก็จะแซ่ซ้อง ถึงไม่ยอมรับก็ต้องจำนนต่อหลักฐาน แต่ไม่ใช่ท่านมาพูดลอยๆ แล้วพอจะฟ้องศาลก็อ้างงานวิจัย TDRI หรือเอาเป็นเอาตายกับ ส.ส. ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปแล้ว

ปัญหาของ ป.ป.ช.คือการเอาผิดนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้สวยงามอย่างคดีพระรักเกียรติ ที่มีหลักฐานการเงินดิ้นไม่หลุด แต่กลายเป็นการเล่นสำนวนคดีตีความกฎหมาย เพื่อถอดถอนหรือเพื่อเอาผิดทั้งที่ประชาชนไม่เห็นประจักษ์ ตัวอย่างชัดๆ ก็ผลงานร่วมกับ คตส. ทักษิณไม่ทุจริตแต่ติดคุกเพราะเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน

การเอาผิดนักการเมืองยังต้องไปศาลหรือถอดถอนก็ไปสภา แต่ที่มีปัญหายิ่งกว่าคือชี้มูลความผิดข้าราชการ ซึ่ง ป.ป.ช.ทั้งสอบสวนและลงโทษเบ็ดเสร็จ ถ้าชี้ผิดวินัยร้ายแรงแล้วคอขาดทุกราย จะอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมก็ไม่ได้

ตัวอย่างไม่ต้องอื่นไกล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดน ป.ป.ช. ชี้ผิดวินัยร้ายแรง ประพฤติชั่วร้ายแรง คดีสลายม็อบพันธมิตรหน้ารัฐสภา ทั้งที่ทำตามคำสั่งรัฐบาลและศาลปกครองก็ชี้ว่า ม็อบไม่ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจมีอำนาจและมีหน้าที่สลายม็อบ

พล.ต.อ.พัชรวาท อุทธรณ์ ก.ตร.ซึ่งเห็นว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก.ตร.แจ้งไปยังนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ยกเลิกคำสั่ง ปลดออก แต่อภิสิทธิ์ทำไม่ได้ เพราะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญค้ำไว้ว่าถ้า ป.ป.ช.ชี้ผิดวินัยร้ายแรงแล้ว ต้นสังกัดจะเห็นต่าง ไม่ได้ ทำได้อย่างเก่งก็แค่ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออก

สุดท้าย พล.ต.อ.พัชรวาทต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่แทนที่จะฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องฟ้องอภิสิทธิ์ ว่าไม่ทำตามมติ ก.ตร. ปรากฏว่าท่านชนะ เพิ่งจะได้คืนตำแหน่งหลัง คสช.ยึดอำนาจ

วิถีทางนี้ข้าราชการใช้มา เป็นแถว ตั้งแต่ "โอ๋ สืบหก" ผู้ถูกชี้มูลว่าละเว้นปล่อยให้ทำร้ายม็อบไล่ทักษิณ ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ถูกชี้มูลฐานละเว้นไม่เก็บภาษีพจมานโอนหุ้นให้บรรณพจน์ (ซึ่งศาลอาญาก็ยกฟ้อง)

ยิ่งกว่านั้นยังมีศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดคลัง ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษทางวินัย กระทรวงการคลังคืนตำแหน่งให้ก่อนที่ท่านจะลาออกวันเดียวกัน

การให้ ป.ป.ช.มีอำนาจทั้งสอบสวนและลงโทษวินัย สมควรทบทวนไหมก็ฝากให้คิดกัน

อันที่จริงผมไม่ขัดข้องถ้าจะมี ป.ป.ช.อยู่ แต่ต้องมีอำนาจจำกัด ทำหน้าที่เพียงสอบสวนส่งฟ้องศาล ซึ่งต้องไม่ใช่ศาลเดียว ขณะที่การถอดถอนก็ต้องมุ่งถอดให้พ้นจากหน้าที่ ไม่ใช่ถอดเพื่อตัดสิทธิ 5 ปี นั่นควรจะให้ศาลตัดสิน

ป.ป.ช.ควรเป็นองค์กรกะทัดรัด ไม่ใช่ขยายอำนาจจนเป็น รัฐอิสระ เช่นที่จะขยาย ป.ป.ช.77 จังหวัด (ประธาน ป.ป.ช.จังหวัดเงินเดือน 57,000 บาทเชียวนะครับ) โดยระบบสรรหาของ ป.ป.ช.ก็น่ากังวลว่าจะได้ "คนดี" จริงไหม กระทั่ง คสช.ยังต้องออกประกาศฉบับที่ 72 เบรกการสรรหา วางกติกาสรรหาใหม่ และลดอำนาจไม่ให้มีอำนาจปราบปราม คงกลัวจะกลายเป็น "เสือตัวใหม่"

สังคมไทยควรเลิกความคิดใช้องค์กรผู้วิเศษ แล้วหันมาคิดเรื่องกระจายอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจ สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นั่นคือหนทางปราบทุจริตที่ได้ผลจริง


http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReE5EQTNOemd5TVE9PQ%3D%3D&sectionid

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่