เคยสงสัยมั้ยว่า "ปุ่มปิดลิฟต์เป็นปุ่มหลอกหรือเปล่านะ?" มาดูกัน

ใครที่เคยดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทจำพวกหนังผีหรือหนังซอมบี้คงคุ้นเคยกับฉากที่ตัวเอกวิ่งหนีเข้าไปในลิฟต์และกดปุ่มปิดรัวๆ แต่อนิจจา! ด้วยเหตุผลที่ไม่มีใครล่วงรู้ ประตูลิฟต์ก็ยังคงเปิดอยู่อย่างนั้น เสียงดนตรีสยองดังขึ้นแข่งเสียงกรีดร้อง ผู้ชมต่างก็จิกเก้าอี้ไปตามๆ กัน...

เคยสงสัยกันไหมว่าปุ่มกดปิดประตูลิฟต์นี่ แค่กดแล้วมีไฟ แต่ไม่มีผลอะไร ลิฟต์ปิดอย่างเชื่องช้าตามปกติ หรือมันเร่งให้ปิดได้จริงๆ กันนะ?

เมื่อกี้นั่งอ่านบทความไปเพลินๆ แล้วมาสะดุดกับข้อเขียนที่เกิดจากคำถามที่ว่า "ปุ่มปิดประตูลิฟต์นี่ใช้ได้จริง หรือเป็นแค่ปุ่มหลอก?" ที่ในบทความให้ชื่อน่ารักๆ ว่า "ปุ่ม Placebo"

จากบทความปรากฏว่าในสหรัฐฯ มีข้อกำหนดขนาดว่าปุ่มปิดประตูลิฟต์ทุกที่จะต้องสามารถทำงานได้ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงบ่นหลายกรณีว่าปุ่มดังกล่าวไม่ยอมทำงานก็ตาม

เรื่องแปลกก็คือ สำหรับประเทศเยอรมันแล้ว ลิฟต์แต่ละตัวจะมีปุ่มปิดหรือไม่ก็ได้ตามใจลูกค้าจะสั่งทำ (แต่ปุ่มเปิดข้างในต้องมีนะ) และสองผู้ผลิตลิฟต์โดยสารรายใหญ่ก็ให้คำยืนยันหนักแน่นว่า "ถ้ามีปุ่มนั่นแปะอยู่ล่ะก็ มันจะใช้งานได้แน่นอน" คนจากบริษัท Schindler หนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ยืนยันอีกครั้งว่า "ลิฟต์ของเรา ไม่มีปุ่ม Placebo อย่างที่ว่าแน่นอน"

อย่างไรก็ดีในลิฟต์บางรุ่นโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ ถึงแม้จะมีปุ่มปิดที่มีคำยืนยันแล้วว่าใช้ได้แน่นอน แต่ปุ่มนั่นจะไม่ปิดในทันทีที่กด การแกล้งให้ลิฟต์หนีบแขนหนีบขา หรือหนีบหัวเข้าไปเหมือนในหนัง จึงเกิดขึ้นได้ยากดังที่ผู้เชี่ยวชาญจาก ThyssenKrupp กล่าวว่าถึงแม้ปุ่มปิดประตูจะสามารถใช้งานได้ แต่ก็มีหลายกรณีที่ฟังก์ชันของปุ่มจะถูกยับยั้ง เช่นขณะประตูเพิ่งเปิดรับผู้โดยสาร, มีวัตถุอยู่ในเขตเซนเซอร์ ฯลฯ

ฉะนั้น หากยามค่ำของคืนใดที่คุณอยู่ในลิฟต์เพียงลำพังแล้วพบว่าประตูลิฟต์ที่ควรจะปิด ไม่ยอมปิดเสียที บวกกับปุ่มปิดประตูที่แม้จะกดกี่ครั้งก็ไร้ผล...นั่นอาจหมายถึงกำลังมีใคร หรืออะไร อยู่บริเวณประตูลิฟต์และหายใจรดต้นคอคุณอยู่ ก็ เป็น ด้ายย

ที่มา http://www.zeit.de/2014/41/lift-aufzug-tuer-schliessen-placebo-stimmts
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่