[SR] Gone Girl “ชีวิตคู่มีอะไรมากกว่าเเค่คนสองคน”


นับเป็นหนังทริลเลอร์จิตวิทยา ที่น่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ โดยหนังสร้างมาจากนิยายของ Gillian Flynn พร้อมทั้งได้ David Fincher มาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ ซึ่งหนังจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการหายตัวไปของภรรยาสาว Amy Dunne ในวันฉลองครบรอบ 5 ปีของการแต่งงานกับสามีของเธอ Nick Dunne ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจทำการฆาตกรรมภรรยาของตัวเอง



ตัวหนังหลักๆจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรกจะเป็นช่วงของการสืบสวน เดินเรื่องด้วยความเร็วระดับต่ำ แต่ค่อนข้างมั่นคง เปิดประเด็นด้วยการหายตัวไปของภรรยาสาว Amy ที่เต็มไปด้วยปริศนามากมาย และความคลาดแคลงใจในตัวของ Nick พร้อมไปกับการเล่าเรื่องราวผ่าน diary ของ Amy ที่เป็นการปอกเปลือกความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ออกมาได้อย่างโจ่งแจ้ง และหลังจากนั้นก็ดำเนินเรื่องไปสู่ความตึงเครียดจากความกราดเกรี้ยวของผู้คน และสื่อที่โหมกระหน่ำ ที่นับครั้งจะเริ่มหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปจบลงที่จุด twist (ที่คาดเดาได้ไม่ยาก) และก็ต่อเนื่องกับในส่วนที่ 2 สังคมพิพากษ์ โดยในส่วนนี้มันเหมือนกับการปรับตัวของตัวละคร ให้สอดคล้องกับกระแสทิศทางสังคม และ social network

นับเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่เดินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ(โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรก) ถึงแม้ว่าช่วงต้นอาจจะดูเฉื่อยๆไปบ้าง และเป็นจังหวะที่ไม่หวือหวามากนัก แต่ด้วยบรรยากาศที่กดดัน อึมครึม ตามสไตล์ของหนังฟิล์มนัวร์ รวมถึงการแทรกสอด suspense ที่ทำได้ค่อนข้างดี อีกทั้งยังได้ดราม่าที่เข้มข้นเข้าเสริมรวมแล้ว มันก็เลยทำให้ช่วงครึ่งแรกดูน่าติดตาม มีความน่าสนใจอยู่มากพอสมควร และสำหรับช่วงครึ่งหลังที่ถึงแม้ว่าจังหวะต่างๆจะดูรวดเร็วขึ้นมาหนึ่งระดับ แต่ก็ยังคงขาดความกระชับ และประเด็นของหนังดูไม่ดึงดูดเท่าในช่วงครึ่งแรก เพราะหลังจากจุด twist ปมสำคัญในหนังก็ถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้สามารถคาดเดาทิศทางของหนัง ไปจนถึงบทสรุปของหนังได้ไม่ยากนัก แต่ทั้งนี้คงต้องขอติว่าการตัดสินใจของตัวละครกับส่วนของบทสรุป ยังดูขาดแรงจูงใจที่น่าเชื่อถือ ถึงแม้ว่าหนังจะพยายามหาเหตุผลต่างๆมารองรับให้มันดูน่าเชื่อถือก็ตาม




สิ่งหนึ่งที่อยากชื่นชมของหนัง และเป็นสาเหตุที่ให้คะแนนหนังสูงถึงขนาดนี้ก็เพราะว่า ถ้าแยกตัวหนังออกจากประเภทหนังสืบสวน หนังจิตวิทยาระทึกขวัญ มันก็เปรียบได้กับหนังดราม่าชีวิตคู่ที่มีเนื้อหาชัดเจนและเข้มข้นไม่แพ้หนังประเภทนี้อย่าง Revolutionary Road หรือแม้แต่ Blue Valentineโดยในส่วนนี้ก็คงมาจากความจริงที่ว่าเนื้อหาของหนังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง เพราะชีวิตคู่นั้นเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน เข้าใจได้ยาก และมักจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งปัญหาหลักๆที่หนังได้นำเสนอถึงก็อย่างเช่น
- ความหวาดระแวง ซึ่งทางด้านการใช้ชีวิตคู่โดยการชอบจับผิด คอยระแวงว่า อีกฝ่ายจะแอบไปมีคนอื่นบ้างหรือแม้แต่กังวลว่าอีกฝ่ายจะเข้ามาทำร้ายตน โดยวิธีการแก้ปัญหาหลักๆก็ควรหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน ปรับทัศนคติที่ดีต่อกัน และบางครั้งก็ควรให้อิสระซึ่งกันและกัน เพราะการใช้ชีวิตคู่จะไม่สามารถมีความสุขได้ถ้าหากต่างฝ่ายไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน
- ความรู้เกี่ยวกับคู่ของตัวเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะแสดงว่าเราเอาใจใส่อีกฝ่ายมากแค่ไหน หรืออีกฝ่ายมีความสำคัญต่อเรามากน้อยเพียงไหน โดยเรื่องหลักๆที่เราควรรู้ก็คือ คู่ของตัวเองมีความฝันอะไร, ชอบกินอะไรหรือไม่ชอบกินอะไร และมีเพื่อนสนิทที่ไหน
- การใช้เวลาร่วมกัน ก็เปรียบเสมือนกับการสร้างความทรงจำดีๆร่วมกัน เพราะถ้าหากต่างคนต่างอยู่โดยไม่สนใจซึ่งกันและกัน ช่องว่างเหล่านั้นก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และอีกฝ่ายก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มหมดคุณค่า หมดความน่าสนใจ




ส่วนของนักแสดงซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของหนังเรื่องนี้ และเป็นอีกหนึ่งการ casting ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ David Fincher นับตั้งแต่การเลือก Jesse Eisenberg ในหนัง The Social Network ซึ่งในเรื่องนี้ทางด้าน Ben Affleck กับบททาบของ Nick Dunne ก็ดูเหมาะสมและสามารถทำออกมาได้ยอดเยี่ยม(ดีกว่ามาตรฐาน) โดยเฉพาะพาร์ทสืบสวนในครึ่งแรก ที่ต้องสื่อถึงบุคลิกที่คลุมเครือ ไม่มีความแน่นอน โดยในส่วนนี้การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางนั้นถือว่ามีความสำคัญมาก และก็เหมือนกับว่า Ben Affleck จะทำการศึกษาพฤติกรรมของคนประเภทนี้มาเป็นอย่างดี อย่างสิ่งที่เขาแสดงออกมาเช่น จังหวะการพูดที่ดูขาดๆไม่ค่อยมั่นใจ , แววตาที่ดูเฉยชา และการแสดงออกแบบครึ่งๆกลางๆเสมือนว่าไม่มีค่อยพึงพอใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ในส่วนนี้ก็เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ชวนให้น่าสงสัย และส่วนทางด้าน Rosamund Pike ในบทบาทของ Amy Dunne สาวสวยที่มีนิสัยเฉลียวฉลาด มีความลึก มีมิติอยู่ในตัว ซึ่งเธอก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมากๆ นับว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเธออย่างไม่ต้องสงสัย โดยสิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือเรื่องแววตา ที่ดูล้ำลึก เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ยากต่อการคาดเดา
ท้ายที่สุดนี้ในส่วนของนักแสดงก็นับว่าทำได้ดีมากๆทั้งคู่ แต่ถ้ามองไปถึงว่าใครมีโอกาสได้เข้าออสการ์ในต้นปีหน้า คำตอบก็คงต้องเป็น Rosamund Pike ที่บทค่อนข้างส่ง ท้าทายและดูมิติมากกว่าบทบาทของ Nick Dunne




ส่วนของ score ที่ประพันธ์โดย Trent Reznor/ Atticus Ross นับว่าดูไม่โดดเด่น และไม่มีผลต่อการสร้างอารมณ์ร่วมอย่างเท่าที่ควร ซึ่งจะเด่นชัดขึ้นมาหน่อยก็มีอยู่ไม่กี่เพลงอย่าง Still Gone(เพลงนี้ทรงพลังมาก ทำให้นึกถึงตอน The Social Network) และ What Have We Done To Each Other? ที่เราจะได้ยินตั้งแต่ตัว trailer โดยสองเพลงนี้จะให้ความรู้สึกที่หวาดผวา อึดอัด และไม่มั่นคง ซึ่งมันค่อนข้างจะมีผลต่อการบิวท์อารมณ์ฉากสำคัญๆของเรื่องอยู่พอสมควร




โดยภาพรวม ตัวหนักค่อนข้างจะหนักไปทางของหนัง marriage drama มากกว่า psychological thriller + suspense โดยทั้งนี้ประเด็นต่างๆที่หนังได้นำเสนอก็นับว่าทำได้ค่อนข้างจะดี ซึ่งคงเป็นผลพวงมาจากบทหนังที่ยอดเยี่ยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งการสะท้อนปัญหาของชีวิตครอบครัวในแบบสังคมอเมริกัน และยังรวมไปถึงการเสียดสีอิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยส่วนตัว Gone Girl จึงเปรียบเสมือนส่วนผสมระหว่าง Revolutionary Road + Zodiac
อย่างไรก็ตาม Gone Girl จึงเป็นหนังดีอีกเรื่องที่อยากแนะนำให้ลองไปรับชมกัน ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัวอาจจะรู้สึกขัดใจในบางส่วนของหนัง(โดยเฉพาะครึ่งหลัง) แต่ทั้งนี้หนังก็ยังคงธีมของมันไว้ได้อย่างมั่นคง(การแต่งงานเปรียบกับการเสี่ยงดวง)และยังสามารถนำเสนออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นแล้วคอหนังสืบสวน หนังจิตวิทยาไม่ควรพลาดด้วยประการใดทั้งปวง
คะเเนน 8.5/10


ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme
ชื่อสินค้า:   Gone Girl (2014)
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่