.......ร่วมสมทบทุนผ้าป่า 3.50 บาท เป็นทานอันยิ่งใหญ่ในชีวิตข้าพเจ้า.....

กระทู้สนทนา
อยากจะเล่าให้คนที่นี่ฟัง.....เผื่อจะได้อนุโมทนาสาธุกับบุญกุศลที่ผมได้เคยทำไว้

เกิดในชนบทภาคอีสาน.....ตั้งแต่เด็กแม่มอบหมายหน้าที่ใส่บาตรพระทุกเช้าเป็นวิถีชีวิตที่ยังเห็นอยู่ทุกวันในชนบทอีสาน  
เรียนด้วยความสัตย์ว่า....ใส่บาตรตอนนั้นก็เพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่  ยังไม่ได้ลึกซึ้งอะไร....
ช่วงเข้าพรรษา...แม่จะไปนอนที่วัดถือศีลแปดกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ (เป็นอีกวิถีชีวิตของคนเฒ่าคนแก่ในภาคอีสาน)  ผมทำหน้าที่คอยไปส่งผ้าชุดใหม่ให้แม่ผลัดในตอนเย็น   ท่านมักจะคะยั้นคะยอให้นั่งฟังเทศน์ด้วย...แต่ผมไม่ชอบของฟรี  (เด็กๆ สมัยนั้นมักจะล้อกันเล่นๆ ว่าของฟรีสองอย่างที่ไม่ชอบคือ ฉีดยากวัดซีน กับฟังเทศน์)  แม่จะจ้างทีละสลึงบ้างทีละห้าสิบสตางค์บ้างให้อยู่นั่งฟังเทศน์......ผมก็ฟังๆ ไปแบบหูทวนลมเพื่อเอาเงิน...ใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่พระท่านจะกล่าว "เอวัง  ก็มีด้วยประการ ฉะนี้ฯ " แล้วลงธรรมาสน์......ตอนนั้นไม่ประสีประสาตามประสาเด็ก


มีอยู่วันหนึ่ง   หมู่บ้านของผมจัดทำกองผ้าป่าไปทอดอีกหมู่บ้านหนึ่ง (อันนี้ก็เป็นประเพณีทำบุญระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้านในภาคอีสาน)  ผมติดตามกองผ้าป่าไปด้วย (เดินเท้าเปล่าแห่ขบวน)  กะไปกินของฟรี.....เพราะอีกฝ่ายต้องทำอาหารต้อนรับคณะผ้าป่าจากหมู่บ้านของเราโดยธรรมเนียม   ตามคาด...วันนั้นได้กินอาหารอิ่มแปร้......พอถึงเวลานับเงินยอดกองผ้าป่า...มัคคทายกก็ประกาศยอด   จากนั้น  ก็มีการประกาศ "ต่อยอด" กัน   โดยบอกว่าเงินจำนวนนี้เจ้าอาวาสจะนำไปซื้ออุปกรณ์โต๊ะ เก้าอี้สำหรับพระเณรได้เรียน  (สมัยนั้น ยังไม่ได้ใช้สมุดนะ  ยังใช้กระดานชนวนอยู่  นั่งกับพื้นเรียน ส่วนอาคารเรียนก็ใช้โรงหมอลำในวัดเรียน)   ทางคณะผ้าป่าต้องการเงินต่อยอดเพิ่มอีก  ประมาณ 180 บาทจะได้กองผ้าป่าครบ 999 บาท    


ตอนนั้น"เงินเดือน" ผมออกพอดี......คือผมมีอาชีพรับจ้างเลี้ยงควายให้เพื่อนบ้าน  ได้รับค่าจ้างมา 5 บาทสมัยนั้นถือว่าโขทีเดียว   เหรียญสลึงเหรียญบาทเหรียญห้าสิบเพียบ  ผมมัดเงินเหรียญนั้นติดกับเสื้อ.....นั่งฟังอานิสงส์ของการให้ทานจากมัคคทายกไปก็เกิดเลื่อมใสตาม    แก้ห่อเงินออกจากชายเสื้อร่วมสมทบทุนต่อยอดไปหนึ่งบาท(ในตอนแรก)    เพื่อนเด็กด้วยกันเห็นผมต่อยอดหนึ่งบาทถึงกับอุทานโอ้โห้ตาลุกวาวไม่เชื่อสายตา     เวลาผ่านไป...ชาวบ้านก็ช่วยกันต่อบาททีบาท ห้าบาท สิบบาท....มัคคทายก(อดีตคนเคยบวช)ก็บรรยายเรื่องนางวิสาขาถวายเครื่องประดับอันเลิศเพื่อสร้างวัดบุพผาราม....ผมตัดสินใจควักเงินทั้งหมดไปให้คนรับบริจาคอย่างไม่เสียดาย....จนน้าผู้รับบริจาคต้องคืนเงินให้ผม 1.50 บาท บอกไอ้หนูเก็บไว้ซื้อขนมกินบ้าง.....เพื่อนผมทึ่ง  หลายคนทึ่ง  ผมเองก็ทึ่งตัวผมเองนะ.....เงินมากขนาดนั้นต้องตากแดดกลางทุ่งรับจ้างเลี้ยงควายเป็นอาทิตย์ถึงจะได้มา    และตอนนั้นผมรู้สึก "ปีติ" ภาคภูมิใจในตัวเองมาก  คงจะอธิบายสั้นๆ ตรงนี้ว่า "ิอิ่มบุญ"  แม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อยในสายตาผู้ใหญ่    


ทุกวันนี้เวลามีคนมาถามผมว่าภูมิใจในการทำบุญตอนไนหมากที่สุด   นอกจากได้มีโอกาสได้บวชให้แม่และสัญญาว่าจะอยู่ในผ้าเหลืองจนท่านสิ้นแล้ว  ผมภูมิใจกับเงิน 3.50 บาทที่ผมทำบุญไปเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนมากที่สุด   ทุกวันนี้ผมยังสัมผัสความรู้สึก "อิ่มบุญ" ตรงนั้นได้อยู่เลย  นึกถึงวันนั้นทีไรใจโล่งอิ่มเอิมอย่างประหลาด   เวลามีเรื่องราวที่ทำให้จิตตก  ผมมักจะนึกถึงตรงนั้นเสมอๆ     ผมใช้ชีวิตและทำงานอยู่ต่างประเทศมานานพอสมควร   นานพอที่กลุ่มคนไทยในต่างแดนไว้ใจให้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างวัดไทยในเขตที่ผมและคนไทยอาศัยอยู่......แรงกายและแรงทรัพย์ที่ผมให้ไปในการสร้างวัดไทยในต่างแดนมากมายมหาศาลกว่าเงิน 3.50 หลายแสนเท่า แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าได้สัมผัสเนื้อนาบุญแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับที่ผมได้เคยบริจาค3.50 บาทเลย


อยากบอกว่า   ใครมีลูกมีหลานก็ช่วยปลูกฝังลูกหลานหมั่นทำบุญทำทานตั้งแต่เด็ก    ในขณะที่จิตใจของพวกเขายังไม่ถูกลนหรือเผาผลาญด้วย  ราคะ โทสะ โมหะ   จิตยังใสสะอาดบริสุทธิ์  ก็ย่อมส่งผลกุศลที่ทำไป       ชีวิตของผมปัจจุบัน....ไม่ได้มั่งมีอะไร  แต่ก็พอมีเก็บเพื่ออนาคตของลูกและพอบริจาคการกุศลบ้างตามวาระอันควร...การงานก็ถือว่าสูงสุดแล้วสำหรับคนที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำอย่างผม.....ทั้งหมดนี้ผมมีความรู้สึก(อาจจะเป็นอุปทานก็ได้)ว่าเป็นเพราะผลบุญที่ผมบริจาคเงิน 3.50 บาทในวันนั้น  ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ......แต่ก็ไม่อยากจะกินบุญเก่าตลอดไป   ก็พยายามทำบุญตลอด......แต่ยอมรับว่ามีความรู้สึกว่ายังไม่เต็มที่เท่าตอนนั้น(3.50 บาท)เลย


พฤษภกาสร  อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง  สำคัญหมายในกายมี
นรชาติ มวางวาย  มลายสิ้นทั้งอินทรย์
สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี  ประดับไว้ในโลกาฯ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่