ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะรณรงค์ให้ผู้ป่วยรู้ถึงสิทธิ์และค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการรักษาพยาบาล รพ ของรัฐ

วันนี้มีเรื่องมาเล่าครับ และอยากให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่จากการที่คนไข้ไม่เข้าใจในสิทธิ์และหน้าที่ของตนเอง ในการเข้าถึงการรักษาในสถานพยาบาลครับ แต่ยาวหน่อยนะครับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องของเพื่อนผม ซึ่งเป็นแพทย์ที่อยู่ รพ.รัฐบาล แล้วมารับจ๊อบอยู่เวรช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 30 เตียง ช่วงเวรดึก (24.00-07.00) ที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินของ รพ.นี้ จะมีแพทย์ 1 คน พยาบาล 1 คน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คน และเจ้าหน้าที่เวรเปลและคนขับรถ อย่างละ 1 คน เหตุการณ์ที่จะเล่าเกิดขึ้นในช่วงวันอยู่เวรคืนวันอาทิตย์ เวลา 02.00 มีเคสผู้ชายไทยอายุ 24 ปี เพื่อนนำส่งโดยให้ประวัติว่าถูกทำร้ายร่างกายมา 30 นาที เหตุเกิดที่ผับแห่งหนึ่ง ตรวจร่างกายเบื้องต้น ถามตอบรู้เรื่องดี จำเหตุการณ์ได้ ( GCS E3V5M6) มีกลิ่นแอลกอฮอล์ มีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบยาว 3 ซม.บริเวณหนังศีรษะ ตรวจร่างกายส่วนอื่นๆ ปกติดีไม่มีบาดแผลบริเวณอื่น ผมให้การรักษาโดย
   -    ทำความสะอาดแผลและเย็บแผลบริเวณหนังศีรษะ 5 เข็ม (Nylon 4-0 X 5 stitches)
   -    ให้ยากลับบ้านเป็นยาปฏิชีวนะ 20 เม็ด (Dicloxacillin 250 mg 1X4 oral AC)
   -    ยาพาราแก้ปวด 20 เม็ด และ
   -    ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 1 เข็ม

ปัญหาเริ่มมาเกิดขึ้นเมื่อจะให้ผู้ป่วยจ่ายเงินกลับบ้าน เพราะผู้ป่วยรายนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะต้องรับรักษาในโรงพยาบาล เมื่อแจ้งยอดค่าใช้จ่ายในการรักษา จำนวน 1,260 บาท ผู้ป่วยและเพื่อนที่มาด้วยกันอีก 3 คน เริ่มโวยวาย ว่าทำไมค่ารักษาถึงแพงจัง รักษาอะไรไปบ้าง ผมก็อธิบายไปตามการักษาเบื้องต้น แต่เพื่อนที่มาด้วยก็ไม่พอใจ บอกว่าแพงเกินไป (ขณะนั้นมีผู้แจ้งเหตุ ผู้ป่วยลมชักมีอาการโวยวายและไม่ยอมนอน พยาบาลและพนักงานขับรถจึงออกไปรับผู้ป่วย เหลือผมกับผู้ช่วยพยาบาลซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ในห้องฉุกเฉินกับผู้ป่วยและเพื่อนผู้ป่วยที่เป็นชายฉกรรจ์อีก 3 คน) เพื่อนผู้ป่วยเริ่มถามคำถามเดิมๆว่าทำไมแพงจัง ไม่จ่ายได้มั้ย ??? พอไม่มีตังค์จ่ายก็เริ่มโวยวายมากขึ้นและเริ่มอาการคุกคามโดยบอกว่า คนไข้อาการไม่ดีเลย รู้สึกวิงเวียน น่าจะเสียเลือดมากและช็อค ขอนอน รพ. ได้มั้ย ผมก็อธิบายอีกครั้งว่า ยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอนรักษา เพราะคนไข้ไม่สลบ จำเหตุการณ์ได้ แล้วที่บอกว่าเสียเลือดมากจนช็อคก็คงไม่ใช่ เพราะความดันเลือดยังปกติดี และแผลฉีดขาดขนาด 3 ซม. ไม่ได้ทำให้เสียเลือดมากจนวิงเวียน เพราะบริจาคเลือด 300-400 ซีซี ยังไม่ทำให้วิงเวียนได้ง่ายๆขนาดนั้น

แต่เพื่อนๆของผู้ป่วยก็ยังไม่เลิกแสดงท่าทีคุกคาม เริ่มเดินเข้ามาใกล้ผมและน้องผู้ช่วยพยาบาลเรื่อยๆ และบอกว่าจะนอนให้ได้ ผมเลยบอกว่าจะนอนก็ได้แต่ต้องมีคนดูแล และจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด เพราะ 1.ไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอนรพ.  2.ที่นี่เป็นโรงพยาบาลเอกชนต้องคิดค่ารักษาตามจริง
พออธิบายเสร็จ เพื่อนๆ ก็เริ่มโวยวายอีกว่า จ่ายเงินอีกแล้ว ทำไมต้องคิดเงินตลอด ทีรพ.รัฐบาลเวลาไปรักษายังไม่เห็นต้องจ่ายเลย ผมก็อธิบายเพิ่มเติมว่า คนไข้มีสิทธิ์การรักษาเป็นบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า(หรือบัตรทอง) อยู่ที่ รพ.อีกแห่งหนึ่ง ถ้าจะใช้สิทธิ์แบบไม่จ่ายเงินคุณก็ต้องไปที่ รพ.แห่งนั้น จะรักษาหรือนอนที่ รพ.เอกชนโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเป็นธรรมดา (อธิบายเสร็จพยาบาลที่ออกไปรับคนไข้โวยวายนอนไม่หลับก็กลับมาพอดี) เพื่อนคนไข้ก็ยังไม่พอใจ เลยขอไปรักษา รพ.ตามสิทธิ์การรักษา ผมก็เลยเขียนบันทึกการรักษาให้ไป แล้วก็ตามให้เจ้าหน้าที่มาเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องการส่งตัวไปรักษาตามสิทธิ์

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังสงสัยว่า ผมมาบ่นอะไรเนี่ย???? จริงๆแล้วประเด็นที่อยากชี้ให้ทุกคนเห็นในรายนี้คือ
   1.ต้องรู้สิทธิ์การักษาของตน คนไข้บัตรทองจะมีสิทธิ์การรักษาที่ รพ ที่ขึ้นสิทธิ์ไว้ หากมีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงไม่ฉุกเฉินก็ต้องไปรับการรักษาที่ รพ ที่ตนขึ้นสิทธิ์ เพราะจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินและอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิต สามารถรับการรักษาได้ในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งรัฐบาลและเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วอะไรคืออุบัติเหตุ ฉุกเฉินที่เข้าเกณฑ์นี้

สำหรับนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน แบ่งได้ดังนี้
          1)ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
          2)ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาตหรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง
ถ้ามีลักษณะอาการตามประกาศข้างต้นก็รักษาได้ทุกรพ ครับ ไม่เสียค่าใช้จ่ายแน่นอน

   2. คนไข้ไม่เคยทราบถึงราคาหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการรักษาแต่ละครั้ง
การรักษาแต่ละครั้งมีทั้งค่าตรวจรักษา ค่าอุปกรณ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ แล้ว เรามา รพ แต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงมันคือกี่บาท เพราะไม่ว่าจะมากจะน้อย เราก็ไม่ต้องจ่ายเงินอยู่ดี เราเลยไม่เคยตระหนักว่า การมา รพ จริงๆมันก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายนะ
เงินที่ทางรัฐบาลจ่ายให้เป็นค่ารายหัวให้แก่ผู้มีสิทธิ์บัตรทองในการรักษาพยาบาลจะตกประมาณ 2200-2300 บาท ต่อคน ต่อปี แล้วคูณด้วยจำนวนประชากรที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง ก็จะเป็นงบที่รัฐบาลให้มา ยกตัวอย่างเช่น รพ. ก.ไก่ มีสิทธิ์บัตรทอง 1,000 คน เงินที่รัฐบาลจะจ่ายมาให้บริหารจัดการใน 1 ปีในการดูแลรักษาคนไข้ทั้ง 1,000 คนนี้ก็คือ 2.2 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ต้องดูแลบริหารจัดการกันทั้งปี การที่เรามา รพ. 1 ครั้งแล้วใช้สิทธิ์การรักษาแต่ละครั้งก็ทำให้เงินส่วนนี้ลดลงไป
แล้วถ้าเราใช้สิทธิ์เกิน 2,200 บาท แล้วเราจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินเองมั้ย?? คำตอบคือ ไม่ต้องครับ แต่ก็จะกลายเป็นว่าเราใช้เงินของคนอื่นในส่วนที่ยังคงเหลือในงบประมาณประจำปีนั้น ซึ่งก็ทำให้งบประมาณที่จะไปใช้ในเคสอื่นๆ ลดลงไปด้วยครับ

บ่นมาตั้งนานกรู้สึกน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงมาก สรุปว่ารัฐบาลควรมีแนวทางอย่างไรในเรื่อง
   1.ทำอย่างไรผู้ป่วยถึงจะรู้ถึงสิทธิ์(และหน้าที่)ของตนเอง รู้ว่าอะไรคือฉุกเฉิน อะไรไม่ฉุกเฉิน
   2.ทำให้ผู้ป่วยได้รู้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งคือเท่าไหร่ และตระหนักว่าเงินที่ใช้ในการรักษาไม่ใช่เงินที่ได้มาฟรีๆ แบบที่อยากจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ใช้ตามความพึงพอใจของตน แต่ต้องตระหนักรู้ว่ามันเป็นเงินของทุกๆคน ที่จะต้องใช้ร่วมกันอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อนๆมีความเห็นอย่างไรก็เชิญเสนอแนะมาได้ครับ หลากหลายมุมมอง ร่วมด้วยช่วยกันจะทำให้สิ่งที่เป็นอยู่พัฒนามากขึ้น ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่