กฏหมายคุมม็อบจะมาแน่ๆ เห็นด้วยไหมครับ?

กระทู้คำถาม
"กฏหมายคุมม็อบ" สังคมไทยพร้อมจริงหรือ?


เป็นอีกเรื่องที่ดูแล้วจะ “เอาแน่” กับกฎหมายควบคุมการประท้วงของประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ที่ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินการจัดทำโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และเตรียมเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเนื้อหาเบื้องต้นเท่าที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ สาระสำคัญมีดังนี้

1.ต้องแจ้งกำหนดการชุมนุมล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 24 ชั่วโมง 2.ห้ามชุมนุมในช่วงเวลา 22.00-06.00 น. 3.การชุมนุมต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเดินทาง ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงของชาติ และ 4.ห้ามชุมนุมใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือสถานที่ราชการ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีความพยายามเสนอกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สตช. เสนอกฎหมายนี้เข้าสู่รัฐสภา เมื่อ 27 เม.ย. 2554 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ ก่อนส่งต่อให้วุฒิสภาในวันที่ 4 พ.ค. 2554 แต่หลังจากมีการยุบสภาเมื่อ 10 พ.ค. 2554 ร่างกฎหมายนี้ก็เป็นอันตกไป เพราะรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้หยิบขึ้นมาพิจารณา

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะที่ผ่านมาประสบกับความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์ แม้กระทั่งระดับ ผบ.ตร. อย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก็ยังตกเป็นจำเลยมาแล้ว กับเหตุการณ์การสลายชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) เมื่อ 7 ต.ค. 2551

อีกส่วนหนึ่ง ประชาชนที่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายทำนองนี้ อาจเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ต้องการได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะกระทำโดยกลุ่มใดก็ตาม เช่น 11 ม.ค. 2554 นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าว เพราะรู้สึกเจ็บปวดกับบรรยากาศการชุมนุมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) เมื่อปี 2553 ที่ปิดพื้นที่นานนับเดือน ก่อนจะจบลงด้วยเหตุจลาจล

ทว่าก็ต้องยอมรับเช่นกัน ด้วยบริบทสังคมแบบไทยๆ ดูเหมือนการชุมนุมประท้วง อาจเป็นวิธีการเดียวที่ประชาชนทั่วไป ที่ส่วนใหญ่เป็นคนเล็กคนน้อยไม่มีปากเสียง ไม่มีต้นทุนทางสังคมได้แสดงออกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และที่ผ่านมา ต่อให้ไม่นับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มมวลชนเสื้อสีต่างๆ ก็ยังมีประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ออกมาชุมนุมประท้วงอยู่แล้ว

เช่นกลุ่มเกษตรกร ที่ชุมนุมเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ, กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ชุมนุมประท้วงมาตรการเลิกจ้าง หรือนโยบายด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม, กลุ่มรักท้องถิ่น ที่คัดค้านนโยบายจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดย
ไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน ที่ต้องการให้ปฏิรูปการจัดสรรที่ดินทำกิน หรือกลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย ที่ต้องการให้ปฏิรูปวงการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

บุญส่ง ชเลธร รองคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และเป็น 1 ในผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ “14 ตุลาคม 2516” มองประเด็นนี้ไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรก..กฎหมายการชุมนุมสาธารณะเป็นของแปลกใหม่หรือไม่? ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่นในกลุ่มสหภาพยุโรป มีกฎหมายทำนองนี้ใช้กันเป็นปกติทั้งสิ้น

อาจารย์บุญส่ง ในฐานะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวีเดนร่วม 30 ปี เล่าว่า การชุมนุมของประชาชนในยุโรปนั้นมีกฎกติกาที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น 1.ประชาชนที่ต้องการชุมนุม ต้องไปขออนุญาตตำรวจล่วงหน้า โดยแจ้งจำนวนผู้ชุมนุม แกนนำผู้ควบคุมดูแล ซึ่งจะได้ชุมนุมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจที่จะอนุมัติ 2.การชุมนุมประเภทที่มีการเดินขบวนไปตามท้องถนน แกนนำ
ผู้ชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า ซึ่งก็จะมีการตกลงกันว่าเส้นทางไหนเดินขบวนได้ เส้นทางไหนไปไม่ได้ และ 3.ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปในสถานที่ราชการ หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ได้

เรื่องที่สอง..แต่หากดูกันด้วยบริบทสังคมแบบไทยๆ อาจารย์บุญส่ง มองว่า กฎหมายดังกล่าวไม่น่าจะเป็นผลดีต่อประชาชนเท่าไร เพราะต้องยอมรับว่าหน่วยงานภาครัฐของไทย ทั้งตำรวจ ระบบราชการ และรัฐบาล ภาพลักษณ์ในสายตาประชาชนคนไทยแล้วไม่ค่อยจะได้รับความเชื่อถือเท่าไรนัก ซึ่งผิดกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศในยุโรป ที่ประชาชนของเขาให้ความไว้วางใจมากกว่า

“รัฐบาลไทยไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน มักจะเอียงข้าง แล้วผู้รักษากฎหมายอย่างตำรวจ ก็ไม่ได้เป็นกลางอย่างในต่างประเทศ ตำรวจคือเครื่องมือของรัฐบาล มักจะทำตามคำสั่งของรัฐบาล โดยไม่ดูว่าคำสั่งนั้นจะถูกหรือผิดตามกฎหมาย บริบทบ้านเรามันเป็นแบบนี้ แต่ในเมืองนอก เวลาคุณเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ตำรวจเขาเป็นกลาง เขาพิจารณาว่าประชาชนมีสิทธิในการแสดงออก เพียงแต่เขาจัดการให้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ของเมืองนอกนี่ เขาไม่ยอมเลยถ้าคุณจะไปยึดทำเนียบรัฐบาล คุณทำไม่ได้ หรือการไปยึดถนนกันสองเดือนสามเดือน อันนี้ก็ทำไม่ได้

แต่ขณะเดียวกัน ตำรวจเมืองนอกเขาก็ไม่ได้มาสนับสนุนให้มีการลอบยิงประชาชน ลอบยิง M79 ใส่คนที่กำลังชุมนุม บริบทของเขากับของเรามันไม่เหมือนกันเลย คือตำรวจเราไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ก็จะรับใช้นักการเมืองหรือพรรคการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของกฏหมาย ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่รักษากฎหมาย ประชาชนเขาก็ไม่สนใจหรอกครับ ถึงจะมีกฎหมายนี้ก็ตาม ผมเชื่อนะ ต่อให้กฎหมายนี้ออกมาจริงๆ ถึงเวลาที่ประชาชนเขาลุกขึ้นต่อสู้ขึ้นมา กฎหมายนี้ก็ไม่มีความหมาย”


นักวิชาการรายนี้กล่าว และยกตัวอย่างต่อไปอีกว่า ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มใดก็ตาม แม้รัฐบาลจะประกาศกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมกับนำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากออกมา แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นไปอีก เพราะประชาชนที่รู้สึกอึดอัดหรือคับแค้นใจแต่ไม่มีทางออก ก็จะออกมาร่วมชุมนุมกันมากขึ้นและเหนียวแน่นขึ้น

สรุปแล้ว อาจารย์บุญส่ง มองว่ากฎหมายนี้ในบริบทสังคมไทย ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า “การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน” เพราะเชื่อว่า ตำรวจคงไม่ยอมให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ออกมาประท้วงแน่นอน เพราะหากตำรวจอนุญาตให้ชุมนุม ก็อาจถูกรัฐบาลใช้อำนาจสั่งโยกย้ายได้

“ในบริบทสังคมไทย เขาเสนอออกมาเพื่อหาทางปิดปากประชาชนออกมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุม ในการต่อสู้ของประชาชน ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผมที่เคยอยู่เมืองนอก เคยอยู่ใต้กฎหมายนี้มา 30 ปี แต่สำหรับเมืองไทย กฎหมายนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ แต่มีมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการกดหัวประชาชนเท่านั้น

เราเชื่อในความเป็นกลางของผู้รักษากฎหมายแค่ไหน? เราก็ไม่ได้เชื่อรัฐบาลของเรา ว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่รับฟังเสียงฝ่ายตรงข้าม เมื่อไม่เชื่อรัฐบาลแล้ว พอมีกฎหมายนี้มา คุณจะไปเชื่อตำรวจได้ยังไงว่าเขาจะอนุญาตให้เดินขบวน? เพราะตำรวจก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาล

ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่อาจทำให้เชื่อถือได้ว่า รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม มีความเป็นประชาธิปไตย มีใจกว้างที่รับฟังเสียงที่แตกต่างแล้วละก็ กฎหมายให้อำนาจตำรวจในการขจัดไม่ให้มีการชุมนุม เพราะต้องไปขออนุญาตเขา ผมก็ไม่มีทางเชื่อกฎหมายนี้เลย กฎหมายนี้ในต่างประเทศมีไหม? มี แต่ในประเทศไทยผมเห็นด้วยไหม? ผมไม่เห็นด้วย ผมคัดค้าน เพราะมันมีมาเพื่อกดหัวประชาชน ไม่ได้มีมาเพื่อรักษาระเบียบ หรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ แม้แต่นิดเดียว”
รองคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ฝากทิ้งท้าย

กฎหมายชุมนุมสาธารณะ..คงจะเป็นเหมือน “ดาบสองคม” อย่างที่บางคนกล่าวไว้ ที่ด้านหนึ่งแม้เจตนารมณ์จะเพื่อจัดระเบียบการประท้วงไม่ให้ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยบริบทที่ต่างกันด้านคุณภาพและจริยธรรม ทั้งของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ กังวลว่า กฎหมายนี้จะยิ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม

เพราะทุกวันนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนเล็กคนน้อยมักระบายความอึดอัดใจเป็นทำนองเดียวกันว่า..ถ้าไม่มีการชุมนุมประท้วง ไม่มีการปิดถนนกดดัน และไม่ทำให้เป็นกระแสใหญ่จนสื่อช่วยกันประโคมข่าว รัฐบาลก็ดี ระบบราชการก็ดี ก็ไม่มีทางที่จะใส่ใจ และแก้ไขความทุกข์ร้อนของประชาชนอย่างจริงจัง เลยแม้สักครั้งเดียว!!!

ที่มา : http://www.naewna.com/scoop/125194

------------------

และฝากอีกอัน โดยส่วนตัวชอบความเห็นของผู้พิพากษาท่านนี้มากครับ

“ในมุมหนึ่งชาวบ้านพอสู้ไม่ไหวเขาก็ต้องเล่นนอกกรอบ คือมันเป็นความท้าทาย จะเป็น Rule of Law หรือ Rule of Jungle จะเป็นนิติธรรมหรือกฎแห่งความป่าเถื่อน คือผู้ที่ก่อความป่าเถื่อนเองอาจจะเป็นผู้เสียหายก็ได้ เมื่อเขาไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร วันหนึ่งเขาก็เลยบอกว่า..งั้นฉันดูแลตัวฉันเอง คุณมาฉันก็เผา คุณมาฉันก็เสียบเหมือนกัน..ฉะนั้นมันเกิดความรุนแรง มันเป็นไปได้เลยที่เขาจะสู้ เขาก็พร้อมจะยิงหัวบริษัทที่มาเหมือนกัน”

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ เลขานุการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุพิพาท กรณีเหมืองทองคำ จ.เลย

ที่มา : http://www.naewna.com/scoop/114092

-----------------

เห็นด้วยไหมครับ? ถ้าบ้านเราจะมี กม.คุมม็อบ อย่างที่ชาติโลกที่ 1 เขามีกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่