อิสรภาพจากตัวตน


จิตวิวัฒน์ เมษายน ๒๕๕๑
พระไพศาล วิสาโล
_________________________



หากจัดอันดับ “คุรุ”ทางจิตวิญญาณชาวตะวันตกที่ทรงอิทธิพลและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน ๑๐ อันดับแรกย่อมได้แก่เอกคาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle)
หนังสือและคำบรรยายของเขาแม้ไม่ใช่ประเภท “How to” ที่ให้สัญญาว่าจะพาไปสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ก็มีผู้ติดตามผลงานของเขานับล้าน ๆ คน
คำสอนของเขามีแก่นแกนอยู่ที่  “การอยู่กับปัจจุบัน”  ดังชื่อหนังสือเล่มแรกที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ The Power of Now


แม้ตัวเขาเองไม่ได้ประกาศว่าสังกัดศาสนาใด แต่คำสอนของเขาก็มีหลายส่วนที่ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก
โดยเฉพาะการเน้นให้ “ดูตัวคิด” และการถอนจิตออกมาจากความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง จนเกิดภาวะตื่นรู้โดยปราศจากความคิด
ในทัศนะของเขาขั้นตอนสำคัญของการเดินทางสู่ความรู้แจ้งคือ  “เรียนรู้ที่จะไม่ยึดเอาความคิดของคุณเป็นตัวคุณ”  เพราะแท้จริงแล้ว “ความคิดของคุณมิใช่ตัวคุณ”
พูดอย่างอาจารย์พุทธทาสก็คือ อย่าไปยึดถือความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงว่าเป็น “ตัวกู ของกู”




ชีวิตของเขาน่าสนใจตรงที่ เขาค้นพบความจริงดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางด้านจิตวิญญาณของศาสนาใดมาก่อน
จะว่าไปแล้วความทุกข์ต่างหากที่ผลักดันให้เขาพบความจริงอันลึกซึ้งยิ่ง
เขาเล่าว่าในวัยหนุ่มเขาเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแรงจนอยากจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง อาการดังกล่าวรบกวนจิตใจเขามาตลอดจนเกือบอายุ ๓๐ ปี
แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่ง


คืนนั้นเขาตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่เลวร้ายมาก แปลกแยกกับทุกสิ่ง ชิงชังโลกทั้งโลก และที่หนักที่สุดคือชิงชังตัวเอง จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม
“ฉันทนอยู่กับตัวเองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจเขาตลอดเวลา
จู่ ๆ เขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า นี่เป็นความคิดที่แปลก “ตัวฉันมีหนึ่งหรือสองกันแน่ ถ้าฉันทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็แสดงว่าตัวฉันนั้นมีสอง
คือ “ฉัน” กับ “ตัวตน”ที่ “ฉัน”ทนอยู่ด้วยไม่ได้” เขาสงสัยขึ้นมาว่า คงมีเพียงหนึ่งเท่านั้นที่จริง


เขาพิศวงงงวยกับความคิดดังกล่าวจนจิตหยุดปรุงแต่ง ไร้ความคิดใด ๆ มีแต่ความรู้สึกตัวเต็มที่
แล้วเขาก็รู้สึกว่าตัวเองถูกดูดลงไปในที่ว่าง เป็นที่ว่างข้างในตัวมากกกว่าที่ว่างภายนอก   เขาเล่าว่าจำสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้
แต่เมื่อตื่นขึ้นมา เขาพบกับความรู้สึกใหม่ เป็นความตื่นตาตื่นใจในมหัศจรรย์ของชีวิต ราวกับว่าเพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นวันแรก
เขายังได้พบกับความสงบที่ดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


เป็นเวลานานหลายปีที่เขาไม่เข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจ
เขาอธิบายว่าความทุกข์แสนสาหัสในคืนนั้นได้บีบคั้นให้จิตของเขาต้องถอนจากความยึดติดในตัวตนที่อมทุกข์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิต
เขาเชื่อว่าการถอนจากความยึดมั่นดังกล่าวเป็นการถอนอย่างสิ้นเชิง จนตัวตนที่อมทุกข์นั้นพินาศพังภินท์ไปทันที
เหมือนกับถอดปลั๊กออกจากตุ๊กตาพองลมจนแฟบ คงเหลือแต่ธรรมชาติแท้จริงที่เป็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง




คำอธิบายดังกล่าวใกล้เคียงกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองว่า ตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรก
แต่เป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นมาเอง ซ้ำยังไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นสิ่งจริงแท้
ความหลงดังกล่าวเป็นรากเหง้าของการไปยึดอะไรต่ออะไรมาเป็น “ตัวกู ของกู” อีกมากมาย
ไม่เพียงยึดร่างกายนี้ หรือทรัพย์สมบัติรอบตัวว่าเป็น “ ตัวกูของกู”เท่านั้น
แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ทั้ง ๆ บวกและลบ ก็ยังยึดว่าเป็น “ตัวกู ของกู”
ผลก็คือ เมื่อความเครียดเกิดขึ้น ก็สำคัญมั่นหมายว่า “กูเครียด” เมื่อเกิดทุกขเวทนาไม่ว่ากับกายหรือใจ ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า “กูทุกข์”


รากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดจากความยึดติดถือมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู”
ต่อเมื่อปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าว จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้
อะไรเล่าที่จะทำให้เกิดการปล่อยวางดังกล่าวได้
คำตอบก็คือ ปัญญาที่แลเห็นความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ หรือยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลยแม้แต่อย่างเดียว




อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ได้
ก็คือความหลงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา และสามารถใช้มันปรนเปรอสร้างสุขแก่เราได้ทุกเมื่อ
แต่เมื่อใดก็ตามที่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย แถมยังเต็มไปด้วยทุกข์จนไม่น่ายึดถือหรือน่าเอาด้วยซ้ำ
จิตก็ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงทันที


ตรงนี้เองที่ความทุกข์มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้ผู้คน “ตาสว่าง” และหลุดจากความหลงดังกล่าวได้
จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของโทลเลอเกิดขึ้นเมื่อเขาประสบกับความทุกข์อย่างหนักถึงขั้นอยากตายไปจากโลกนี้
ในด้านหนึ่งความทุกข์ดังกล่าวทำให้จิตของเขากระสับกระส่ายทุรนทุราย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ผลักดันให้เขาจำต้องปล่อยวางจาก “ตัวตนที่อมทุกข์”
พูดอีกอย่างคือเขาตระหนักชัดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์” นั้นไม่น่ายึดถืออีกต่อไป
ยิ่งมาได้คิดว่า “ตัวตนที่อมทุกข์”นี้เป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เขาก็สลัดมันทิ้งได้ทันที




ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุและภิกษุณีหลายรูปที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะถูกทุกข์บีบคั้นอย่างหนักจนเห็นว่า
ขันธ์ทั้ง ๕ คือร่างกายและจิตใจนั้นไม่น่ายึดถือแม้แต่น้อย อาทิ พระธรรมาเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีวัยชราผู้ทุพพลภาพ
เวลาไปบิณฑบาตต้องถือไม้เท้าประคองร่างกายที่สั่นเทา มีคราวหนึ่งท่านเกิดสะดุดล้มลง ร่างกระแทกกับพื้น ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรง
ชั่วขณะนั้นเองที่ท่านเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความตระหนักชัดว่าร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือ ทำให้จิตของท่านปล่อยวางในขันธ์และหลุดพ้นทันที


อีกกรณีหนึ่งได้แก่พระสัปปทาสเถระ ท่านมีความทุกข์ใจอย่างมากที่ไม่พบความสงบทั้ง ๆ ที่บวชมาถึง ๒๕ ปี รู้สึกว่าชีวิตของตนไร้คุณค่า
ครั้นจะลาสิกขาก็รู้อับอาย จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะที่ท่านสะบัดมีดโกนปาดคอ เกิดความเจ็บปวดอย่างแรง ท่านก็ได้ประจักษ์ชัดว่าว่า
สังขารนั้นเป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดถือ จิตก็ปล่อยวางและหลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที


ความทุกข์สามารถเปิดใจให้เกิดปัญญาได้ แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อจิตไม่จมดิ่งอยู่ในความทุกข์อย่างสิ้นเชิง
แต่สามารถ “ทะลึ่ง”โผล่พ้นความทุกข์แม้ชั่วขณะ จนแลเห็นความทุกข์ แทนที่จะเป็น “ผู้ทุกข์”
ชั่วขณะนั้นเองที่ปัญญาสามารถผุดโพลงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นความทุกข์ตามที่เป็นจริง
การฉุกคิดระคนฉงนสงสัยที่เกิดขึ้นกับโทลเลอว่า “ตัวฉัน”ที่อมทุกข์นั้น มีจริงแน่หรือ เป็นเชื้ออย่างดีให้ปัญญาญาณสว่างโพลงขึ้นมา
จนสามารถสลัดตัวตนที่ปรุงแต่งนั้นทิ้งไปได้



อย่างไรก็ตามการที่จะ “เห็น”ทุกข์ โดยไม่ “เป็น”ทุกข์ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  หากไม่มีสติเป็นเครื่องยกจิตออกจากทุกข์
สติที่เกิดขึ้นหากมีกำลังมากพอสามารถทำให้จิตหลุดจากทุกข์ บางครั้งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่ก็นานพอที่ปัญญาจะมารับช่วงต่อ
จนหลุดจากทุกข์ หรือ “ได้คิด”ขึ้นมาจนเปลี่ยนใจเปลี่ยนชีวิต ดังที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่กลุ้มใจจนเตรียมโดดตึกฆ่าตัวตาย
แต่พลันได้เห็นแสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ ก็เกิดฉุกคิดขึ้นมา มองชีวิตในมุมใหม่ จนเลิกคิดฆ่าตัวตาย และเริ่มต้นชีวิตใหม่จนก้าวข้ามความทุกข์ที่รุมเร้าได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่