เพียรไม่ใช่พยายาม

อันว่าความเพียรที่ถูกต้องหรือความเพียรชอบนั้นคือเพียรอย่างไร?
ได้แก่ "ชอบความเพียร"   คือมีฉันทะ
ความพอใจในการทำความเพียร
เพราะถ้าไม่มีความชอบในความเพียร
ก็จะกลายเป็นพยายามเพียร   ฝืนเพียร
แล้วก็จะทุกข์ยากลำบากทรมาทรกรรมไปกับการทำความเพียร
กลายเป็นเพียรพยายามแบบพยายามเพียร



      แต่ถ้ามี "ฉันทะ"   ความพอใจและมีใจรักในการทำความเพียร
      ก็จะผ่อนคลายโปร่งเบาสบาย   ไม่รู้สึกลำบากหรือเป็นภาระ
      ไม่ลด - ละ - เลิกกลางคัน
      แต่จะอดทน   บากบั่นและเด็ดเดี่ยวในการทำความเพียร
      ไม่ได้ทุกข์ร้อน   ทรมาทรกรรมไปกับการทำความเพียร
      และจะไม่ปริปากบ่นอุบอิบ   อู้อี้   เอะอะ   โวยวาย   เป็นต้น
      ในอิทธิบาท ๔ องค์คุณที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
      ท่านยกเอา "ฉันทะ" ไว้เป็นบทแรก
      หมายความว่าต้องมี "ฉันทะในวิริยะ"
      แม้ในวิริยะก็ต้องมีฉันทะ
      (พอใจที่จะเพียรแล้วก็เพียรด้วยความพอใจ)


      หรืออย่างในองค์ของความเพียรเอง   ก็มีพระบาลีแสดงไว้ว่า
ฉนฺทํ   ชเนติ   ได้แก่   ยังความพอใจในการทำความเพียร
ให้เกิดขึ้นในใจ (ตั้งไว้ในใจ)
วายมติ   ได้แก่   เริ่มทำความเพียรให้เกิดขึ้น
ไม่ใช่ว่าตั้งเอาไว้ในใจเฉยๆ   แต่ไม่ยอมเพียรเสียที
วิริยํ   อารพติ   ได้แก่   ทำความเพียรอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ย่นย่อไม่ท้อถอย   แกล้วกล้าอาจหาญ   และมั่นคง
จิตตํ   ปคฺคณฺหาติ   ปทหติ   ได้แก่   เพียรในการตามรู้
การทำงานของจิต   จิตไปอยู่ที่ไหนกับอารมณ์ใด   ก็ตามไปรู้
ให้จิตเป็นอิสระในการรับอารมณ์   ให้เขาเป็นตัวของเขาเอง
ไม่ใช่เพียรที่จะบังคับจิตควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจ
ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่   หรือออกคำสั่งใช้งานจิต


      โดยใจความก็คือไม่ได้เพียรทำอะไรจิต
      แต่เพียงรู้ว่าจิตทำอะไรอยู่ที่ไหน
      ให้จิตเป็นอิสระจะได้เป็นอิสระจากจิต
      ถ้าไม่ให้จิตเป็นอิสระก็จะไม่มีทางเป็นอิสระจากจิตได้เช่นกัน
      นี้คือ "สัมมาวายามะ"   ความเพียรที่ถูกต้อง

      ได้แก่มีความพอใจ (ฉันทะ) ในการทำความเพียร
      และก็ทำความเพียรด้วยความพอใจ
      มีความรักในการทำความเพียร
      แล้วก็ทำความเพียรด้วยใจรัก
      มีศรัทธาในการทำความเพียร
      แล้วก็ทำความเพียรด้วยความศรัทธา
      มีปัญญา (สัมมาทิฏฐิในองค์มรรค) ในการทำความเพียร
      แล้วก็ทำความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา
      แต่ไม่ใช่ทำความเพียรด้วยความอยาก (ตัณหา)


ถ้าเพียรด้วยความอยากจะมีความกระเสื-อกกระสน
กระสับกระส่าย   กระวนกระวาย
กระอักกระอ่วน   กระโดดโลดเต้น
ทะยานดิ้นรนเร่าร้อน   กระหายอยาก
แต่พออยากบรรลุธรรม   ก็ทำความเพียรด้วยความอยาก
เมื่ออยากมากๆ   ตัณหาออกหน้าออกตา
ก็เร่งทำความเพียรใหญ่   ไม่หลับไม่นอน   ไม่พักไม่ผ่อน
ไม่ทานอาหาร   ไม่อาบน้ำชำระร่างกาย
หรือเสื้อผ้าอาภรณ์   ที่หลับที่นอนห้องหับ
เพราะกลัวจะไม่ทันกาลในการบรรลุธรรม
กลัวจะเสียเวลา   เร่งความเพียรเป็นการใหญ่
นั่งเป็นวันๆ   เป็นต้น   หวังจะเอาบรรลุให้ได้ทันทีทันใด


      หรือหวังจะเอาให้ได้ดังใจปรารถนา   ไม่ได้ไม่ยอม
      เพราะคิดว่าฉันระดับไหนล่ะ (มานะ)
      อย่างนี้มีหวังเพี้ยนแน่ๆ (แท้จริงได้เพี้ยนไปเรียบร้อยแล้ว)
      แทนที่จะเป็นทำความเพียรก็กลับกลาย
      เป็นทำความเพี้ยนให้เกิดขึ้น
      ยิ่งเร่งทำความเพียรมากเท่าไร
      ก็ยิ่งเป็นการไปเร่งให้เพี้ยนเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น




ดอกไม้   จากหนังสือ เพียงแค่รู้ (ฉบับปรับปรุง)  ของ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่