<Gone Baby Gone> นิยามไหนใครกำหนด

(Spoil Alert) กระทู้นี้มีการสปอยเนื้อหาของหนัง

- ''Kids forgive, they don't judge, they turn the other cheek, and what do they get for it?''

               Gone Baby Gone (2007)



          มนุษย์ทุกคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็น บุคลิกภาพภายนอก สูง ต่ำ ดำ ขาว รวมไปถึงนิสัยใจคอ เมื่อมนุษย์มาอาศัยด้วยกันมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปย่อมเกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมขึ้น นำไปสู่การสร้างชุมชนรอบตัวขึ้นมา โดยจะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์หรือความคิดของผู้คนในส่วนที่มีส่วนที่คล้ายคลึงกันนั้นย่อมสามารถกำหนด ชี้นำถึงเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆได้ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า พวกเราถูกจำกัดกลุ่มโดยไม่รู้ตัวจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสนใจต่างๆ ฐานะการเงิน หรือ การงานอาชีพ โดยสิ่งเหล่านี้จะคัดเลือก และดึงดูดผู้คนที่มีความใกล้เคียงกันมาอยู่ด้วยกันอย่างไรก็ตามก็ยังมีความแตกต่างกันในสังคมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างกันทางอายุ หรือทางความคิด  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้เมื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยว พวกเราสร้างสังคมรอบตัวขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งที่คอยโอบล้อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากโลกภายนอก แต่บางครั้งอันตรายต่างๆก็เกิดขึ้นจากผู้คนภายในสังคมนั้นๆเองก็เป็นได้  จากสถิติแล้วหนึ่งในเหยื่อทางอาชญากรรมที่ถูกกระทำมากที่สุดคงไม่พ้นเด็กหรือเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีลักพาตัวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง รวมไปถึงการกระทำชำเราทางเพศ อาจเพราะว่าเด็กในวัยนี้ขาดประสบการณ์ในการป้องกันตนเอง ขาดกำลังทั้งในด้านความคิดและร่างกาย ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ในการก่ออาชญากรรมได้ อาชญากรรมเด็กนั้น เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกๆประเทศทั่วโลก จะบอกว่าเป็นปัญหาทางสังคมที่เรื้อรังและยากต่อการป้องกันก็เป็นได้



          Gone Baby Gone เป็นภาพยนตร์ เรื่องหนึ่งที่สามารถสะท้อนถึงปัญหาทางสังคม ประเด็นที่ว่ามานี้ได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น ซึ่งหนังเรื่องนี้กำกับโดย Ben Affleck หนึ่งในผู้กำกับ New wave ซึ่งมาแรงมาก ณ ขณะนี้   Gone Baby Gone ดำเนินเรื่องผ่านคู่รักนักสืบคู่หนึ่งชื่อ Patrick Kenzie นำแสดงโดย Casey Affleck และแฟนสาว Angie Gennanro นำแสดงโดยMichelle Monaghan วันหนึ่งทั้งสองได้ถูกทาบทามให้เข้าสืบสวนคดีลักพาตัวเด็กสาวชื่อ อแมนด้า เด็กสาววัยสี่ขวบซึ่งโดนลักพาตัวขณะเธอนอนอยู่ในห้องนอน พวกเขามีความได้เปรียบในการสืบสวนเหนือตำรวจตรงที่เขาเป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เกิดเหตุตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขารู้ว่าต้องเดินตามเกมส์ยังไงให้ไปถึงจุดหมาย(พาอแมนด้ากลับบ้านอย่างปลอดภัย)ได้เร็วที่สุด โดยมีตำรวจร่วมงานด้วยสองคน ชื่อเรมี่ และ นิค จากคำสั่งของแจ็ค ดอยส์ ตำรวจรุ่นใหญ่ซึ่งเคยมีปมหลังจากการเสียลูกสาวด้วยเหตุผลทางอาชญากรรมมาก่อน  พวกเขาได้ถลำลึกเข้าไปสอบสวนถึงวงการยาเสพติดในพื้นที่นั้นโดยได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คดีลักพาตัวเด็กสาวอาจมีเรื่องเงิน และยามาพัวพัน ถ้าบทสรุปของหนังเรื่องนี้จบลงตรงที่คดีลักพาตัวเด็กสาว ไปเชื่อมโยงกับวงการสกปรกอย่างยาเสพติดจริงๆนั้น หนังเรื่องนี้จะจบลงแบบหนังทั่วไปที่ ตัวเอกได้ต่อสู้กับเจ้าพ่อค้ายาเพื่อนำเด็กสาวกลับคืนมาสู่อ้อมอกพ่อแม่ แต่สำหรับหนังเรื่องนี้กลับไม่ใช่ แต่ฉากจบเรื่องนี้กลับเป็นการตั้งคำถามให้คนดูข้อใหญ่ให้ไปถกเถียงกันหลังดูหนังจบ คำถามที่ว่าก็คือ ‘ความถูกต้องมันคืออะไร ความดีความเลววัดกันอย่างไร’



          ความถูกต้องเป็นคำตอบทีวัดได้ในเชิงตรรกศาสตร์ พวกเราจะตัดสินถูกผิดผ่านทางสมองประมวลเหตุและผล เมื่อผลลัพธ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่วางไว้ นั่นคือความถูกต้อง ในทางกลับกันเมื่อผลลัพธ์สื่อออกมาขัดแย้งกับเงื่อนไขนั่นคือความผิด แต่ตรรกะความคิดของคนเรานั้นย่อมแตกต่างกัน โดยมีสาเหตุมาจากการปลูกฝังความคิด และความเชื่อในอดีต  ตรรกะทางความคิดของแต่ละคนไม่ได้มีมาตรฐานหน่วยวัดส่วนกลางให้เปรียบเทียบ ว่าใครถูกใครผิด  การกระทำเดียวกันอาจจะเป็นได้ทั้งสิ่งที่ถูกและผิด ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนประเมิน หรือตัดสิน ถ้ามองลึกไปถึงด้านศีลธรรมแล้ว ประเด็นนี้ยิ่งละเอียดอ่อนและยากต่อการแยกแยะขึ้นไปอีก   Gone Baby Gone สามารถใส่ประเด็นความไม่แน่นอนทางศีลธรรมลงในบทหนังได้อย่างสวยงาม ผ่านการกระทำต่างๆของตัวละคร ความสับสนในการกระทำของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ แพทริก เป่ากบาลโจรโรคจิต เมื่อพบศพเด็กชายในห้องน้ำของชายคนนั้น หลังจากกระสุดนัดนั้นได้ทะลุออกจากหัวฆาตรกรโรคจิต ความรู้สึกผิดก็พรั่งพรูขึ้นมาในหัวของแพทริก เขาไม่แน่ใจว่าการกระทำตัวเป็นศาลเตี้ยนั้นมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถึงแม้ว่าชายที่เขาฆ่านั้นสมควรต่อการตายเป็นอย่างยิ่ง ก็ตาม ประเด็นการตั้งศาลเตี้ยเป็นที่ถกเถียงกันทุกครั้งที่มีข่าวอาชญากรรมดังขึ้น เมื่อความหมายของศีลธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกันย่อมเกิดความขัดแย้งทางความคิดตามมาอย่างแน่นอน

          เมื่อถึงบทสรุปของเรื่องแล้วประเด็นความคิดที่ขัดแย้งระหว่างแพทริกและ ดอยท์ดูจะเหมือนจะเป็นเส้นคู่ขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบกัน เมื่อนิยามความเป็นแม่และพ่อของทั้งสองไม่ได้มาจากพจนานุกรมเล่มเดียวกัน แพทริกคิดว่าคนที่เป็นแม่ทางสายเลือดเท่านั้นที่จะมีสิทธ์ในการดูแลเด็กสาวได้ถึงแม้ว่าตัวแม่นั้นจะปล่อยปละละเลยเพียงใด แต่อย่างน้อยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดแตกต่างกับดอยส์ที่มีความคิดว่าพ่อแม่เป็นผู้ที่ดูแลลูกให้มีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเข้ามาเกี่ยวข้อง

         การกระทำของดอยส์ดูจะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับแพทริกแต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเสมอไป กลับกันการตัดสินใจของแพทริกเองก็อาจส่งผลเสียไปถึงตัวเด็กสาวในอนาคตจากการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างจะล้มเหลวของเฮเลน ผู้เป็นแม่ แต่มันก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้
สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลจะออกมาตามนิยามในอุดมคติของใครก็ตาม สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำก็คือยอมรับในการตัดสินใจของตนเอง และมั่นคงในความคิดของตนเองต่อไป




        ไม่ใช่เรื่องความสับสนทางด้านจริยธรรมเรื่องเดียวเท่านั้นที่ถูกถ่ายทอดลงในแผ่นฟิล์มที่ชื่อว่า Gone Baby Gone ตัวหนังกลับเผยให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เสื่อมโทรม สะท้อนถึงการกระทำของคนในชุมชนหลายๆคนที่ส่อไปในด้านความรุนแรง และเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นยาเสพติดที่ดูจะคล้ายๆสังคมไทยที่ยาเสพติดมันชั่งหาง่ายเหลือเกิน ชุมชนที่ควรจะเป็นเกราะกำบังคอยป้องกันเด็กน้อยเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่คอยเสียดแทงและทำลายความสวยงามในวัยเด็กที่ทุกคนควรได้รับ จนเป็นเหตุทำให้พวกเขาเติบโตมาด้วยความรุนแรงและพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลว อีกทั้งยังพร้อมที่จะละเลยการอบรมเลี้ยงดูเด็กรุ่นต่อไป เป็นวงจรอุบาทว์ที่ถูกตีโดยกรอบที่แตกร้าวทางสังคม ให้ฝังลึกอยู่กับชุมชนนั้นๆตลอดไป

-Credit :  บทความผ่านแผ่นฟิล์ม

ติดตามผลงานอื่นๆของผมผ่านช่องนี้ได้ครับ

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1/680159158772066?ref=hl
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่