ทุกข์ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป



ชอบอ่านเรื่องเล่าสั้น ๆ ให้ข้อคิด สร้างแรงบันดาลใจ ในรูปเล่มกะทัดรัด ดีไซน์ประณีตสบายตาไหมคะ?
ถ้าท่านชอบเช่นนั้น คอลัมน์ “ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ” เล่มที่ 23 วันนี้มีหนังสือตรงสเป๊กท่านมาแนะนำอีกเล่ม ชื่อ “ทุกข์ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ค่ะ


ไม่บ่อยนักที่เราจะพบหนังสืออ่านง่าย สบายใจ ที่เขียนโดยพระนักเขียน นักเทศน์ นักปฏิบัติ ถึง 3 รูปในเล่มเดียวกัน

ถ้าท่านจะเดินทางไปพักผ่อนที่ไหนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่จะพักผ่อนอยู่ที่บ้านแล้วอยากมีหนังสือเล่มเล็ก ๆ อ่านเพลิน ๆ
แถมได้กุศลสักเล่มติดตัวไว้ ขอนำเสนอเล่มนี้ค่ะ


หนังสือแบ่งเป็น 3 ภาคค่ะ รวมเรื่องเล่าสั้น ๆ ของ   พระไพศาล 8 เรื่อง   ของท่านว.วชิรเมธี 8 เรื่อง   และของท่านพุทธทาสภิกขุอีก 10 เรื่องค่ะ
จะขอเลือกนำมาเล่าแบบสรุปย่อพอเป็นตัวอย่างภาคละ 1 เรื่องนะคะ



1. “ทดน้ำดีไล่น้ำเสีย” เรื่องเล่าจาก พระไพศาล

“...ครั้งหนึ่งครูสาวผู้สุภาพเรียบร้อย ไม่ศรัทธาในไม้เรียวท่านหนึ่งต้องมาคุมชั้นเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียนเหลือขอไร้วินัยและไม่สนใจการเรียนเลย
ไม่ว่าเธอจะพูดจะสอนอย่างไรก็ไม่ได้ผล

วันหนึ่งเธอคิดวิธีใหม่ขึ้นมาได้ เธอขอให้นักเรียนทุกคนเขียนชื่อเพื่อนนักเรียนทั้งชั้นลงในกระดาษชื่อละบรรทัด จากนั้นให้เขียนสิ่งดี ๆ
หรือ ลักษณะที่น่าประทับใจของเพื่อนแต่ละคนต่อท้ายชื่อของเขา โดยมีเงื่อนไขว่าให้เขียนอย่างซื่อตรงจริงใจ

ครูสาวนำกระดาษเหล่านั้นกลับไปบ้านแล้วรวบรวมคุณสมบัติดี ๆ ที่เพื่อน ๆ เขียนถึงแต่ละคนมาใส่ลงในกระดาษแผ่นใหม่ แผ่นละหนึ่งคน
วันรุ่งขึ้นก็นำไปแจกให้นักเรียนทุกคนตามรายชื่อ ทุกคนไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าตนมีสิ่งดี ๆ ขนาดนั้นอยู่ในตัว

นับแต่นั้นมาบรรยากาศในห้องเรียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป นักเรียนตั้งใจเรียนและมีระเบียบมากขึ้น ครูพูดอะไรก็สนใจฟัง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาตระหนักว่าตนเองไม่ได้แย่อย่างที่คิด เมื่อเรียนจบผ่านไปหลายปีนักเรียนทุกคนก็ยังคงพกกระดาษแผ่นนั้นติดตัว
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจไว้อ่านยามท้อแท้ กระดาษแผ่นเดียวเปลี่ยนชีวิตคนได้เพราะช่วยให้เขามีพลังที่จะต่อสู้กับอกุศลภายในใจ...”


ท่านใดเป็นครูบาอาจารย์น่าจะลองนำไปใช้กับลูกศิษย์ดูบ้างนะคะ  หรือต่อให้ไม่ได้เป็นครูท่านอาจจะขอให้บรรดาคนใกล้ตัวท่านที่ไว้ใจได้
และรู้จักท่านดีพอช่วยเขียนคุณสมบัติดี ๆ ของท่านให้ก็ได้ค่ะ คนรอบข้างอาจจะมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวท่านที่ท่านเองมองไม่เห็นก็ได้นะคะ

ผู้วิจารณ์เชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมที่สร้างกำลังใจให้แก่ท่านยามที่ท่านท้อแท้ได้เป็นอย่างดีค่ะ




2. “วิธีเรียกกำลังใจ” เรื่องเล่าจาก ท่านว.วชิรเมธี

“...วิธีที่จะทำใจให้ดีมี 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ “ฝึกใจให้มีคุณภาพดีอยู่เสมอด้วยการเจริญสมาธิภาวนา” จนใจมีความมั่นคง
นุ่มนวลควรแก่งานทางปัญญา และบริสุทธิ์ผ่องใสไร้มลทิน หากใจของใครมีคุณสมบัติเหล่านี้ ก็นับว่าเป็นผู้มีความมั่นคงทางใจอย่างยิ่ง

คนส่วนใหญ่สนใจแต่ความมั่นคงทางการเงิน อำนาจ ครอบครัว แต่หารู้ไม่ว่า “ความมั่นคงทางใจ” นั้นสำคัญที่สุดและจะทำให้ความมั่นคงด้านอื่น ๆ ตามมา

การทำใจให้ดีอีกอย่างคือ “การมองโลกในแง่ดี” ซึ่งมีหลักการอยู่ 2 ขั้น
    1) มองโลกตามความเป็นจริง มองให้รู้ว่าปัญหาที่แท้ของสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่คืออะไร
    2) มองว่าเราจะ “ได้ประโยชน์” จากปัญหานั้นอย่างไร

เช่น พ่อแม่ที่มีลูกเกเร สอนอย่างไรก็ไม่ฟัง เลยมองในแง่ร้ายว่าลูกเป็นเจ้ากรรมนายเวรกับตน ด้วยท่าทีเช่นนี้เลยคิดว่าลูกเกิดมาเพื่อเบียดเบียนชีวิตตนเอง

แต่หากมองในแง่ดีก็จะมองว่า เป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะได้ฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกให้เป็นมืออาชีพยิ่งกว่าพ่อแม่ทั่วไปเสียอีก
แล้วก็ตั้งใจเลี้ยงลูกอย่างไม่ย่อท้อ มีกำลังใจในการทำหน้าที่ของตนต่อไปอย่างถึงที่สุด

ทั้งการฝึกใจด้วยสมาธิภาวนา และการมองโลกในแง่ดี เป็นรากฐานของการเผชิญปัญหาชีวิตที่สำคัญยิ่งทั้งคู่
ถ้าใครฝึกใจด้วยสองวิธีนี้จนจัดเจนก็จะมีเครื่องคุ้มภัยในการเผชิญชีวิตอย่างยอดเยี่ยม...”

การ “มองโลกตามความเป็นจริง” ที่ท่านว.เอ่ยถึงนั้นฝึกได้ด้วยการเจริญสติภาวนา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า วิปัสสนาภาวนา นั่นเองค่ะ




3. “น้ำชาล้นถ้วย” เรื่องเล่าจาก ท่านพุทธทาสภิกขุ

“...วันหนึ่งโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศไปหาอาจารย์น่ำอิน อาจารย์แห่งนิกายเซนที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศเช่นกันเพื่อขอศึกษาเซน

ในการต้อนรับท่านอาจารย์น่ำอินได้รินน้ำชาลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ โพล่งออกไป
“ท่านจะใส่มันลงไปได้อย่างไร” ประโยคนี้แสดงว่าโมโห

ท่านอาจารย์น่ำอินจึงตอบว่า “ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไรลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง”

แต่เรา(ท่านพุทธทาส)คิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้นนั้นคงจะเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้ จริยธรรมแท้ ๆ ไม่มีวันจะล้น สิ่งที่ล้นนั้นมันไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ
มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้

จิตเดิมแท้ ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง ว่างจากตัวกูของกูนั้น มันจะเอาอะไรมาล้น และที่ร้ายที่สุดก็คือที่พูดว่า ศาสนานี้เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนที่ล้น

เขาคิดว่า เขาเกิดมาได้ พ่อแม่มีเงินให้ เขาใช้เงินเล่าเรียน ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโตได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาเลย
ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะออกไปในฐานะส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น

นี่แหละ คนชนิดนี้มันล้นออกมาให้เห็นเป็นรูปของมิจฉาทิฏฐิ คือมูลเหตุที่ทำให้จริยธรรมรวนเรและพังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้วจะต้องสนใจเรื่องนี้...”

นิทานเซนพร้อมบทวิเคราะห์นี้ท่านพุทธทาสเล่าไว้นานหลายสิบปีแล้วนะคะ แต่ว่าตรงกับเรื่องราวของประเทศชาติเมื่อไม่นานมานี้พอดี
เมื่อวิชาศีลธรรมถูกนำออกไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

ถ้าท่านกำลังประสบเรื่องราวที่ทุกข์ใจอยู่ หนังสือเล่มนี้จะทำให้เหมือนกับท่านมีพระนักปราชญ์ถึง 3 รูปมานั่งให้คำปรึกษาท่านถึงบ้านทีเดียวค่ะ
และแม้ท่านจะสุขสบายใจดีตอนนี้ ท่านก็อาจจะได้ใช้เรื่องราวในเล่มไว้ให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ข้อคิดกับคนรอบข้างท่านได้ค่ะ

ใครจะรู้ ท่านอาจจะพลิกชีวิตคนคนหนึ่งขึ้นมาจากคำพูดที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาเพียงไม่กี่คำของท่านหรือจากกระดาษแผ่นเดียวก็ได้นะคะ

-----------------------------------------------------------------
คอลัมน์ "ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ" นี้ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านค่ะ


https://www.facebook.com/DrNashSiamwallaPhD?fref=photo
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่