วิจักขณ์ พานิช: ไม่มีที่ให้ยืน
คอลัมน์ ธรรมนัว มติชนรายวัน 7 กันยายน 2557
วันก่อนแวะหาเพื่อนที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านสะพานควาย หลังจิบชาสนทนากันในล็อบบี้โรงพยาบาลได้พักหนึ่ง เพื่อนผมชวนออกไปสูบบุหรี่ ปรากฏว่า สิ่งที่เราพบคือป้ายห้ามสูบบุหรี่ที่ติดอยู่แทบทุกมุมของโรงพยาบาล จากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง ผ่านไปห้านาที เราก็ยังหาพื้นที่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาลไม่ได้ เลยต้องไปแอบสูบกันในที่ลับตาคนบริเวณกำแพงด้านหลัง ใกล้ๆ กับที่ทิ้งขยะ!
เกือบสิบปีก่อน สมัยยังไม่มี สสส. และสังคมไทยไม่ได้ประกาศสงครามกับบุหรี่อย่างเช่นทุกวันนี้ ผมไม่เคยเห็นการโหมรณรงค์สร้างจิตสำนึกผิดบาปต่อการสูบบุหรี่เท่านี้มาก่อนเลยครับ การสูบบุหรี่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมถึงขนาดที่รัฐต้องเข้ามาจัดการควบคุม พื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ออฟฟิศ โรงพยาบาล โรงแรม มหาวิทยาลัย ต่างจัดที่สูบบุหรี่ พร้อมกระบะทรายสำหรับดับก้นบุหรี่ไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน
ช่วงนั้นผมบังเอิญได้ชมภาพยนตร์อเมริกันเรื่องหนึ่งชื่อว่า "Thank you for smoking" (ขอบคุณที่สูบบุหรี่) พล็อตเรื่องมีอยู่ว่า นิค เนย์เลอร์ ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ออกมาต่อสู้ทางกฎหมายกับมาตรการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ที่ถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติโดยสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ วุฒิสมาชิกท่านนี้ผุดไอเดียให้มีการบังคับแปะสัญลักษณ์กะโหลกไขว้บนพื้นดำไว้บนซองบุหรี่ทุกซองที่ออกวางจำหน่าย เรื่องราวความขัดแย้งของตัวละครทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการโต้เถียงระหว่างเหตุผลในมุมของศีลธรรม กับเหตุผลในมุมสิทธิเสรีภาพได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด สูบแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่พระเอกของเราอธิบายว่า การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ นั่นคือเป็นเรื่องของการศึกษาและการให้ความรู้แก่พลเมือง ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของการเคารพเสรีภาพในการเลือกและการลองผิดลองถูกของคนแต่ละคนด้วย สัญลักษณ์กะโหลกไขว้และมาตรการรณรงค์ทำให้บุหรี่มีภาพย่ำแย่ราวกับยาพิษนั้น นอกจากจะไม่ใช่วิธีการให้การศึกษาและสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว ยังถือเป็นการที่รัฐเข้ามาก้าวก่ายและไม่เคารพเสรีภาพในการเลือกของพลเมืองอย่างไม่เข้าท่า
ที่ตลกคือ ไม่นานหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนั้น บ้านเราก็เริ่มมีนโยบายการนำเอารูปคนป่วย คนตาย และโรคภัยไข้เจ็บจากการสูบบุหรี่ มาแปะไว้บนซองบุหรี่ทุกซองที่จำหน่ายในไทย และเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ภาพน่ากลัวๆ ที่แปะอยู่ข้างซองบุหรี่ก็ได้ถูกเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นและอุจาดตามากขึ้นไปอีก
นิค : "ประเด็นที่ฉันอยากจะบอกก็คือ พวกเธอต้องหัดคิดด้วยตัวเธอเอง หากพ่อแม่บอกเธอว่าช็อกโกแล็ตอันตราย เธอจะเชื่อคำพูดนั้นไหม?" [เด็กๆ ตะโกนตอบพร้อมกัน : "ไม่เชื่อ"]
นิค : "นั่นไงล่ะ! ดังนั้น แทนที่จะทำตัวเหมือนแกะที่รอต้อนเข้าฝูง เมื่อมาถึงเรื่องบุหรี่ พวกเธอก็ควรจะหาคำตอบให้กับตัวเธอเอง"
แทบจะไม่ต่างกับเหตุผลของสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ในภาพยนตร์ Thank you for smoking เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของไทยกล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ เพราะจากงานวิจัยพบว่า วิธีนี้จะทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้ถึงพิษภัยของยาสูบ และคิดอยากจะเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ (เยาวชน) ด้วย ซึ่งมาตรการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ และการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
แปลกไหมครับ ไฉนมาตรการกำหนด "พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่" จึงได้กลายเป็นการจำกัด (และกำจัด) จนไม่เหลือพื้นที่ให้คนสูบบุหรี่อีกต่อไป นับวันจะหาโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ที่มีแก่ใจจัด "ที่สูบบุหรี่" ให้คนได้สูบบุหรี่อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรีได้ยากเต็มที ราวกับว่าบุหรี่เป็นยาเสพติดร้ายแรง ราวกับคนสูบบุหรี่เป็นคนเลวร้าย (หรือไม่ใช่คน) ราวกับว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นภัยต่อสังคม สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา
ในมุมมองการรณรงค์แบบ สสส. พวกเขาไม่สนใจว่าจะจัดวางกิจกรรมการสูบบุหรี่ให้อยู่ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร สรุปง่ายๆ ว่า "บุหรี่" และ "คนสูบบุหรี่" คือปีศาจ และสังคมควรบีบให้คนพวกนั้นไม่มีที่ยืน การรณรงค์ต้องทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องยาก เลวร้าย ไร้ศักดิ์ศรี และควรถูกสังคมประณาม ราวกับผ่านกระบวนการปรับทัศนคติของ คสช. คนสูบบุหรี่จะต้องรู้สึกเป็นทุกข์ กลัวตาย ละอาย ผิดบาป จนตัดสินใจเลิกเอาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับบุหรี่ในที่สุด
ส่วนคนที่เลือกสูบ ก็จงมองรูปปอด คอ ถุงลม หลอดลม ศพ และคำสาปแช่งบนซองบุหรี่ไป ?ห้ามแล้วยังไม่รักดี ก็แช่งให้ตายซะเลย อะไรทำนองนั้น
สังคมไทยยังพยายามผลักการสูบบุหรี่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ลับ จะสูบกันทีต้องเก็บงำไว้คนเดียวอย่างมิดชิด ห้ามออกมาเพ่นพ่านให้ใครเห็น พื้นที่สาธารณะไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณ์ (profane) สำหรับรองรับกิจกรรมอันหลากหลายของคนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกัน เรากำลังพยายามทำพื้นที่สาธารณ์ให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ด้วยการกีดกั้นบางกิจกรรม กีดกั้นบางความคิด และกีดกั้นคนบางประเภทออกไป จากนั้น ก็สถาปนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่แห่งศีลธรรมและความสุข
ตรงกันข้ามกับเรื่องศีลธรรมหรือศาสนา ที่นับวันก็จะยิ่งออกมาเรี่ยราดบนพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้นทุกทีๆ แทนที่จะจำกัดศาสนาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว เรากลับเอาค่านิยมความดีออกมาแสดงอำนาจตัดสิน ชี้ผิดชี้ถูกอย่างเหมารวม ในพื้นที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องสนใจคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น แทนที่จะจัดพื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสมสำหรับทั้งคนสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ เรากลับผลักการสูบบุหรี่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวราวกับเป็นความผิดบาปทางศาสนา
มองไปยังภาพน่าเกลียดน่ากลัวเต็มซองบุหรี่ ผมไม่แน่ใจจริงๆ ครับ ว่าวิธีการรณรงค์แบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีคนสูบบุหรี่น้อยลงการจากการขู่แช่งแบบนี้
แต่ที่แน่ๆ การปลูกฝังทัศนคติ "สูบบุหรี่ไม่มีที่ยืน" กำลังส่งผลต่อสำนึกพื้นฐานของคนไทยมากไปกว่าแค่เรื่องบุหรี่เพียงลำพัง
"ก็ในเมื่อสูบบุหรี่มันไม่ดี แล้วทำไมต้องให้คนสูบบุหรี่มีที่ยืน?"
"เพื่อสังคมที่ดี ทำไมต้องไปเคารพสิทธิของคนพวกนั้น?"
ผลคือ เราอาจกำลังแทนที่คนสูบบุหรี่ 1 คน ด้วยคนไม่สูบบุหรี่ 10 คน ที่ไม่เคยตระหนักถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนร่วมสังคมอีกเป็นจำนวนมาก ประเทศเต็มไปด้วยคนดีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่ไม่ยอมรับความเห็นต่างและทางเลือกของคนอื่น
ไม่มีที่ให้ยืนแก่คนสูบบุหรี่ ?
คอลัมน์ ธรรมนัว มติชนรายวัน 7 กันยายน 2557
วันก่อนแวะหาเพื่อนที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านสะพานควาย หลังจิบชาสนทนากันในล็อบบี้โรงพยาบาลได้พักหนึ่ง เพื่อนผมชวนออกไปสูบบุหรี่ ปรากฏว่า สิ่งที่เราพบคือป้ายห้ามสูบบุหรี่ที่ติดอยู่แทบทุกมุมของโรงพยาบาล จากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง ผ่านไปห้านาที เราก็ยังหาพื้นที่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาลไม่ได้ เลยต้องไปแอบสูบกันในที่ลับตาคนบริเวณกำแพงด้านหลัง ใกล้ๆ กับที่ทิ้งขยะ!
เกือบสิบปีก่อน สมัยยังไม่มี สสส. และสังคมไทยไม่ได้ประกาศสงครามกับบุหรี่อย่างเช่นทุกวันนี้ ผมไม่เคยเห็นการโหมรณรงค์สร้างจิตสำนึกผิดบาปต่อการสูบบุหรี่เท่านี้มาก่อนเลยครับ การสูบบุหรี่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมถึงขนาดที่รัฐต้องเข้ามาจัดการควบคุม พื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ออฟฟิศ โรงพยาบาล โรงแรม มหาวิทยาลัย ต่างจัดที่สูบบุหรี่ พร้อมกระบะทรายสำหรับดับก้นบุหรี่ไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน
ช่วงนั้นผมบังเอิญได้ชมภาพยนตร์อเมริกันเรื่องหนึ่งชื่อว่า "Thank you for smoking" (ขอบคุณที่สูบบุหรี่) พล็อตเรื่องมีอยู่ว่า นิค เนย์เลอร์ ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ออกมาต่อสู้ทางกฎหมายกับมาตรการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ที่ถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติโดยสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ วุฒิสมาชิกท่านนี้ผุดไอเดียให้มีการบังคับแปะสัญลักษณ์กะโหลกไขว้บนพื้นดำไว้บนซองบุหรี่ทุกซองที่ออกวางจำหน่าย เรื่องราวความขัดแย้งของตัวละครทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการโต้เถียงระหว่างเหตุผลในมุมของศีลธรรม กับเหตุผลในมุมสิทธิเสรีภาพได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด สูบแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่พระเอกของเราอธิบายว่า การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ นั่นคือเป็นเรื่องของการศึกษาและการให้ความรู้แก่พลเมือง ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของการเคารพเสรีภาพในการเลือกและการลองผิดลองถูกของคนแต่ละคนด้วย สัญลักษณ์กะโหลกไขว้และมาตรการรณรงค์ทำให้บุหรี่มีภาพย่ำแย่ราวกับยาพิษนั้น นอกจากจะไม่ใช่วิธีการให้การศึกษาและสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว ยังถือเป็นการที่รัฐเข้ามาก้าวก่ายและไม่เคารพเสรีภาพในการเลือกของพลเมืองอย่างไม่เข้าท่า
ที่ตลกคือ ไม่นานหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนั้น บ้านเราก็เริ่มมีนโยบายการนำเอารูปคนป่วย คนตาย และโรคภัยไข้เจ็บจากการสูบบุหรี่ มาแปะไว้บนซองบุหรี่ทุกซองที่จำหน่ายในไทย และเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ภาพน่ากลัวๆ ที่แปะอยู่ข้างซองบุหรี่ก็ได้ถูกเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นและอุจาดตามากขึ้นไปอีก
นิค : "ประเด็นที่ฉันอยากจะบอกก็คือ พวกเธอต้องหัดคิดด้วยตัวเธอเอง หากพ่อแม่บอกเธอว่าช็อกโกแล็ตอันตราย เธอจะเชื่อคำพูดนั้นไหม?" [เด็กๆ ตะโกนตอบพร้อมกัน : "ไม่เชื่อ"]
นิค : "นั่นไงล่ะ! ดังนั้น แทนที่จะทำตัวเหมือนแกะที่รอต้อนเข้าฝูง เมื่อมาถึงเรื่องบุหรี่ พวกเธอก็ควรจะหาคำตอบให้กับตัวเธอเอง"
แทบจะไม่ต่างกับเหตุผลของสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์มอนต์ในภาพยนตร์ Thank you for smoking เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของไทยกล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ เพราะจากงานวิจัยพบว่า วิธีนี้จะทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้ถึงพิษภัยของยาสูบ และคิดอยากจะเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ (เยาวชน) ด้วย ซึ่งมาตรการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ และการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
แปลกไหมครับ ไฉนมาตรการกำหนด "พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่" จึงได้กลายเป็นการจำกัด (และกำจัด) จนไม่เหลือพื้นที่ให้คนสูบบุหรี่อีกต่อไป นับวันจะหาโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ที่มีแก่ใจจัด "ที่สูบบุหรี่" ให้คนได้สูบบุหรี่อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรีได้ยากเต็มที ราวกับว่าบุหรี่เป็นยาเสพติดร้ายแรง ราวกับคนสูบบุหรี่เป็นคนเลวร้าย (หรือไม่ใช่คน) ราวกับว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นภัยต่อสังคม สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา
ในมุมมองการรณรงค์แบบ สสส. พวกเขาไม่สนใจว่าจะจัดวางกิจกรรมการสูบบุหรี่ให้อยู่ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร สรุปง่ายๆ ว่า "บุหรี่" และ "คนสูบบุหรี่" คือปีศาจ และสังคมควรบีบให้คนพวกนั้นไม่มีที่ยืน การรณรงค์ต้องทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องยาก เลวร้าย ไร้ศักดิ์ศรี และควรถูกสังคมประณาม ราวกับผ่านกระบวนการปรับทัศนคติของ คสช. คนสูบบุหรี่จะต้องรู้สึกเป็นทุกข์ กลัวตาย ละอาย ผิดบาป จนตัดสินใจเลิกเอาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับบุหรี่ในที่สุด
ส่วนคนที่เลือกสูบ ก็จงมองรูปปอด คอ ถุงลม หลอดลม ศพ และคำสาปแช่งบนซองบุหรี่ไป ?ห้ามแล้วยังไม่รักดี ก็แช่งให้ตายซะเลย อะไรทำนองนั้น
สังคมไทยยังพยายามผลักการสูบบุหรี่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ลับ จะสูบกันทีต้องเก็บงำไว้คนเดียวอย่างมิดชิด ห้ามออกมาเพ่นพ่านให้ใครเห็น พื้นที่สาธารณะไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณ์ (profane) สำหรับรองรับกิจกรรมอันหลากหลายของคนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกัน เรากำลังพยายามทำพื้นที่สาธารณ์ให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ด้วยการกีดกั้นบางกิจกรรม กีดกั้นบางความคิด และกีดกั้นคนบางประเภทออกไป จากนั้น ก็สถาปนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่แห่งศีลธรรมและความสุข
ตรงกันข้ามกับเรื่องศีลธรรมหรือศาสนา ที่นับวันก็จะยิ่งออกมาเรี่ยราดบนพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้นทุกทีๆ แทนที่จะจำกัดศาสนาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว เรากลับเอาค่านิยมความดีออกมาแสดงอำนาจตัดสิน ชี้ผิดชี้ถูกอย่างเหมารวม ในพื้นที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องสนใจคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น แทนที่จะจัดพื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสมสำหรับทั้งคนสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ เรากลับผลักการสูบบุหรี่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวราวกับเป็นความผิดบาปทางศาสนา
มองไปยังภาพน่าเกลียดน่ากลัวเต็มซองบุหรี่ ผมไม่แน่ใจจริงๆ ครับ ว่าวิธีการรณรงค์แบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีคนสูบบุหรี่น้อยลงการจากการขู่แช่งแบบนี้
แต่ที่แน่ๆ การปลูกฝังทัศนคติ "สูบบุหรี่ไม่มีที่ยืน" กำลังส่งผลต่อสำนึกพื้นฐานของคนไทยมากไปกว่าแค่เรื่องบุหรี่เพียงลำพัง
"ก็ในเมื่อสูบบุหรี่มันไม่ดี แล้วทำไมต้องให้คนสูบบุหรี่มีที่ยืน?"
"เพื่อสังคมที่ดี ทำไมต้องไปเคารพสิทธิของคนพวกนั้น?"
ผลคือ เราอาจกำลังแทนที่คนสูบบุหรี่ 1 คน ด้วยคนไม่สูบบุหรี่ 10 คน ที่ไม่เคยตระหนักถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนร่วมสังคมอีกเป็นจำนวนมาก ประเทศเต็มไปด้วยคนดีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่ไม่ยอมรับความเห็นต่างและทางเลือกของคนอื่น