อุบายชนะกามคุณ ๕ ของพระกรรมฐานรูปต่าง ๆ

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต




สิ่งที่นักปฏิบัติควรใส่ใจให้มาก คือต้องพยายามลดหรือพยายามเลิกละกามคุณทั้ง ๕ เพราะกามคุณเป็นศัตรูของจิตใจ ทำให้ใจเดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่นักปฏิบัติควรใส่ใจให้มาก คือต้องพยายามลดหรือพยายามเลิกละกามคุณทั้ง ๕ เพราะกามคุณเป็นศัตรูของจิตใจ ทำให้ใจเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นทุกข์ ถ้าทำใจให้สงบจากกามคุณทั้ง ๕ ได้ จึงจะพบคำว่า วิเวก (ความสงบ) แนวทางสำหรับปฏิบัติก็คือ ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่า ล้วนตกอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ คือ ไม่มีอะไรที่จะคงสภาพอยู่เหมือนเดิม แต่จะต้องเปลี่ยนแปร มีลักษณะแฝงอยู่ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะทนต่อสภาพอยู่อย่างเดิมไม่ได้ มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่มีจุดที่จะบังคับได้ว่า อย่า แก่ อย่าเจ็บ อย่าแปร รวมความคือ ทุกๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง ล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสลายไป การกำหนดได้อย่างนี้ ความยึดมั่น(อุปทาน) จะอ่อนกำลัง ถ้าความยึดมั่นอ่อนตัว ทุกข์ก็จะน้อยลง ถ้าจิตไม่ยึดมั่นเลย เช่นเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เป็นต้น ใจก็ไม่เป็นทุกข์



            ข้าพเจ้าก็เจอมารทางจิตใจอย่างสาหัส  มันโถมกำลังย่ำยี จนข้าพเจ้าแทบป่นปี้ ตั้งตัวไม่ติด มารที่ว่าคือ กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เกิดขึ้น ก่อกวนใจอย่างหนัก มีรูปและเสียงปรากฏทางนิมิตเสมอ จิตใจของข้าพเจ้าทุรนทุราย ร้อนรุ่ม อึดอัด หนักอึ้ง เป็นอาการที่แสนทรมาน เกือบจะเอาเพศบรรพชิตไปไม่ตลอด แต่แล้วสติปัญญา (ปัญญาบารมี) ที่รับการอบรมมาจากครูอาจารย์ ก็ผุดมาช่วยแก้ปัญหา ประมาณเดือนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าแสนทรมาน แต่แล้วก็ปลุกใจตนเองว่า ปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ อุปสรรคคือสิ่งที่ต้องสู้ เราจะหาวิธีแก้มัน สู้มันให้สมกับการเป็นลูกผู้ชาย เป็นไงก็เป็นกัน  ฉันจะไม่ยอมสยบต่อมาร



            ว่าแล้วก็กำหนดหาวิธีแก้แบบอัตโนมัติ ตามแต่จะคิดได้ ครั้งแรกกำหนดหลักการว่า จะฉันให้น้อยพออยู่ได้ แต่จะเดินจงกรมทั้งวัน เพื่อเป็นการทรมานให้เมื่อยเพลีย จิตใจจะได้ไม่มีโอกาสคิดถึงรูปเสียง... ขั้นตอนในการปฏิบัติคือ ฉันเช้าเสร็จ พอล้างบาตรเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าห้องไหว้พระให้ใจสบาย พร้อมกับขอให้บารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ได้ช่วยบันดาลให้จิตใจของข้าพเจ้าพบความเบา ความสว่าง ความสงบ ให้จิตได้คลายจากกามคุณทั้ง ๕ จากนั้นก็เข้าสู่ที่จงกรม พอ ๓ โมงเช้าก็เริ่มเดินจงกรม เดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น จนถึง ๕ โมงเย็น ก็เลิกเดิน แล้วไปทำกิจวัตรประจำวัน ตั้งใจว่า ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าครบ ๑๕ วันแล้วไม่ได้ผล ก็จะเปลี่ยนวิธีใหม่ ทำความเพียรเพื่อทรมานตนโดยไม่ยอมถอย แม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกครบ ๑๕ วันแล้วก็ยังไม่ได้ผล กามคุณมิได้เพลาเลย แต่กลับยิ่งกำเริบ


ปัญญาบารมีช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากบ่วงมาร

            ทรมานตนให้ลำบากครบ ๑๕ วันแล้ว กามคุณก็ยิ่งกำเริบ เลยนึกได้ว่า  ทุกขกิริยานั้นมิใช่ทางประเสริฐ  ฉะนั้น กิเลสจึงมิได้ลดละ ต่อไปนี้เราควรใช้ หลักสติปัฏฐานเข้าแก้ปัญหาดู นั่นคือ จะคอยติดตามดูจิตอยู่ทุก ๆ ขณะ จิตคิดไปไหน เราจะตามกำหนดรู้จิตมันอยู่อย่างไร เราจะตั้งใจดูอาการอยู่ของจิต ถ้ามันร้อน มันร้อนยังไง และมันร้อนเพราะอะไร ถ้าจิตรู้สึกสบาย ก็จะกำหนดดูว่ามันสบายอย่างไง จะคอยควบคุมให้สติสัมปชัญญะอยู่กับจิตตลอดเวลาโดยไม่ลดละ ถ้ามันหาเรื่องหาราวที่เป็นทุกข์ใส่ตัว เราก็จะพยายามรู้ มันใฝ่ไปทางดี ทางเสีย เราก็ตามรู้


            พอพยายามอยู่อย่างนั้นทุก ๆ ขณะ ได้ประมาณ ๓๐ นาที จิตเริ่มเบา เย็น สงบ ข้าพเจ้าอุทานในใจ ด้วยความดีใจว่า นี่ถูกวิธีแล้ว ๆ

            จากนั้นก็เกิดอาการภูมิใจ อิ่มใจ ปลื้มใจจนขนลุกขนชัน และก็ยิ่งมีกำลังใจ จึงตามดูจิตอย่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผลก็ยิ่งคืบหน้า คือจิตยิ่งสบาย ๆ จนในที่สุดก็ปกติเหมือนเมื่อครั้งก่อน ๆ มา สำหรับข้าพเจ้าเอง เมื่อมีปัญหาทางจิต ก็ใช้แนวทางของสติปัฏฐานในการแก้ปัญหา และก็ได้ผลดีเสมอมา  นี่คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตนเอง แต่นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรปลงใจเชื่อข้าพเจ้าทันที เพราะอุปนิสัยและบารมีของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน


            วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลจึงอาจจะแตกต่างกันไป ถึงอย่างไรด้วยความหวังดีต่อกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติว่า เมื่อท่านเจอมารทางกายหรือมารทางใจก็ตาม ท่านจงตั้งสติให้ดี อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้สติรวน จงควบคุม ความคิดของตัวเองให้มั่นคง อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้คลอนแคลน แล้วค่อย ๆ คิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยความใจเย็น และให้สุขุมรอบคอบที่สุด โดยเฉพาะต้องใช้ขันติและความฉลาดให้มากเป็นพิเศษ เมื่อกำหนดหลักการในการแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินการแก้ปัญหาตามหลักการที่กำหนดไว้นั้นด้วยความมีสัจจะที่แน่นอน และมั่นคงว่า จะทดลองแก้ปัญหานั้นตามหลักการนั้น ๆ สักกี่วันก็พยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ ถ้าไม่ได้ผลโดยวิธีปฏิบัติเช่นนั้น ท่านก็จะพบวิธีใดวิธีหนึ่งในใจของท่านเองจนได้ เพราะจิตที่ศึกษาสภาพ ย่อมจะเกิดการรู้ผลไปโดยอัตโนมัติ

            ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองก็โดยอาศัยหลักค่อยทำ ค่อยปฏิบัติ ค่อยติดตามดูจิตนั่นเอง เอาจิตศึกษาจิต แล้วก็เกิดความรู้สึกที่เป็นสภาวธรรม โดยผู้นั้นจะรู้ด้วยตนเองดีว่า สภาพจิตนั้นมันเป็นอย่างไร (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)


สาระทางธรรมประดับแง่คิด

            ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดมีในตัวเรา ก็ต้องปฏิบัติหรือเจริญธรรมตามหลักอริยมรรค จึงจะคลายหรือถอนกิเลสได้ ถ้าเพียงแต่อ่านหรือศึกษา ก็ให้ผลดีเพียงขั้นต่ำ คือ ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความซาบซึ้ง รู้ว่าอะไรควรและไม่ควร ถึงจะละราคะ โทสะ โมหะ ได้นิดหน่อย ด้วยเหตุที่ยังรู้สึกละลายต่อความรู้อยู่บ้าง ผลของการเรียนรู้ก็ คงช่วยทำให้เป็นคนดีระดับกัลยาณชน ราคะ โมหะ โทสะ ยังมีอยู่ในใจ และจะแสดงอาการเป็นครั้งคราว จิตใจก็มืดเป็นครั้งคราว ไม่มืดตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าดีอยู่บ้าง

            เมื่อเดินทางต้องอย่าหลงทิศทาง เพราะถ้าหลงทิศ และเดินไปตามทางที่ตนหลงนั้น ก็ยิ่งนับวันจะไกลจุดหมาย ถ้าหลงทิศแล้วก็ยืนอยู่กับที่คอยถามคนอื่นที่เดินผ่านมา เมื่อแน่ใจก่อนจึงค่อยเดินต่อไป อย่างนี้มีโอกาสถึงเป้าหมายได้ ข้อนี้ฉันใด นักปฏิบัติธรรมที่ดี ก็ไม่ควรหลงหลักสัจธรรม เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุไม่ควรเกี่ยวข้องกับที่สุด ๒ อย่าง

            คือ การมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) และไม่ควรทรมานตนให้ตึงเกินไป เช่น อดข้าว อดน้ำ เป็นสิบๆ วัน จนเกือบตายเป็นต้น

            ใครก็ตามที่ลืมหลักสำคัญที่ว่ามา คนนั้นประสบทุกข์แน่ๆ ยิ่งมั่วยิ่งเสพกามคุณ ๕ เท่าไร ความเป็นตัวของตัวก็ยิ่งหมดไป ใจจะติดหรือตกเป็นทาสของสิ่งนั้นๆ โดยหมดความเป็นอิสระในตัว เหมือนคนเสพฝิ่น ยิ่งเสพยิ่งติด หิวและหงุดหงิดอยู่เรื่อย นี่คืออาการของคำว่าติด คนที่ติดกามคุณก็เช่นเดียวกันถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่น่าสงสารเหลือเกิน เพราะบางคนติดมาก จนได้แต่หวง หึง และเป็นทุกข์ทรมานจิตใจ เป็นแรมเดือน แรมปีก็มี

            แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ คนที่เมาเหล้าก็ไม่เคยสมเพชตัวเอง คนที่เมากามคุณก็ไม่เคยสลดใจตนเองฉันนั้น ถ้าอยากมีความสุขแท้จริง หรือสุขที่บริสุทธิ์ปลอดภัย ให้ดำรงตนอยู่ในขอบเขตของศีล สมาธิ ปัญญา อย่ากระทำ พูด คิด ในทางที่ขัดต่อ ศีล สมาธิ ปัญญา อีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ปฏิบัติตนตามหลักอริยมรรค ๘ อย่าใช้ชีวิตในทางที่ขัดต่อมรรค ๘ ชีวิตท่านจะพบความสุขใจ ความเอิบอิ่มใจ ที่บริสุทธิ์อย่างแน่นอน

คัดลอกจาก: ชีวประวัติ หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่