ชี้แจงเรื่องพลังงาน เพื่อลดความเข้าใจผิด

กระทู้ข่าว
"ไพรินทร์" ไขปมทุกข้อข้องใจ เปิดข้อมูลโต้ปตท.ผูกขาด-เสือนอนกิน
“ในเรื่องพลังงาน อยากให้ทุกฝ่ายใคร่ครวญว่า เราจะพูดคุยกันได้อย่างไร ทั้งสองฝักสองฝ่ายหรือสามฝ่าย...ถ้านำต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มาพูดกันโดยไม่ได้จัดระเบียบกัน ไม่รับฟังซึ่งกันและกันเลย ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง
ข้อมูลในโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวัง มีทั้งถูกไม่ถูก มีทั้งคนละฝ่าย บางคนผมก็ไม่ทราบว่านำมาจากไหน บางอย่างก็จริง บางอย่างก็ดูฟังแล้วก็ฟังได้ แต่พอพูดนำมารวมกันแล้วไม่เข้าใจ ผมไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายรัฐจะถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด...ซึ่งเรื่องนี้เราจะเร่งรัดสภาปฏิรูปดำเนินการแก้ไข ช่วงนี้จึงอยากให้ทำความเข้าใจกันก่อน”
ข้างต้นนี้คือ คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในรายการ “คืนความสุขของคนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมาที่พูดถึง “การปฏิรูปพลังงาน” เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ
หลังจากที่พยายามจับ 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการทวงคืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องมานั่งพูดคุยกันถึงปัญหาคาใจบนโต๊ะเสวนา “ปฏิรูปพลังงานเพื่อความปรองดอง”
แต่ดูเหมือนว่า “ความปรองดอง” ยังไม่เกิดขึ้น และ ปตท.ยังคงตกเป็นจำเลยสังคม...ต่อไป
ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ และมีความสำคัญต่อแนวทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงเปิดโอกาสให้ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้นำข้อมูลของ ปตท. มาอธิบาย และชี้แจงให้ประชาชนได้รับฟังและค้นหาความจริงที่ถูกต้องอีกครั้ง
ถาม : ปตท.ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ทำให้มีกำไรมหาศาล?
ตอบ : ถ้าประชาชนมองจากจำนวนปั๊มน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศที่มี 1,500 แห่ง ไปไหนเห็นแต่ปั๊ม ปตท.ก็มองเหมือนเราผูกขาด แต่ถ้าดูสัดส่วนการตลาดที่แท้จริง ปตท.เป็นเพียง 1 ในผู้ประกอบการค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่มีทั้งสิ้น 41 ราย โดยเรามีส่วนแบ่งการตลาด 39% ในขณะที่อีก 61% เป็นของคู่แข่ง สะท้อนให้เห็นว่า ปตท.ไม่ได้ผูกขาด หรือเป็นเจ้าของตลาดน้ำมันในประเทศแต่อย่างใด
คำถาม : ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้าน?
ตอบ : โครงสร้างราคาเชื้อเพลิง และการใช้เชื้อเพลิงของคนไทยในขณะนี้ค่อนข้างบิดเบือนจะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ระยะทางที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่ราคาจำหน่ายกลับแตกต่างกันมาก
นี่เป็นเพราะมีกระบวนการสร้างความเข้าใจผิดๆในเรื่องพลังงานให้กับประชาชน โดยระบุว่าราคาเชื้อเพลิง คือน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แอลพีจี เอ็นจีวี ต้องขายในราคาถูกๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนทุกคนได้ใช้เชื้อเพลิงราคาถูก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และแอลพีจี เอ็นจีวี เพื่อช่วยคนที่มีรายได้น้อย แต่หากพิจารณาการใช้เชื้อเพลิงของคนไทย จะเห็นข้อเท็จจริงว่าผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นใคร
คำถาม : เอา ปตท.กลับมาเป็นของรัฐจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงไหม?
ตอบ : สมมติว่าเอากลับมาเป็นของรัฐทั้ง 100% จะต้องหาเงินจำนวนมหาศาลมาซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน ก็ต้องถามว่ารัฐจะเอาเงินมาจากแหล่งใด หรือถ้าหาเงินมาซื้อ ปตท.คืนได้จริง ก็ต้องถามต่อว่า คุ้มค่าหรือไม่ แล้วจะทำไปเพื่ออะไร?!
เพราะปัจจุบัน รัฐบาลก็ถือหุ้นใหญ่ใน ปตท.ในสัดส่วนที่มากพอจะกำกับนโยบาย และการบริหารงานได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ในแต่ละปีกระทรวงการคลังยังได้รับเงินปันผลจาก ปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มากมาย
ในทางกลับกันหาก ปตท.จะกลับไปเป็นของรัฐเต็มรูปแบบ ก็จะไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ และอาจส่งผลให้ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่ไปแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศไม่มีศักยภาพในการหารายได้จากการทำธุรกิจอื่นๆ ในกรณีเลวร้ายอาจไม่มีกำไรกลับมาเป็นเงินปันผล เงินลงทุน และรายได้ต่างๆส่งคืนแผ่นดิน
ถาม : ทำไมต้องแปรรูป ปตท.และขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์?
ตอบ : การแปรรูป ปตท.เป็นข้อตกลงตามเงื่อนไข “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งบังคับให้รัฐต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ทำได้เพียงไม่กี่รัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ทำให้ ปตท.ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อลดภาระของรัฐไม่ต้องอัดฉีดงบประมาณมาสนับสนุนการลงทุนของ ปตท.
รัฐบาลขณะนั้น ยังได้ขอให้ ปตท.นำเงินทุนที่ได้จากการแปรรูปไปกอบกู้ ฐานะของโรงกลั่นน้ำมัน และบริษัท ปิโตรเคมีที่ประสบปัญหาจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ด้วย นั่นทำให้ ปตท.เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทต่างๆและบริหารจัดการด้วยการฟื้นฟูกิจการ ก่อนจะจับควบรวมกิจการกัน และเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จนกระทั่งบริษัทเหล่านี้ สามารถฟื้นสถานะกลับมาเป็นโรงกลั่น และโรงงานปิโตรเคมีที่แข็งแกร่งสำเร็จ นั่นส่งผลให้เป็น กำไรกลับคืนมาที่ ปตท.ขณะเดียวกันก็สร้างผลตอบแทนสู่รัฐบาลมหาศาลในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ถาม : กรณีคืนท่อก๊าซธรรมชาติครบ–ไม่ครบเป็นอย่างไร?
ตอบ : กรณีที่มีการกล่าวหาว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สิน คือท่อก๊าซให้คลังไม่ครบถ้วนตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากว่า ปตท.ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ต้องแบ่งแยกตามคำพิพากษาให้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังแล้ว
ทั้งหมดคือ การไขความกระจ่างในประเด็นแห่งความเคลือบแคลงสงสัยที่สังคมมีอยู่กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
http://www.thairath.co.th/content/446943
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่