กรณีน้ำท่วมแจ้งวัฒนะ และ เมืองทองธานี

เหตุเกิดที่ "แจ้งวัฒนะ-เมืองทอง" ไครซิสแมเนจเมนต์...วันฝนถล่มกรุง

กลายเป็นปรากฏการณ์แชร์สนั่นบนโลกออนไลน์กับเหตุฝนถล่มกรุงเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่บ่าย 3 โมงลากยาวถึงช่วงหัวค่ำ จนทำให้ถนนแจ้งวัฒนะและภายในโครงการเมืองทองธานีแทบจมบาดาลแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การจราจรกลายเป็นอัมพาตไปร่วมครึ่งเมือง จากน้ำท่วมขังสูงเกือบมิดล้อรถ

แม้แต่คนที่อาศัยอยู่ในย่านเมืองทองก็บอกว่า ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เพราะตอนน้ำท่วมปลายปี"54 เมืองทองแห้ง แต่ครั้งนี้ทำไมท่วม ?

เมืองทองตกหนักระบายไม่ทัน

ขณะที่ "กุลวดี จินตวร" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการของบางกอกแลนด์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปกติโครงการเมืองทองฯติดตั้งสถานีสูบน้ำ 11 สถานี เพื่อแก้ปัญหาเมื่อเกิดน้ำท่วม แต่ฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงบ่าย 3 โมง ซึ่งไม่ได้รู้ล่วงหน้าเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี"54 ทำให้ระบายน้ำได้ไม่ทัน

โดยปกติเมื่อเกิดน้ำท่วมขังภายในเมืองทองที่ระดับ 10 เซนติเมตร จะสูบน้ำระบายออกได้ภายใน 30-45 นาที แต่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาท่วมขังตั้งแต่ 20 เซนติเมตรขึ้นไปจึงใช้เวลานาน ส่วนที่มีภาพท่วมสูงเกือบมิดล้อรถเพราะบางจุดเป็นที่ต่ำ

สำหรับขั้นตอนการแก้ปัญหาเมื่อมีน้ำท่วมขัง โครงการจะสูบน้ำไปยังทะเลสาบขนาดใหญ่ในเมืองทองเนื้อที่ 350 ไร่ จุดลึกที่สุดลึกถึง 30 เมตร จากนั้นจะมีเครื่องสูบออกไปยังคูระบายน้ำที่เชื่อมกับคลองบางพูด ระบายไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยา

เพียงแต่สภาพปัญหาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา คือน้ำในคลองที่เคยต่ำกว่าขอบตลิ่ง 60-70 เซนติเมตร กลับเอ่อล้นเพราะฝนตกแรงและตกนาน เมื่อโครงการสูบน้ำออกก็ไหลระบายออกไม่ได้ จึงไหลวนกลับมาท่วมใหม่

ทั้งนี้ช่วงเกิดเหตุได้ประสานกับเทศบาลนครปากเกร็ด เนื่องจากพบว่าประตูน้ำที่กั้นระหว่างคลองบางพูดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดอยู่ไม่มาก ทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ช้า เมื่อเปิดประตูกว้างขึ้นประมาณ 5 ทุ่ม น้ำก็ค่อย ๆ ลดระดับจนกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนการป้องกันวันรุ่งขึ้นได้ให้เจ้าหน้าที่ขุดลอกคูน้ำเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น

เทศบาลใช้งบฯขยายคลอง

ส่วนเทศบาลนครปากเกร็ด ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ "บุญเสริม ปิ่นกาญจนนาวี" รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครปากเกร็ด กำกับดูแลงานบรรเทาสาธารณภัย, เทศกิจ และการศึกษา ระบุว่าที่ผ่านมา ถนนแจ้งวัฒนะเคยน้ำท่วมบ้าง แต่ไม่ท่วมขังนานเท่าครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้เทศบาลได้ขุดลอกคลอง 2 แห่งในพื้นที่ ได้แก่ "คลองบางพูด-คลองบางใหม่"

ส่วนการป้องกันในอนาคตเตรียมงบประมาณท้องถิ่น 100 ล้านบาท เพื่อขยายคลองอีกฝั่งละ 1-2 เมตร ควบคู่ทำกำแพงดินโดยรอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำได้ดีขึ้น กรอบเวลาเดิมจะเริ่มลงมือในอีก 2 ปีหน้า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนถล่มกรุงดังกล่าวอาจจะเลื่อนให้เร็วขึ้น

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


กรณีนี้การท่วมนี้   น่าจะแตกต่างจากครั้งก่อนที่เกิดจากการไหลเอ่อของน้ำเข้ามาในพื้นที่  อ.ปากเกร็ด (เมืองทองอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย)
ซึ่งทางเทศบาลปากเกร็ดได้แสดงผลงานอันดีเยี่ยม  สามารถป้องกันน้ำท่วมไม่เกือบ 100% เป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญ

เมื่อย้อนคิดกลับไป  อีกที  การท่วมครั้งนี้อาจมีผลจากการป้องกันน้ำท่วมเอ่อทีดี  ทำให้แนวป้องกันนั้นย้อนกลับมาหาเป็นสาเหตุปิดกั้นน้ำข้างในไม่สามารถไหลออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่    จึงขอให้ทางเทศบาลปากเกร็ดตรวจสอบดูด้วย

ส่วนใหญ่ราชการไทย  หลังจากเกิดเหตุการณ์เฉพาะกิจได้ทำอะไรไปแล้วแล้วมักจะละเลยไม่ทำกลับให้เหมือนเดิม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่