อะไรกันเนี่ย"ความยุติธรรมไทย" ปชช.งง สับสน ศาลอาญาเคยบอก dsi มีอำนาจฟ้อง คดีสลายการชุมนุม มาคราวนี้บอกเป็นหน้าที่ ปปช.

กระทู้สนทนา
ขอโทษครับ ขอแก้ไขหัวข้อกระทู้ จาก (dsi มีอำนาจฟ้อง  เป็น dsi มีอำนาจหน้าที่สอบสวน) ครับ

อะไรกันเนี่ย"ความยุติธรรมไทย" ปชช.งง สับสน ศาลอาญาเคยบอก dsi มีอำนาจหน้าที่สอบสวน คดีสลายการชุมนุม มาคราวนี้บอกเป็นหน้าที่ ปปช.

ทำให้ผมนึกถึง  คำพิพากษาศาลแพ่งปี 53 ว่าไม่ก้าวล่วงอำนาจบริหารออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กับรัฐบาลนายกฯปู ศาลแพ่งก็ตัดสินไปอีกแบบ(โดยไม่พูดเหมือนเดิมว่าไม่ก้าวล่วง)แต่สั่งห้าม9ข้อ พรก.ฉุกเฉิน  

ตกลงจะให้ ปชช.เชื่อถือได้เหรอกระบวนการยุติธรรมที่ไม่แน่นอน ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีบรรทัดฐาน หลายมาตรฐานแบบนี้???  (ปชช.คนไทยอย่างผมรู้สึก อายนานาชาติเขานะ  ปชช.คนไทยอย่างผมรู้สึกไม่ภูมิใจกับกระบวนการยุติธรรมแบบนี้นะ)

ยิ่งเป็นแบบนี้ผมยิ่งคิดถึง"เปาบุ้นจิ้น"มากขึ้นทุกที  (มันจะมีไหม  เปาไทยที่"ตงฉิน" ยึดหลักการหลักกฏหมายเคร่งครัด ไม่สนใครนามสกุลอะไร และให้ความสำคัญ"ความยุติธรรม"กับคนทุกชนชั้นแม้นคนยากจน  อย่างเปาบุ้นจิน)

สุดท้ายถ้ากระบวนการยุติธรรมไทยยังเป็นแบบนี้ แล้วไม่มีการปฏิรูป  ก็เอวังละครับ  หากคนไทยอย่างผมและอีกจำนวนมากที่รักความยุติธรรมหมดศรัทธา แล้วคิดเหรอนานาชาติเขาจะเชื่อถือ  ก็คนไทยด้วยกันเองยังรับไม่ได้เลย..............เอาไปคิดดูครับ

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd09URTVOemN6TUE9PQ==&subcatid=
ศาลอาญายกฟ้อง‘มาร์ค-สุเทพ’สลายม็อบปี53 ชี้เป็นอำนาจศาลฎีกานักกม.ส่งผลคดีอาญา99ศพล้มหมด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี2553

ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

คดีนี้มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยทั้ง 2 มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ตามพ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และประกาศของ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ระบุให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อวิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ให้ลงโทษจำเลยทั้ง2ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 เห็นได้ว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่

ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม  
..................................................................

ส่วนนี่คือ คำวินิฉัยที่บอกว่า คดีสลายม็อบปี 53 เป็นอำนาจของดีเอสไอ

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd09USXdNVEV5Tmc9PQ==&subcatid=
เผยศาลอาญาเคยชี้คดีสลายม็อบปี 53 เป็นอำนาจของดีเอสไอ

วันที่ 28 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ศาลอาญา ได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200 กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554-13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่งศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างปี 2551-2553 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถ.ราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย

โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด

ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขนั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่