อย่ากล่าวอย่างนั้นอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นธรรมลึกซึ้ง...


พระพุทธโฆษาจารย์  ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนา  ผู้รจนาคัมภีร์อันมีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ  วิสุทธิมรรค  เมื่อจะรจนาปฏิจจสมุปบาท  ท่านได้ถ่อมตน(ตามวิสัยปราชญ์)  ไว้ว่า

“ข้าพเจ้าชั่งน้ำหนักตรองดู   เห็นว่า  การพรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาท  
ทำได้ยากยิ่งนัก  เว้นแต่ท่านผู้แตกฉานในอาคม(ปริยัติ)  และอธิคม(ปฏิเวธ
การบรรลุธรรม)


ข้าพเจ้าอาจพรรณนาได้ไม่ถึงที่สุดของปฏิจจสมุปบาทนั้น  ประดุจบุคคลหยั่ง(ขา)
ลงไปในทะเลหลวง (จะให้ถึงก้นทะเลได้อย่างไร)  แต่พระศาสนานี้  ประดับด้วย
นัยแห่งเทศนา (คำสอน)หลากหลาย  ข้าพเจ้าขออิงอาศัยหลักทั้งสองประการนั้น
พรรณนาขยายปฏิจจสมุปบาท"


........................................................................................................

หลักปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่ทันสมัยอยู่ตลอด  ช่วยคลายความยึดติดในสิ่งต่างๆ ช่วยให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง  

แต่เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก  เข้าใจได้ยาก  และจะแสดงให้ผู้อื่นเห็นและเข้าใจก็ยากเช่นกัน  สมดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า

“เรื่อง  ๔  เรื่อง  คือ  สัจจะ,  สัตว์,  ปฏิสนธิ,  และปัจจยาการ(ปฏิจจสมุปบาท)นี้แหละเห็นได้ยาก  และแสดงก็ยาก”

--> เรื่องความจริง  หรือเท็จ  เป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง  เพราะมันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังซับซ้อนมากมาย  ความจริงแม้ที่เป็นธรรมดาสามัญยังรู้และเข้าใจได้ยากเสียแล้ว  

ถ้าเป็นความจริงระดับสูง เช่น  อริยสัจ  และความจริงที่เรียกในภาษาปรัชญาว่า  Ultimate  reality  แล้วจะรู้และเข้าใจได้ยากเพียงใด  ดังนั้น  แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ยังท้อพระทัยในการที่จะประกาศความเป็นจริงนั้น

-->  เรื่องสัตว์  บุคคล  หรือสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง  กล่าวโดยเฉพาะอุปาทินนกสังขาร  คือสังขารที่มีวิญญาณครองนั้นมีความสลับซับซ้อน  เปลี่ยนแปลงมาก  ยากที่จะเข้าใจ  ยากที่จะอธิบายว่าทำไมคนนั้นจึงเป็นอย่างนั้น  คนนี้จึงเป็นอย่างนี้  

กรรมซึ่งบงการอยู่เบื้องหลังชีวิตของคนและสัตว์แต่ละชีวิตนั้นมีความเจือจาง  เข้มข้น  อ่อนและรุนแรงไม่เท่ากัน  ชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นไปของสัตว์บุคคลจึงยากที่จะเข้าใจและยากที่จะอธิบาย  เราต้องวินิจฉัยเป็นเรื่อง ๆ  เป็นรายบุคคลไป

-->  เรื่องปฏิสนธิ  คือกำเนิดของสัตว์ทั้งหลายว่าบุคคลผู้ทำกรรมอย่างใดจะไปเกิดที่ใดก็เป็นเรื่องยาก  นอกจากท่านผู้มีญาณวิเศษเช่น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

-->  เรื่องสุดท้ายคือ  เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท  เข้าใจยาก  รู้ยาก  แสดงยาก  เพราะลึกซึ้ง  มีอรรถอันลึกซึ้ง  แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงยอมรับว่าเป็นธรรมลึกซึ้ง  ดังที่ตรัสกับพระอานนท์  มีเรื่องย่อดังนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ  นิคมชื่อกัมมาสธรรมในแคว้นกุรุ(กรุงเดลฮีปัจจุบัน)  พระอานนท์เข้าไปเฝ้าและทูลว่า

“อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า  ประหลาดจริง พระเจ้าข้า  ปฏิจจสมุปบาทนี้  เป็นธรรมลึกซึ้ง  และปรากฏเป็นธรรมลึกซึ้ง  แต่ก็ปรากฏแก่ข้าพระองค์  เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ”

พระศาสดาตรัสว่า

อย่ากล่าวอย่างนั้นอานนท์  ปฏิจจสมุปบาทนี้  เป็นธรรมลึกซึ้ง  และปรากฏ
เป็นธรรมลึกซึ้ง
  เพราะไม่รู้  ไม่เข้าใจ  ไม่แทงตลอดซึ่งปฏิจจสมุปบาทนี้แหละ
หมู่สัตว์จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง  ขมวดเหมือนกลุ่มด้ายที่ขอดเป็น
ปม  เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง  ผ่านพ้น  อบาย  ทุคติ  วินิบาต
และสังสารวัฏไ
ปไม่ได้”

(สํ.  นิ.  ๑๖/๑๑๐-๑๑๑  ข้อ  ๒๒๔-๕)

เพราะความที่พระธรรมซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว  เป็นธรรมที่เห็นได้ยาก  รู้ได้ยาก  ละเอียด  ประณีต  ลึกซึ้งนี่เอง  ครั้งแรกที่ทรงปรารถนาจะประกาศธรรม  จึงทรงท้อพระทัย ทรงปรารภถึงปฏิจจสมุปบาท  หรือหลักอิทัปปัจจยตา(เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น)นี้

ประการหนึ่ง  และทรงปรารภพระนิพพาน  อีกประการหนึ่ง  ทรงเกรงจะเหนื่อยเปล่า  ถ้าคนอื่นไม่อาจรู้ตามได้
(ดู  วินย.  ๔/๘/๗ ;  ม.มู.  ๑๒/๓๗๓  ข้อ ๓๒๑ ; สํ.ส.  ๑๕/๒๐๐-๒๐๑  ข้อ  ๕๕๕)

อีกประการหนึ่ง  ปฏิจจสมุปบาทมีความหมายเท่ากับธรรมทั้งหมดของพระองค์มีพระพุทธพจน์  ดังนี้

“ผู้ได้เห็นปฏิจจสมุปบาท  ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม  
ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท”

(ม.มู  ๑๒/๓๕๙  ข้อ ๓๔๖)

โดยนัยดังกล่าวมา  ปฏิจจสมุปบาทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  เป็นกฎที่ครอบคลุมเอาความเป็นไปของชีวิตและจักรวาลทั้งมวลไว้

สมณะหรือพราหมณ์หรือนักพรตในศาสนาใดๆ ก็ตาม(ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรม
สากล)  เมื่อรู้แจ้งในธรรมคือปฏิจจสมุปบาทนี้  จึงจะยอมรับได้ว่าเป็นสมณะในหมู่
สมณะ  เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์  และได้ชื่อว่าได้บรรลุประโยชน์ของความ
เป็นสมณะและความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเอง

(ดู  สํ.นิ. ๑๖/๒๐  ข้อ  ๔๑)

เมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ๆ  ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงทบทวนพิจารณามากที่สุด คือ  ปฏิจจสมุปบาท  ทรงทบทวนพิจารณาอยู่ถึง ๗  วัน  

กล่าวคือในสัปดาห์แรกหลังจากตรัสรู้แล้ว  ยังคงประทับอยู่ที่บริเวณโพธิมณฑลนั่นเอง  และทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยตลอดทั้งสายเกิด(สมุทัยวาร)  และสายดับ(นิโรธวาร)  

ทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยอย่างยิ่ง  เพราะทรงทราบตระหนักแน่ว่าทรงรู้ปฏิจจสมุปบาทอย่างทั่วถึงแล้ว  ความสงสัยทั้งปวงของพระองค์หมดสิ้นไป  ทรงกำจัดมารและเสนามารเสียได้  เพราะทรงรู้กฎแห่งเหตุผล  หรือกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน  กล่าวคือปฏิจจสมุปบาทนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่