"อุ้มบุญ" กำลังจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น "มดลูกของโลก"

เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เริ่มต้นจากพัฒนาการที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือผุ้มีบุตรยาก พ่อแม่ตัวจริงอาจจะมีปัญหาทางใดทางหนึ่ง จึงต้องมีความช่วยเหลือทางการแพทย์เข้ามาช่วยให้สามารถให้กำเนิดทารกขึ้นมาได้ เพียงแต่คนอุ้มท้องไม่ใช่แม่ตัวจริง แต่ต้องมีผู้หญิงที่เสียสละสักคนมาตั้งครรภ์แทน ภารกิจนี้จึงเรียกกันว่า "อุ้มบุญ"

ทราบมาว่ามีการทำมาไม่ต่ำกว่า 25-30 ปีแล้วในเมืองไทย ตัวอย่างในโรงพยาบาลศิริราชก็มีศูนย์ผู้มีบุตรยากที่ช่วยเหลือคนไข้มาประมาณ 25 ปีแล้ว

แต่ปัญหาการอุ้มบุญเข้าใจว่าคงเริ่มก่อตัวมานานแล้วเช่นกัน เพราะทางแพทยสภาได้มีการออกประกาศที่เป็นกติกาในการอุ้มบุญ โดยมีกฎเหล็ก 3 ข้อคือ

1.ต้องไม่เป็นการซื้อขายไข่ และพ่อแม่จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น 2.ห้ามจ้างวานอุ้มบุญ 3.หญิงรับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีอายุ 20-35 ปี เคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว และต้องเป็นเครือญาติเท่านั้น

เรียกว่าถ้าทำนอกกรอบ 3 ข้อนี้ ผิดกฎแพทยสภาแหง๋ๆ ค่ะ

ถามว่าทำผิดแล้วแพทยสภาทำอะไรได้บ้าง "นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์" เลขาธิการแพทยสภา ตอบคำถามนี้หลายครั้งบนเวทีเสวนา โดยบอกว่า แพทยสภาไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปจัดการใคร อำนาจอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่แพทยสภาเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือใบอนุญาตหมอ โทษสูงสุดคือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

วันนี้ชวนคุยเปิดประเด็นเรื่องเมืองไทยกำลังจะเป็นมดลูกของโลก เพราะเท่าที่ทราบ แหล่งอุ้มบุญของโลกเดิมมี 3 ประเทศคือ อินเดีย ศรีลังกา ไทย ตอนหลัง 2 ประเทศแรกเขามีการออกกฎหมายห้ามอุ้มบุญ กลายเป็นว่าคนที่อยากทำอุ้มบุญก็เลยเทกระจาดมาที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ น้ำผึ้งหยดเดียวที่กระตุกให้คนในสังคมไทยหันมาสนใจเรื่องอุ้มบุญก็คือกรณี "น้องแกรมมี่" ทารกอุ้มบุญที่มีพ่อแม่ชาวออสเตรเลีย แต่เด็กชายเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรมหรือโรคเอ๋อทำให้เขาปฏิเสธการรับเด็ก กลายเป็นภาระให้กับหญิงไทยที่ตั้งท้องและคลอดน้องแกรมมี่ออกมา

ทาง "คุณสมชาย" หรือ คสช.ท่านก็มีการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญออกมาบังคับใช้ ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ๆ คือ รัฐบาลออสเตรเลียตื่นเต้นมาก มีการเจรจากับรัฐบาลไทยว่าอย่าเพิ่งออกกฎหมายได้ไหม เพราะยังมีเด็กอุ้มบุญที่มีพ่อแม่ชาวออสซี่อีกประมาณ 200 กว่าคนที่รอคลอด

ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยก็มาค้นพบว่ามีเด็กอุ้มบุญ 9 คนที่มีพ่อคนเดียวกันเป็นชาวญี่ปุ่น กับเด็กอุ้มบุญอีก 21 คนที่พบว่าไม่ใช่แฝดแค่ 2 คน ที่เหลือเป็นแฝด 2 บ้าง แฝด 3 บ้าง

ทำให้สรุปได้ว่า เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เคยเข้าใจว่าเป็นการอุ้มบุญ มาถึงนาทีนี้กลายเป็นโรงงาน "ผลิตเด็ก" มากกว่า

ย้อนกลับมาที่มีเด็กอุ้มบุญที่มีพ่อแม่ชาวออสเตรเลียรอคลอด 200 คน มีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อเด็กอุ้มบุญ 1 คน เท่ากับ 2 ล้านบาท นั่นหมายความว่าเฉพาะออสเตรเลียประเทศเดียว ใช้เงินถึง 400 ล้านบาทเพื่อทำอุ้มบุญในเมืองไทย

น่าตกใจยิ่งกว่าที่ค้นพบว่า เมืองไทยเป็นแหล่งอุ้มบุญให้กับพ่อแม่ชาวต่างชาติอีกหลายชาติ อาทิ อิสราเอล สวีเดน จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ประเมินว่ามีเด็กอุ้มบุญไม่ต่ำกว่า 500 คน นั่นหมายความว่าถ้าเป็นธุรกิจ มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

นี่คือสิ่งที่ทำให้มีการสรุปแบบฟันธงว่า เมืองไทยกำลังจะกลายเป็น "มดลูกของโลก" ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่