กรณีศึกษา…อุทาหรณ์…อุ้มบุญ…ท้องไม่รับ



กระแสข่าวเรื่องอุ้มบุญกำลังได้รับความสนใจของสังคมอย่างมากในตอนนี้ เหตุเพราะมีประเด็นหลายอย่างที่อาจสะเทือนจิตใจของคนในสังคม ทั้งประเด็นเรื่องของการเลือกที่จะทอดทิ้งเด็กที่ผิดปกติแต่กลับรับเด็กที่ปกติไปอยู่ด้วย ประเด็นการรับจ้างอุ้มบุญและประเด็นนายหน้าที่หาผลประโยชน์จากกระบวนการรักษาทางการแพทย์ ดังนั้นในฐานะที่ผมเป็นแพทย์ที่ข้องเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้มีบุตรยากโดยตรง จึงขอถือโอกาสอธิบายและชี้แจงในมุมมองของแพทย์ที่อาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังติดตามข่าวสาร หรือเป็นประโยชน์แก่สังคมในด้านวิทยาการทางการแพทย์


ทำไมต้องมีการอุ้มบุญ ?


การอุ้มบุญ หรือการรับตั้งครรภ์แทนนั้น เปรียบเสมือนการยืมมดลูกของหญิงอื่นเพื่อตั้งครรภ์แทน ซึ่งยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อย อาจมองว่าการอุ้มบุญเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ ไม่ควรมี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอุ้มบุญ ถือเป็นแนวทางการรักษาทางการเเพทย์ อย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือคู่สมรส (ชาย-หญิง) ที่มีบุตรยาก  โดยคู่สมรสที่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยการอุ้มบุญส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีปัญหามาจากฝ่ายหญิงเป็นหลัก ที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้  เช่น


ปัญหาด้านมดลูก


1. ไม่มีมดลูก ทั้งจากความพิการแต่กำเนิด หรือภายหลังจากการผ่าตัด

2. โพรงมดลูกรูปร่างผิดปกติ เช่น มีความพิการของโพรงมดลูกแต่กำเนิด มีพังผืดภายในโพรงมดลูกชนิดรุนแรง  มีเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกที่อยู่ภายในโพรงมดลูก หรืออยู่ภายในกล้ามเนื้อมดลูกแต่กดเบียดโพรงมดลูกให้ผิดรูป จนไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขให้กลับเป็นสภาพปกติได้ หรือสภาพมดลูกภายหลังการผ่าตัดแก้ไข่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งครรภ์


ปัญหาด้านสุขภาพของมารดา

เนื่องจากมีโรคบางอย่างที่การตั้งครรภ์จะทำให้ความรุนแรงของโรคเป็นมากขึ้น และก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น

1. มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ที่โรคยังไม่สงบ

2. โรคทางระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สงบ เช่น SLE

3. โรคไตวายเรื้อรัง

4. โรคหัวใจชนิดรุนแรง


ปัญหาด้านอื่นๆ


1. ไม่ประสบความสำเร็จในตั้งครรภ์แม้ว่าจะได้รับการใส่กลับตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีแล้วก็ตาม จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วมาหลายครั้ง ( 3 ครั้ง ขึ้นไป)

2. ไม่ประสบความสำเร็จในการมีบุตร เนื่องจากเคยแท้งบุตรมาหลายครั้ง (3 ครั้ง ขึ้นไป) และยังหาสาเหตุไม่ได้ หรือการตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินไปจนคลอดบุตรมีชีวิตได้จากสาเหตุจากปากมดลูกได้แก่ ปากมดลูกสั้นผิดปกติ หรือ ปากมดลูกอ่อนแอ


จะเห็นได้ว่าวิธีการอุ้มบุญ เป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่แก้ไขปัญหาให้แก่คู่สมรสที่ประสบปัญหามีบุตรยากจากสาเหตุดังตัวอย่างกล่าวข้างต้น แต่สาเหตุของคู่สมรสแต่ละคู่นั้นจะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ที่จะใช้เป็นเหตุผลว่าจำเป็นจะต้องใช้การอุ้มบุญนั้น ทีมแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมก่อนพิจารณาเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้


แม่อุ้มบุญ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ แตกต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติมั้ย ?


ในแง่ของเรื่องสุขภาพของแม่อุ้มบุญนั้น การอุ้มบุญ ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ไม่ต่างจากการตั้งครรภ์ทั่วๆไป ทั้งสุขภาพทางร่างกาย สภาพจิตใจ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น การแท้ง เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น


แต่ในกรณีที่รับตั้งครรภ์แทนคู่สมรสชาวต่างชาติ ทารกในครรภ์อาจมีขนาดตัวใหญ่กว่าเด็กเอเชีย อาจมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้มากขึ้นในบางราย แล้วยิ่งถ้าตั้งครรภ์แฝดด้วยแล้วไม่ว่าจะเป็นแฝดต่างชาติหรือแฝดเอเชีย ก็มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝดสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน ที่สำคัญการอุ้มบุญยังมีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นทั้งนี้อาจมีข้อบ่งชี้จำเป็นทางการแพทย์ หรือเหตุผลด้านความต้องการของตัวคนไข้เองก็เป็นได้


ในกรณีที่ตั้งครรภ์แฝด ทำไมเด็กคนหนึ่งปกติ แต่เด็กอีกคนกลับผิดปกติ ?


การตั้งครรภ์แฝด จากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นแฝดเทียมมากกว่าแฝดแท้ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์เองหรือการอุ้มบุญก็ตาม เหตุเพราะมีการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปยังโพรงมดลูกมากกว่า 1 ตัวอ่อน จึงมีโอกาสที่ตัวอ่อนที่ย้ายกลับเข้าไปนั้นจะฝังตัวมากกว่า 1 ตัว จึงเกิดเป็นครรภ์แฝดขึ้น แต่เพราะตัวอ่อนแต่ละตัวที่ย้ายกลับเข้าไปนั้นมาจากต้นกำเนิดที่ต่างกัน(ไข่คนละใบและอสุจิคนละตัว) ดังนั้นตัวอ่อนแต่ละตัวจึงมีสารพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่จำนวนโครโมโซมและ เพศอาจเหมือนกันหรือต่างกันได้ ส่วนรูปร่างหน้าตาแม้จะไม่เหมือนแต่อาจคล้ายกันได้ ดังเช่นในกรณีตัวอย่าง น้องแกรมมี่ ผู้เป็นแฝดชายที่มีจำนวนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 ข้าง เรียกว่า ดาวน์ซินโดรม ส่วนแฝดหญิงมีจำนวนโครโมโซมครบปกติ แต่กรณีแฝดแท้ ที่ทารกถือกำเนิดขึ้นมานั้นมาจากตัวอ่อนตัวเดียวกัน แต่เกิดการแบ่งตัวแยกออกจากกันมากกว่า 1 จึงทำให้ได้เป็นตัวอ่อนหลายตัว ดังนั้นทารกแฝดแท้จึงมีรูปร่างหน้าตา เพศ รวมถึงสารพันธุกรรมและจำนวนโครโมโซมทุกอย่างเหมือนกัน

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับเด็กแฝด เพิ่มเติมได้ที่   “ไก่กับไข่” ความพิเศษของครรภ์แฝด ที่มาพร้อมความเสี่ยง http://drchawtoo.com/2014/04/16/twins/


แล้วเราสามารถทราบได้หรือไม่ว่าแฝดคนไหนปกติ หรือคนไหนผิดปกติทางด้านโครโมโซม ?


วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้แพทย์สามารถตรวจทราบได้ว่าทารกคนไหนมีความผิดปกติทางด้านจำนวนโครโมโซม ซึ่งสามารถตรวจทราบได้ 2 ระยะคือ


1. ระยะก่อนที่ตัวอ่อนจะฝังตัวภายในโพรงมดลูกเกิดเป็นการตั้งครรภ์ต่อไป เรียกว่า PGD ( preimplantation genetics diagnosis) เป็นการตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซมของตัวอ่อน เพื่อเลือกตัวอ่อนเฉพาะตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมครบสมบูรณ์ ย้ายกลับเข้าไปยังโพรงมดลูกของคนไข้ หรือผู้รับตั้งครรภ์แทน เพื่อเกิดการตั้งครรภ์ต่อไป ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าทารกที่เกิดขึ้นในอนาคตจะมีจำนวนโครโมโซมครบสมบูรณ์อย่างแน่นอน ซึ่งสามารถตรวจทราบตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

ข้อจำกัด  

1. ต้องผ่านกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว

2. ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วและขั้นตอนการตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซมของตัวอ่อน

3. อาจทำให้โอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ลดลงได้ เนื่องจากขั้นตอนการตรวจจำเป็นต้องดูดเซลล์จากตัวอ่อน 1-2 เซลล์ไปตรวจ อาจส่งผลกระทบทำให้คุณภาพตัวอ่อนลดลงหรือเจริญเติบโตช้า


2. ระยะหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวภายในโพรงมดลูกเกิดเป็นการตั้งครรภ์ไปแล้ว ระยะนี้สามารถตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซมของทารกในครรภ์ได้หลายวิธี เช่น การตรวจเลือดมารดา การตรวจชิ้นเนื้อรก และการเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ ค่าใช้จ่าย และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะมักทำการตรวจเพื่อให้ได้ผลแน่ชัดก่อนที่ทารกในครรภ์จะมีอายุเกิน 22-24 สัปดาห์ เพราะหากทราบผลหลังจากนี้ว่าทารกผิดปกติ แล้วมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องยุติการตั้งครรภ์อาจไม่สามารถทำได้เพราะเด็กทารกที่คลอดออกมาสามารถมีชีวิตรอดแล้ว อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์สูงขึ้นด้วย


*** ส่วนการอัลตร้าซาวน์เป็นเพียงแค่เครื่องมือช่วยให้แพทย์สงสัยว่าอาจจะมีความผิดปกติกับทารกแสดงออกมาให้เห็นทางด้านโครงสร้าง อวัยวะต่างๆ หรือไม่ ซึ่งอาจจะอัลตร้าซาวน์พบหรือไม่พบความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ก็ได้ แต่หากตรวจพบหรือสงสัย แพทย์ก็จะทำการส่งตรวจหาความผิดปกติด้านโครโมโซมด้วยวิธีการตรวจอื่นๆดังกล่าวข้างต้นที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าต่อไป ***


ข้อจำกัด ของการตรวจในระยะนี้ คือ ในกรณีที่เป็นครรภ์แฝด ผลตรวจเลือดมารดาที่ผิดปกติไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากทารกคนใด เพราะเลือดของมารดาจะมีส่วนของโครโมโซมจากทารกทั้ง 2 ปนกันมาจึงแยกไม่ได้ ดังนั้นจะแยกได้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจด้วยวิธีอื่น คือ การเจาะน้ำคร่ำ ถุงใครถุงมันแยกกันชัดเจน ผลตรวจก็แยกกันจึงช่วยในการวินิจฉัย แต่ความเสี่ยงของการแท้งและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจากการเจาะน้ำคร่ำก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยเพราะเจาะมากกว่า 1 ถุง ดังนั้นในกรณีครรภ์แฝดจึงถือเป็นข้อจำกัดของการตรวจเลือดมารดาเพื่อนำไปตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซมของทารกในครรภ์


คุณเคยทราบมาก่อนหรือไม่ว่า การตรวจเลือดมารดา การเก็บชิ้นเนื้อรก หรือการเจาะน้ำคร่ำ แม้ว่าผลตรวจจะออกมาว่า ปกติ นั่นไม่ได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะสมบูรณ์แบบ 100%


นั่นก็เพราะว่าการตรวจเลือดมารดา การเก็บชิ้นเนื้อรก หรือการเจาะน้ำคร่ำ มีจุดประสงค์เพื่อนำไปตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซมเท่านั้น โดยเป็นเพียงการตรวจสารพันธุกรรมบนโครโมโซม หรือเป็นการนับจำนวนแท่งโครโมโซมดูว่ามีการขาด-เกิน ของจำนวนโครโมโซมไปจากปกติที่ควรมีทั้งหมด 23 คู่ หรือ 46 แท่งหรือไม่  ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง เป็นต้น แต่ก็ยังมีความผิดปกติอื่นๆอีกที่ไม่สามารถตรวจเช็คได้จากการตรวจเช็คความสมบูรณ์และจำนวนโครโมโซม เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ นิ้วเกิน อวัยวะเพศกำกวม  ซึ่งอาจมีผลการตรวจเลือดมารดา ผลการเก็บชิ้นเนื้อรก หรือผลการเจาะน้ำคร่ำอาจรายงานว่ามีจำนวนโครโมโซมครบปกติก็มีโอกาสเป็นไปได้  ดังนั้นประชาชนควรเข้าใจถึงข้อจำกัดของการตรวจเหล่านี้ เพราะปัจจุบันได้รับการตรวจกันบ่อยแต่ยังมีความเข้าใจกันไม่ดีเท่าไหร่นัก
หวังว่าข้อมูลต่างๆที่ผมได้อธิบายไปในบทความนี้เบื้องต้นจะมีส่วนทำให้ผู้ที่สนใจและติดตามข่าวสารเรื่องอุ้มบุญอยู่ สามารถไขข้อสงสัยลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย




นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่