สวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ เป็นความโง่ หรือ ฉลาด

กระทู้สนทนา
มาว่ากันด้วยเรื่องสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ โทษของการที่พระองค์นี้ไม่ถือครูบาอาจารย์ผู้ทรงมรรคทรงผล ถือเอาแต่พุทธวจนะแบบเถรตรง ก็เลยเอาไปใช้แบบผิดๆ ถ้ามหาเถรสมาคม ไม่จัดการเรื่องนี้ให้มีข้อยุติอย่างเฉียบขาด จะกลายเป็นภัยต่อการพระศาสนาในภายหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย

ในพระสูตรที่ว่า สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์ มีจำนวน ๑๕๐ ข้อ คือ ปาราชิก ๔, สังฆาทิเสส ๑๓, นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐, สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒, ปาฏิเทสนียะ ๔, อธิกรณสมถะ ๗ รวมเป็น ๑๕๐ ข้อ นั้นก็จริง แต่ก็ไม่มีพุทธวจนะห้ามว่า จะสวดปาติโมกข์เกินกว่านั้นไม่ได้และไม่อาจรู้ได้ว่า ช่วงนั้นพระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยตามเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุก็ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมไปตามสมควรแก่เหตุ หรือบางทีก็อนุญาตผ่อนปรนจากที่เคยบัญญัติไว้แล้ว ไม่ได้บัญญัติทีเดียวทั้งหมดครบถ้วนตายตัว

ถามว่า แล้วการสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มาจากไหน และสวดกันมาตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นผู้ให้สวด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นปราชญ์แตกฉานชำนาญในพระไตรปิฎก ผู้รจนาหนังสือวินัยมุข เล่ม ๑,๒,๓ บอกว่า ในคัมภีร์วิภังค์แห่งสิกขาบท แสดงว่า มี ๒๒๗ สิกขาบท คือ เติม อนิยต ๒, เสขิยวัตร ๗๕ เข้าไปด้วย ก็ไม่มีบอกว่า ท่านสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มาแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้ให้สวด คาดว่ามีการเพิ่มเติมเข้าไปภายหลังเพื่อความสมบูรณ์ในการแสดงพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์อย่างครบถ้วน ซึ่งถือเป็นการทำพระวินัยให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ซึ่งมันก็มีข้อที่พอจะวินิจฉัยได้โดยถือเอาประโยชน์แห่งพระธรรมวินัย เป็นที่ตั้ง ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า สวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ ผิดไหม? หรือ สวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ผิดไหม? ควรดูที่พุทธประสงค์ ไม่มีพุทธวจนะ บทไหน คัมภีร์ไหน ที่ประสงค์ให้ใครเอาพุทธวจนะมาใช้เพื่อบั่นทอนพระธรรมวินัยให้ง่อนแง่นคลอนแคลน พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยก็ ด้วยพุทธประสงค์เดียว เพื่อให้สาวกเอาไว้ใช้ฆ่ากิเลส

ในเมื่อสมัยนี้ พระสงฆ์ท่านถือสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูงจนเป็นที่ยอมรับดังเช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่พรหม หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน จนถึง หลวงตาพระมหาบัว ก็ล้วนเห็นดีเห็นงามกับการสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะที่เพิ่มเข้าไปจากเดิม อีก ๗๗ ข้อ คือ อนิยต ๒, เสขิยวัตร ๗๕ นั้น ก็ล้วนเป็นพุทธวจนะทั้งสิ้น การนำมาสวดสาธยายให้พระสงฆ์ได้ยินได้ฟัง ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย จนถึงกับจะต้องรังเกียจ และถ้าใครเห็นว่าครูบาอาจารย์ผู้ทรงมรรคทรงผล เชื่อถือไม่ได้ ผู้เช่นนั้นก็คือโมฆะบุรุษที่เลวทรามเอาดีไม่ได้

ที่พระองค์นี้บอกว่า การสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ ก็ถือปฏิบัติตามพุทธวจนะเดิมที่สวดกันมา ก็ไม่เห็นจะมีอะไรผิด แต่การสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ นี่สิ ไม่รู้ที่มา ว่ามายังไง เพราะไม่มีพุทธวจนะที่แสดงถึงการสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ปรากฏ ณ ที่ใด พระองค์นี้ก็เลยถือสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ เท่าของเดิม เรียกว่า เป็นการถือปฏิบัติตามพุทธวจนะเดิมอย่างเคร่งครัด ว่างั้นเถอะ

พระองค์นี้บอกอีกว่า วัดท่านสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ ก็จริง แต่ท่านก็ถือปฏิบัติ ในศีล ๒๒๗ ข้อ อยู่เหมือนเดิม และยังปฏิบัติในศึลข้ออื่นๆอีกเป็นพันๆข้อ ท่านไม่ได้ตัด ไม่ได้ลดพระวินัยอย่างที่ถูกกล่าวหา ท่านยังคงรักษาไว้เหมือนเดิม

ฟังเหตุผลที่พูด เราไม่แน่ใจนะ ว่า พระองค์นี้ สวดปาติโมกข์เป็นหรือเปล่า? แต่ฟังจากที่พูดมา ไม่น่าจะสวดเป็นนะ ถ้าสวดเป็นก็ต้องขออภัย ธรรมดาของพระที่สวดปาติโมกข์ได้ ท่านจะรักพระปาติโมกข์เป็นชีวิตจิตใจ ท่านจะทะนุถนอมหมั่นทบทวนอยู่เนืองนิจ เพราะถ้าไม่ทบทวน พระปาติโมกข์จะหนีหาย คือ หลงลืมไปเสียสิ้น ท่านจะไม่ยอมปล่อยให้หลงลืมไปอย่างง่ายๆ และจะไม่ยอมตัดหรือลดสิกขาบทใดๆ ที่มาในปาติโมกข์ ออกเองโดยพละการ

เนื่องจากครูบาอาจารย์ที่ท่านทรงมรรคทรงผล ท่านพาสวดกันมาอย่างนี้ การเรียนปาติโมกข์ต้องมีครูสอนฝึกออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์ การสวดปาติโมกข์ถือเป็นกิจสงฆ์ ต้องให้สงฆ์ยอมรับ มีผู้ตรวจทานไม่ให้สวดผิด ไม่ใช่นึกสวดเอาเองตามใจชอบอย่างไรก็ได้ และ กว่าจะท่องปาติโมกข์ได้นี่ มันยากเย็นนักหนา ทำเอาเลือดตาแทบกระเด็น ครั้นท่องได้แล้วจะไปตัดทิ้งง่ายๆ ไม่มีใครทำได้ลงคอ นอกจากพระประเภทแหวกแนวที่ ไม่รู้คุณครูบาอาจารย์เท่านั้น จึงอุตริหาญกล้าทำได้ เมื่อทำแล้วก็จะมีแต่ความหายนะโดยถ่ายเดียว เพราะโทษที่ลบหลู่ครูบาอาจารย์ พระดีไม่มีใครกล้าทำ และไม่มีใครกล้าไปร่วมลงอุโบสถทำสังฆกรรมด้วย

การสวดปาติโมกข์ คือ การแสดงพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์ จะเป็น ๑๕๐ ข้อในอดีต หรือ ๒๒๗ ข้อ ในปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ทั้งสิ้น และพระจะต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด มาดูที่ ๗๗ ข้อ ที่เพิ่มเข้าไป มี อนิยต ๒ กับ เสขิยวัตร ๗๕ ก็ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ที่พระต้องทำความศึกษาให้เข้าใจทั้งนั้น ถ้าไม่เอื้อเฟื้อในพระวินัย ไม่ปฏิบัติตาม ท่านก็ปรับอาบัติทุกกฏ

การสวดปาติโมกข์ในทุกกึ่งเดือนนั้น จัดเป็นสังฆกรรมที่พระวินัยบังคับให้ต้องทำ หากมีพระอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่ ๔ รูป ขึ้นไป และผู้ที่จะเข้าฟังปาติโมกข์ได้ ก็ต้องแสดงอาบัติชำระศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน พระที่เป็นอาบัติหนักไม่สามารถเข้าร่วมฟังปาติโมกข์ได้ และในการสวดปาติโมกข์นั้น จะสวดไปตามลำดับ ตั้งแต่บทนำที่เรียกว่า นิทานุทเทส จากนั้นจึงสวด ปาราชิก ๔, สังฆาทิเสส ๑๓, อนิยต ๒, นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐, สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒, ปาฏิเทสนียะ ๔, เสขิยวัตร ๗๕, อธิกรณสมถะ ๗ รวมเป็น ๒๒๗ สิกขาบท

สิกขาบททั้งหมดที่มาในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ นี้ ล้วนเป็นสิกขาบทที่มีปรับโทษไว้ทั้งสิ้น คือปรับอาบัติไว้ ถ้าพระล่วงสิกขาบทในหมวดใด ถือว่า เป็นอาบัตินั้นๆ ต้องทำคืน อย่างที่เรียกว่า ปลงอาบัติ เว้นไว้แต่ อธิกรณสมถะ ๗ ซึ่งเป็นการบอกวิธีระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในสงฆ์

ดังนั้น เมื่อพระสวดปาติโมกข์จบแต่ละหมวด พระที่สวดจะถามเป็นบาลีแปลว่า "ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วหรือ?" สามครั้ง พระสงฆ์จะปฏิญญาณตนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในสิกขาบทนั้นๆ ด้วยการนิ่ง ถ้าใครระลึกได้ว่า เป็นอาบัติ ต้องเปิดเผยอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ ถ้าพระทั้งหลายนิ่งอยู่ พระจะสวดย้ำอีกว่า "ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ในข้อเหล่านี้ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้"

ดังนั้น การสวดปาติโมกข์ จึงมีนัยสำคัญเป็นการชำระศีลของพระที่เข้าฟังปาติโมกข์ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ในสิกขาบททั้งมวลด้วย พระที่เข้าฟังปาติโมกข์ร่วมกัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลเสมอกัน นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของการสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ถ้าสวด ๑๕๐ ข้อ ศีลจะหายไป ๗๗ ข้อ สังฆกรรมย่อมไม่สมบูรณ์เสมอกัน ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มเข้าไปจากของเดิม แต่ก็เป็นการทำพระวินัยให้แน่นหนามั่นคง เป็นคุณูปการต่อพระสงฆ์อย่างหาโทษมิได้

การสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ ในยุคสมัยนี้ ย่อมผิดกาลเทศะ เป็นโทษมหันต์ต่อพระวินัยเห็นได้อย่างชัดแจ้ง เพราะพระจะขาดการได้ยินได้ฟังสิกขาบทไปถึง ๗๗ สิกขาบท และมิอาจปฏิญญาณตนถึงความบริสุทธิ์ในสิกขาบทเหล่านั้นในท่ามกลางสงฆ์ และพระที่สวดปาติโมกข์ ก็จะท่องบ่นจำทรงพระปาติโมกข์ เพียงแค่ ๑๕๐ ข้อ ทุกวันนี้ พระที่จะจำทรงพระปาติโมกข์ได้ นับวันก็น้อยลงทุกที ยังจะมาบั่นทอนพระปาติโมกข์ให้ท่องสิกขาบทเหลือแค่ ๑๕๐ ข้อเข้าอีก อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำลาย จะให้เรียกว่า ส่งเสริมกระนั้นหรือ?

ดังนั้น การสวดปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อ จึงเป็นอันตรายต่อพระวินัยอย่างยิ่งยวด ถ้าเถรสมาคมไม่จัดการกับเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ในภายภาคหน้า พระโกโรโกโสที่ไม่มีความรับผิดชอบในพระวินัย จะถือปฏิบัติตาม เพราะท่องปาติโมกข์แค่ ๑๕๐ ข้อ มันก็ง่ายกว่า ๒๒๗ ข้อ การสวดปาติโมกข์ก็จบเร็วกว่า ไม่ต้องทนนั่งฟังนานๆให้ลำบาก

การกระทำใดๆที่ทำได้ง่าย จะแพร่หลายได้อย่างรวดเร็ว ที่ทำได้ยากๆในที่สุดก็จะไม่มีใครทำ อันที่จริง พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้นานแล้ว อันตรธาน ๕ ได้แก่ ปริยัติอันตรธาน ปฏิปัตติอันตรธาน ปฏิเวธอันตรธาน ลิงคอันตรธาน ธาตุอันตรธาน การที่พระไม่รักษาพระวินัยนี่แหละ เป็นตัวทำให้ศาสนาเสื่อมอย่างร้ายแรง และเป็นเหตุให้เกิดอันตรธานทั้ง ๕ ประการ เหล่านี้

ดังนั้น ถ้าจะรักษาพระวินัย ก็จงรักษาให้ครบถ้วนเถอะวะ อย่าเลือกรักษาเอาแต่เฉพาะที่ตัวเองจะได้ประโยชน์ ส่วนที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ หรือเสียผลประโยชน์ก็ไม่เอามา มันบัดซบสิ้นดี ทางโลกเขาเรียกว่า เลือกปฏิบัติ มันใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นในทางธรรม ก็ต้องถือว่า เลวกว่าทางโลกเสียอีก

พระที่ถือพุทธวจนะอย่างเถรตรง ไม่ใช้ปัญญาพิเคราะห์ดูว่า อะไรใช่ประโยชน์ อะไรไม่ใช่ประโชน์ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ถ้าจะอุปมาก็เปรียบเหมือน บุคคลที่เดินทางไปตามแผนที่ เดินทางไปเจอต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ข้างหน้า มีผู้รู้แนะนำให้เดินอ้อมต้นไม้ไป มันกลับบอกว่าไปไม่ได้ แผนที่ชี้มาที่ต้นไม้นี้ ต้องตัดต้นไม้ แล้วเดินข้ามไปเท่านั้น จะเดินอ้อมไปทางอื่นไม่ได้ มันจะไปไม่ตรงตามแผนที่ เอ้อ! เอากับมันสิ

(บทความนี้คัดลอกมาอีกที เห็นว่า วิจารณ์ดีมีเหตุผลถูกต้อง และเป็นธรรม หรือ ใครจะเห็นว่าอย่างไร?)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่