พิพิธภัณฑ์ของเล่น...ควรมีอยู่ในเมืองไทยหรือเปล่า? ชักท้อ...ไม่อยากทำแล้ว

เปิดมาแล้ว 3 ปี ไม่มีเดือนไหนที่คุ้มทุนเลย ชักท้อ...ไม่อยากเปิดแล้วครับ

พอคิดจะปิด...ก็ไม่มีที่เก็บของ (กว่า 60,000 ชิ้น)
พอคิดจะขาย...ก็เสียดาย (เก็บมาหลายสิบปี)
พอจะเปิดให้คนเข้าชม...คนไทยก็ไม่ค่อยสนใจ (ขาดทุนทุกเดือน)

หรือจะจับยัดใส่กล่องแล้วเก็บเข้าโกดังเหมือนเดิมดี

เพื่อนๆช่วยคิดหน่อยครับ?
เผื่อได้ไอเดียดีๆในการตัดสินใจ

หรือคำว่าพิพิธภัณฑ์เป็นของแสลงในสังคมไทย
คนไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไป
หรือพิพิธภัณฑ์ของเล่นไร้อนาคตในเมืองไทยจริงๆ

จาก Batcat
https://www.facebook.com/batcat.museum
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 99
ผมทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับหอศิลป์แห่งหนึ่งนะครับ (อยู่ในมหาวิทยาลัย มีงบประมาณให้ใช้ และดำเนินงานเพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่มีการขายผลงานเพื่อหารายได้)

ส่วนตัวเห็นใจนะครับ เพราะผมเองก็รู้สึกว่าวงการศิลปะก็ niche เหมือนกัน ตลอดหลายปีที่ทำงานมาทั้งในส่วนประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชน ได้เห็นหอศิลป์หลายแห่งทั้ง non-profit และ commercial gallery ที่ต้องปิดตัวไปเหมือนกัน

คำแนะนำที่ให้ได้คือน่าจะต้องหาความรู้เกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์เพิ่ม ทั้งในส่วนการจัดแสดงผลงานและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจ (ทั้งนี้เข้าใจว่าแนวคิดเรื่องร้านกาแฟ ร้านอาหาร ก็คงไม่ได้อยู่ในความคิด เพราะอาจจะไม่ใช่ passion และจะกลายเป็นอีกธุรกิจที่อาจจะไม่ได้มีความรู้อยู่ดี)

อยากให้ลองทำความรู้จักกับคนที่ทำพิพิธภัณฑ์และธุรกิจอะไรที่ใกล้เคียงกันเพื่อขอคำปรึกษา หรืออาจจะลองติดต่อสถาบันการศึกษาที่สอนทางด้านธุรกิจ หรือการสื่อสารการตลาด เขาอาจต้องการ case study มาเป็น project ให้นักศึกษาเข้ามาทำศึกษาดูว่ามีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง แต่ก็เลือกสถาบันดีๆ นะครับ

การทำพิพิธภัณฑ์ของเล่นอาจจะไม่ได้สิ้นหวังไปซะทีเดียว ถ้าอย่างในวงการศิลปะ ผมเองก็ได้เห็นองค์กร non-profit ที่สามารถอยู่ได้ มีแฟนเหนียวแน่น มีกิจกรรมตลอด เช่น The Reading Room ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสามารถหารายได้มาได้อย่างไรบ้างเพราะจริงๆ แล้วสถานที่นี้เป็นห้องสมุดศิลปะ

พี่อีกคนที่ผมรู้จักและชื่นชมคือเจ้าของ Serindia Gallery เป็นหอศิลป์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมโอเรียลเต็ล เริ่มแรกคือเป็นสำนักพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมจากดินแดนแถบหิมาลัย (niche มาก) ต่อมาเปิดแกลเลอรี่ ต่อมาทำ pop-up shop ของหนังสือ Taschen ที่ Central World ต่อมาเปิดร้านหนังสือศิลปะ+ออกแบบที่หอศิลป์กทม. ล่าสุดเปิดร้านหนังสือศิลปะ+ออกแบบ/แกลเลอรี่ที่ Central Embassy สำหรับผมคือ amazing สุดๆ คือในฐานะคนที่อยู่ในวงการศิลปะ ผมแทบไม่เคยเห็นใครซื้อหนังสือศิลปะ+ออกแบบเท่าไหร่ หอศิลป์เองก็ไม่ใช่ว่าทุกที่จะประสบความสำเร็จ แต่แกสามารถขยายธุรกิจได้ ถึงขั้นเข้ามาเปิดในห้างหรูๆ ผมเคยถามแกว่ามันมี market ในไทยรองรับสิ่งเหล่านี้เหรอ หรือว่าแกต้องสร้าง market แกก็ตอบว่าก็ต้องสร้าง market ด้วย  ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่คุณเองต้องลองคิดว่าจะสร้าง market เองยังไงถ้ามันมีอยู่น้อย

เอาใจช่วยนะครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 5
โจทย์ยากเหมือนกันนะเนี่ย อันนี้ตามความเห็นของผมคนเดียวนะครับ
1. เปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑ์ เป็นสวนสนุก เพราะคนไทยส่วนมาก ชอบสนุก ส่วนความรู้ ไม่ชอบหาเอง ต้องมีคนยื่นให้
2. ปรับเปลี่ยนเป็นสวนสนุกที่ให้เด็กๆเล่นของเล่นได้ เก็บเงินรายชั่วโมงเอา แต่ปัญหาคือของเล่นพัง หรือขโมย อาจจะแก้โดย เอาของถูก ของตลาดให้เล่นแทน
3. ดึงลูกค้าจากชมรมถ่ายภาพตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจโปรโมทโดยตั้งแคมเปญ ประกวดถ่ายภาพ ของรางวัล 9ล9
4. **ติดต่อพวกค่ายค่ายหนัง ค่ายเพลง บริษัทโฆษณาต่างๆในเมืองไทย โดยส่งรูปให้พวกเขาดู ว่าเรามีโลเกชั่นแบบนี้นะ มาถ่ายทำที่พิพิธภัณฑ์ของเราได้ (อันนี้น่าจะดูดี เพราะด้านในร้านของพี่ให้บรรยากาศ เหมือนเมืองนอก บริษัทไหนทุนน้อย ก็ให้มาถ่ายทำที่เราก็ได้)**
5. ติดต่อค่ายหนังต่างประเทศด้วย เช็คว่าใครมีโปรแกรมมาถ่ายทำที่เมืองไทย  เมล์ไปบอกพวกเขา ส่งรูปให้พวกเขาซะ
6. เพิ่มธีมร้านหนังสือเข้าไป โฆษณาเพิ่มว่า มีการ์ตูนมาเวลให้อ่าน น่าจะดึงพวกนักอ่านมาได้ (แต่ค่าใช้จ่ายคงบานอ่ะ)
7. ฉายการ์ตูนในร้านด้วย เอาหนังหรือการ์ตูนหรือสินค้าขายที่แบบว่า ต้องมาที่นี่ ถึงจะมี
8. จัด cozplay -  -" (จะดีเหรอ)
9. เปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์ของเล่น ให้เป็น เปิดเฉพาะจัดอีเวนท์เอาแทน

**พิพิธภัณฑ์ของเล่นในเมืองไทยไม่ได้ไร้อนาคตนะครับ**
เพียงแต่ว่า 1. คนไทยเลือกที่จะเสพย์ติดเทคโนโลยีมากกว่า เพราะมันคิดว่ามันจะทำให้ตัวเองฉลาดขึ้น
                2. คุณมาเร็วไปนิดส์  ผมว่าเก็บใส่กล่องไว้ก่อนดีกว่าครับ ถึงเวลาแล้วค่อยเปิดใหม่ก็ยังได้ ยังไงก็สู้ๆนะครับ
ความคิดเห็นที่ 54
เห็นแล้วหงุดหงิดมากครับบอกตามตรง คุณมานั่งบ่นว่าเปิดมา 3 ปี แล้วไม่มีกำไรเลย ลงโฆษณานู่นนี่นั่นมากมายแต่ก็ไม่ค่อยมีคนมา (ขอโทษนะของแบบนี้ผมก็ไม่รู้จัก !!!) แสดงว่าคุณโปรโมทโฆษณามาทั้งหมดมัน "เสียเปล่า" เพราะอย่างน้อยวัยรุ่นธรรมดา ๆ อย่างผมก็ไม่รู้จัก

ยอมรับเถอะครับว่าคุณมันล้มเหลว ไม่ต้องมาอ้างมาแถว่าคนไทยไม่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือไม่เห็นคุณค่าหรอก (ก่อนสร้างคุณก็น่าจะรู้ความต้องการของตลาดอยู่แล้ว) คุณบอกว่ามันไร้อนาคตต่อให้เป็นวันพีช, มดแดงหรือบ้าบออะไรคนไทยก็ไม่มาอยู่ดี

แต่ผมมองว่าคุณต่างหากที่บริหารงานไม่เป็น
ความคิดเห็นที่ 17
กำ เพิ่งมาอ่านความเห็นหลังๆ รู้สึกเงิบมาก
ที่เราพิมพ์ไปด้านล่างทั้งหมด เราต้องการแสดงความคิดเห็นในฐานะคนนอกที่มีต่อธุรกิจ จขกท.
ให้ จขกท. เข้าใจสิ่งที่คนนอกคิดมากยิ่งขึ้น และอยากจะช่วย จขกท. จริงๆ
การมองธุรกิจให้ดีที่สุด คือการมองจากคนนอก(หรือมองแบบคนนอก) นี่แหละค่ะ
เพราะเราตั้งธุรกิจขึ้นมาก็เพื่อ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นคนนอก
ไม่งั้นธุรกิจทั่วไป เขาจะทำการวิจัยเสียเงินเยอะแยะเพื่อเก็บความคิดเห็นของลูกค้าทำไม ถ้ามันไม่สำคัญ
นี่ จขกท. ได้ความคิดเห็นของคนนอกแบบฟรีๆ ดันมาหักหลังกันซะได้
แถมไปโดนด่าอยู่ในแฟนเพจอีก

การทำ Bad Promote ของ จขกท. เกือบสำเร็จแล้วค่ะ
แต่ก็มาตกม้าตายตรงมาบอกนี่แหละค่ะ คนที่ต้องการจะช่วย+เห็นใจ จขกท. จริงๆ ก็เงิบกันไป
______________________________________________
ขอโทษนะคะ เราเพิ่งรู้จักนี่แหละค่ะ ว่ามีพิพิธภัณฑ์นี้
เราชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์นะคะ แต่จากที่ดูบรรยากาศในเฟสของ จขกท. แล้ว
มันดูไม่ต่างกันร้านขายของเล่นเลยค่ะ

คำว่าพิพิธภัณฑ์ในความคิดเรา มันน่าจะมีข้อมูลด้วยอ่าค่ะ
เช่นตัวละครตัวนี้ชื่ออะไร มีความสามารถพิเศษอะไร มีหนังหรือการ์ตูนอะไรที่ตัวละครนี้เล่นบ้าง ทำนองนี้อ่าค่ะ
อันนี้จากที่ดู แค่มาวางๆโชว์ไว้ มันก็ดูไม่ต่างจากร้านขายของเล่นเท่าไร
ยิ่งพวกในตู้กระจกนี่ มันดูอัดๆกันจนไม่น่ามองอ่าค่ะ ลองเลือกเอาเฉพาะตัวเด่นๆมาวางดีมั้ยคะ
วางให้มันเป็นเซท เป็นคอลเลคชั่น แล้วก็หมุนเวียนไป

แล้วส่วนตัวคิดว่าชื่อมันไม่บ่งบอกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อ่าค่ะ
เป็นเราถ้านั่งรถผ่าน ก็คงไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะคำที่บ่งบอกว่าเป็น พิพิธภัณฑ์มันไม่เด่นอ่าค่ะ

แล้วกลุ่มลูกค้าที่ จขกท. คาดหวังเป็นกลุ่มไหนคะ
สำหรับเรา เรามองว่ารูปแบบสไตล์นี้ คงจะมีแต่ผู้ใหญ่ที่ยังชอบของเล่นอยู่ไปดูอ่าค่ะ
ซึ่งผู้ใหญ่ที่ยังชอบของเล่นอยู่ ก็ถือว่ามีไม่เยอะในประเทศไทย
สำหรับกลุ่มเด็ก เราว่ามันไม่สามารถดึงดูดพวกเขาได้เลยค่ะ

คำว่า "ของเล่น" ก็คงไม่ได้แสดงถึงพิพิธภัณฑ์ จขกท. เท่าไร
เพราะเราอ่านหัวกระทู้ เรานึกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมของเล่นแปลกๆไว้ ซึ่งแว้บแรกอยากไปขึ้นมาทันที
แต่อันนี้เป็นเหมือน พิพิธภัณฑ์โมเดล ฟิกเกอร์มากกว่า
เรามองว่ามันต่างกันนะคะ คำว่าของเล่น กับพวกโมเดล


ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ค่ะ
ความคิดเห็นที่ 32
ผมทำงานอยู่พิพิธภัณฑ์ครับ อยากไปของคุณเหมือนกัน แต่เดินทางยากมาก

ที่ผมทำเนี่ยเป็นพิพิธ ฯ วิทยาศาสตร์  แต่เป็นนักวิชาการนะครับ คงช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่ใช่สายถนัด( ปกติคือคอยปรับเนื้อหานำเสนอ ไม่ใช่คนออกแบบการจัดวางชิ้นงาน)  อีกอย่างเนื้อหามันคนละอย่างกันเลย - -

ที่ที่ผมทำนี่ ของหลายอย่างก็เก่าแล้วครับ แต่เด็กๆก็ยังชอบ เพราะว่า "เขาได้จับครับ" ได้จับ ได้เล่น ก็สนุก และอยากมาซ้ำครับ บางทีอาจจะคิดว่าให้จับเล่นเนี่ยนะ  ของเล่นถ้าไม่ได้เล่น บางทีก็มาไม่ถึงจุดหมายครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าที่นี่จะมีของเล่นที่พอจะให้ลองเล่นได้ไหม เพราะคุณก็เป็นคนเก็บของ ซึ่งแปลว่าของเหล่านั้นยากที่จะเอามาเล่นเรื่อยๆ

ดังนั้น อาจจะต้องเป็นแนวทำ presentation ดีๆแทน เช่นจัดเป็นไดโอรามา เป็นต้น เหมือนพิพิธภัณฑ์หลายๆแห่ง ชิ้นงานธรรมดาแต่จัดวางให้มีเนื้อเรื่อง คนก็สนใจแม้ไม่ได้จับครับ

ชิ้นงานบางตัว ก็สามารถเอามาใช้ใหม่ได้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ย้ายที่ชิ้นงานไปรวมๆกันตาม theme ที่จะแสดง

และที่สำคัญอย่างนึง " อย่าวางอัดแน่นเกินไป" ครับ เพราะจะทำให้ไม่สามารถโฟกัสได้ว่าตูจะดูอะไรดี ลองหาห้องเก็บของ ไว้เก็บชิ้นงาน และเอาออกแสดงบางส่วนตาม theme แต่ละเดือนดูครับ เช่นเดือนตุลา ช่วงฮาโลวีน ก็เป็น theme ของเล่นสยองขวัญ ตัวร้ายเด่นๆ เดือนกุมภาก็ของเล่นที่เน้นเล่นเป็นคู่ ช่วงหนังมาเวลเข้าก็จัด theme ของตัวละครเรื่องนั้นๆไปเลย อะไรแบบนี้

ขนาดในการ์ตูนเรื่อง CMB ตัวเอกยังเปลี่ยน theme พิพิธของตัวเองเลยครับ ทั้งๆที่เป็นการ์ตูน เขียนแบบเดิมๆไปตลอดก็ได้ แต่ก็ต้องมีฉากนี้เพราะว่าการเปลี่ยน theme นั้นทำให้พิพิธฯ ไม่น่าเบื่อครับ

ว่างๆลองไปเดินดูพิพิธภัณฑ์ดูได้ครับ ดูลักษณะการจัดชิ้นงานและการให้รายละเอียดครับ
ความคิดเห็นที่ 3
อย่าหาว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลยนะ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีอยู่ด้วยอ่าครับ
เอ๊ะ? รึว่าผมตกข่าว??
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่