ป่าอาถรรพ์ อาโอกิกาฮาระ

กระทู้คำถาม
ณ ฟูจิ ภูเขาไฟสวยที่โด่งดังไปทั่วโลก ริมเชิงเขาไฟฟูจินี่เอง มีป่าแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า อาโอกิกาฮาระ (Aokigahara Forest) ได้ชื่อว่าเป็นป่าอาถรรพ์ เพราะป่าแห่งนี้เป็นป่าที่พบศพคนจำนวนมาก ที่เดินเข้าป่าไปเพื่ออัตวินิบาตกรรมตัวเอง ก็คือ การฆ่าตัวตายนั่นแหละ ในแต่ละปีจะพบชาวญี่ปุ่นไปสละร่างในป่านี้อย่างน้อย 100 ศพ (จากสถิติโดยรวมทั้งประเทศญี่ปุ่น มีนับพันคนต่อปีที่ฆ่าตัวตาย) โดยร่างไร้ลมหายใจที่พบส่วนมากจะเป็นการผูกคอตัวเองไว้บนต้นไม้ บางศพที่นานจนเนื้อหนังเน่าเปื่อยก็จะเหลือเป็นโครงกระดูกร่วงมานอนเหยียดยาวที่พื้นดินแทน อย่างที่กล่าวว่ามีการพบศพคนที่เข้ามาตั้งใจฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้นับ 100 คนต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายทั้งประเทศของญี่ปุ่นที่มีกว่า 2,000 คนต่อปี เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า เหตุใดชาวญี่ปุ่นจึงฆ่าตัวตายกันได้ง่ายๆ เป็นจำนวนมากขนาดนี้

อาจจะเนื่องมาจากสังคมญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลจากลัทธิบูชิโด (วิถีแห่งนักรบ) ซึ่งมีความเชื่อว่า คนเราบริสุทธิ์จากความผิดได้ด้วยการฆ่าตัวตาย อันจะเห็นได้ชัดเจนจากการฮาราคีรีตัวเองของเหล่านักรบ เมื่อได้ลงมือทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ความตายแล้ว ความผิดทั้งหมดก็จะได้รับการอภัยจากสังคม
นี่อาจจะเป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุผลของการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่น แต่นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาสังคมต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่ปะปนกันไปทั้ง ขาดความอบอุ่น อกหัก โดนรังแก การเงิน การงาน สารพัด นอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงทุกกลุ่มอายุ และยังเรื่อยไปถึงทุกตำแหน่งหน้าที่การงาน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นไม่ว่าใครก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้แทบทั้งนั้นมองในอีกมุมหนึ่ง คือ เมื่อมีปัญหา และในสภาพสังคมที่มีการฆ่าตัวตายสูง ก็นำพาให้จิตใจอ่อนไหวที่จะฆ่าตัวตายสูงไปด้วยเช่นกัน

แต่……ที่ ป่าอาโอกิกาฮาระ เหตุใดจึงกลายเป็นสถานที่ยอดนิยม ที่ดึงดูดให้คนจิตใจอ่อนไหว ต้องเดินเข้ามาในป่าเพื่อสละวิญญาณกันในนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถระบุได้จริงๆ เพราะเราไม่สามารถถามหาเหตุผลใดๆ จากคนตายไปแล้วได้ว่าทำไมต้องเลือกที่นี่

ในสมัยก่อนครอบครัวที่มีฐานะแร้นแค้นการเงินฝืดเคือง จะนำคนแก่ เด็ก คนพิการ หรือคนที่คิดว่าเป็นภาระของตัวเอง มาปล่อยทิ้งไว้ในป่าลึก แล้วก็หนีกลับไปให้คนเหล่านั้นหลงอยู่ในป่าตามมีตามเกิดแล้วก็อดอาหารตายไป นอกจากนั้น ก็มีการฆ่าตัวตายมาเรื่อยในหลากหลายเหตุผล อย่างเช่น การตายของคู่รัก (ชินจู) การพากันมาตายทั้งครอบครัว (โอยาโกะ) ผู้สูงอายุที่เข้ามาตาย (โอบาสึเตะ)

ทั้งหมดนี้เราไม่ทราบเลยว่า เหตุใดพวกเขาจึงต้องเลือกสถานที่แห่งนี้ หรืออาจจะเป็นอิทธิพลจากนวนิยายเรื่อง “คุโรอิ จูไค (Kuroi Jukai)” และภาพยนตร์เรื่อง “คิโนะอุมิ” ที่มีการดำเนินเรื่องโดยมีคู่รักได้เข้าไปฆ่าตัวตายเคียงกันนิรันดร์ในป่าแห่งนี้

ป่าอาโคคิกาฮาระ เรียกกันอีกชื่อว่า ทะเลป่า (The Sea of Trees) เนื่องจากมีความเชื่อว่าป่าแห่งนี้ มีวิญญาณต้นไม้ หรือโคดามะ อยู่ซึ่งวิญญาณของต้นไม้จะดูดเอาพลังงานชีวิตจากผู้เสียชีวิตกลับคืนเป็นพลังแห่งป่า เพื่อต้านภัยธรรมชาติและต้านภัยของมนุษย์ หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อแบบนี้ว่า ต่อให้ตายก็ขอตายอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ตายเปล่าๆ เอาวิญญาณกลับคืนสู่ป่าดีกว่า จึงเป็นเหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกสละวิญญาณที่นี่ ……… ก็เป็นอีกสมมติฐานที่น่าสนใจ
อาซูยะ ฮายาโนะ เป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ดูแลป่าอาโอกิกาฮาระมากว่า 30 ปี ก็ยังจนด้วยเหตุผลว่า ทำไมคนจะฆ่าตัวตายจะต้องเข้ามาในป่าแห่งนี้? ฮายาโนะจะทำหน้าที่เดินตรวจและดูแลภายในป่า แจ้งเก็บศพเมื่อพบเห็น และช่วยชีวิตคนหากคนที่ไปฆ่าตัวตายยังไม่ตาย ซึ่งเขาคนเดียวพบมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ศพ เรียกว่าเห็นจนหายตกใจไปเลยเพราะชินตานั่นเอง
ปัจจุบันทางการญี่ปุ่นปรับสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีกิจกรรมมากมายทั้งกีฬากลางแจ้ง เดินป่า ตั้งแคมป์ มีนักท่องเที่ยวที่ใจกล้าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ทุกคนที่เข้าไปก็กลับออกมาบอกว่า บรรยากาศในนั้นมันช่างหดหู่ และเหมือนโดนจับจ้องจากสายตาปริศนาตลอดเวลา หลายเสียงบอกว่าเป็นสถานที่น่าเกลียดน่ากลัว ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็น เพราะมันเป็นเชิงเขาของภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สวยมากบรรยากาศต่างๆ มันควรจะสดชื่นไม่ใช่หดหูรู้สึกเศร้าเช่นนี้
ป้ายที่เราเห็นในภาพนั้นเป็นป้ายที่ทางการได้ปักเตือน และห้ามเดินเข้ามาฆ่าตัวตาย ……. ซึ่งคงไม่ได้ผลเท่าไหร่เพราะถ้าคิดจะตาย เค้าคงไม่สนใจเรื่องป้ายเตือนใดๆ แล้วล่ะ
เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา น่ากลัวจริง และแสดงให้เห็นว่า การฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ทางออกของปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดคุณกับตัวเองหรือใครๆ แม้ขนาดจะมาปลิดชีพตัวเอง ยังทำให้สถานที่สวยงาม และน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ยังต้องมีมลทินให้กลายเป็นสถานที่น่ากลัวไปได้! ใครที่จะคิดสั้น จงคำนึงสติ ถึงคนรอบข้างที่รักคุณเข้าไว้นะ…
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่